เป็นข่าวที่น่าตกใจ และน่าเสียใจต่อผู้ที่ประสบเหตุ รวมถึงครอบครัว กับกรณีการเกิดอุบัติเหตุ รถให้บริการรับ-ส่งนักท่องเที่ยว เพื่อขึ้นไปแสวงบุญ รอยพระพุทธบาทพลวง บนเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ที่เกิดเหตุเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (29 ก.พ.67) จนมีผู้บาดเจ็บ 9 คน (เป็นคนไทย 6 คน ชาวรัสเซีย 3 คน) และเสียชีวิต 1 ราย มีสาเหตุเบื้องต้นคาดว่า เกิดจากน้ำค้างที่บนผิวทาง ทำให้ถนนลื่น จนเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว
โดยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเดินทางไปแสวงบุญยังรอยพระพุทธบาทพลวง บนเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี นั้น เป็นที่กล่าวขาน ถึงความยากลำบาก น่าหวาดเสียว ในการเดินทางเข้าไป โดยเฉพาะผู้ที่ใช้บริการรถรับส่ง ที่บางคนถึงขนาดเอ่ยปากว่า ชีวิตนี้ขอไปแค่ครั้งเดียวพอ แต่บางคนก็ยังสามารถเดินทางไปได้ทุกปี (หากไปไหว)
Nation STORY จะพาไปรู้จักกับรอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ หนึ่งในสถานที่ที่ผู้คนนิยมเดินทางไปแสวงบุญ การเดินทางจะยากลำบากเเพียงใด มีความอันตรายอย่างไร ทำไมถึงเป็นเล่าขานเช่นนั้น....
สำหรับ รอยพระพุทธบาทพลวง บนเขาคิชฌกูฏ ถือเป็นรอยพระพุทธบาท ที่มีความสูงมากที่สุดในประเทศไทย ที่ความสูงกว่า 1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าเขาคิชฌกูฏ หรือเขาพระบาท ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้
ดังนั้นในแต่ละปี จึงเปิดให้ขึ้นไปสักการะได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น คือช่วง วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 3 ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี เป็นระยะเวลา 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งในปี 2567 มีกำหนดจัดงาน ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ - 9 เมษายน 2567
การเดินทางขึ้นยังไปเขาคิชฌกูฏนั้น สามารถทำได้สองวิธี คือ
1.การเดินเท้าขึ้นไป ซึ่งใช้เวลาในการเดิน 3 - 6 ชั่วโมง
เดินขึ้นทางหน่วย คก.1 เดินทางตามเส้นทางรถยนต์บริการ ระยะทาง 5.6 กิโลเมตร ถึงลานพระสิวลี เดินต่ออีก 1 กิโลเมตร ถึงลานพระบาท
เดินขึ้นทางบ้านแกลง มีรถยนต์ของกลุ่มชาวบ้านแกลง ไปส่งที่ปากอุโมงค์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเดิน ระยะทางเดินถึงลานพระบาท 3.2 กิโลเมตร รับเฉพาะช่วงเช้า 06.00-09.00 น. ลงไม่เกิน 15.00 น. หากเกินให้ประสานไกด์นำทาง
2.ใช้บริการคิวรถขึ้นเขาพระบาทคิชฌกูฏ บริการคิวรถ 24 ชั่วโมง ใช้เวลานั่งรถประมาณ 15 นาที กับระยะทางประมาณ 7 กม.
จุดวัดพลวง สำหรับวัดนี้จะอยู่ตรงทางขึ้นเขา เป็นจุดที่คนนิยมขึ้นกันมากที่สุด เพราะจุดนี้จะมีลานจอดรถให้บริการอย่างกว้างขวาง รวมถึงร้านขายของต่างๆ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ตลอดงานประเพณีฯ
จุดวัดกะทิง วัดนี้จะอยู่ห่างออกมาไม่ไกลมาก มีพื้นที่ให้จอดรถบริการอยู่พอประมาณ แต่ถ้าคนเยอะอาจจะต้องจอดรถไว้ด้านนอกวัด ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นกัน
ความอันตรายของเส้นทางรถขึ้นไปสู่เขาคิชฌกูฏ
สำหรับการเดินทางขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทพลวง บนเขาคิชกูฏ ที่มีการค้นพบใน พ.ศ.2397 นั้น เดิมเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเป็นพื้นที่เขาสูงในป่าทึบ ต่อมาใน พ.ศ.2515 “หลวงพ่อเขียน” หรือพระครูธรรมสรคุณ เจ้าอาวาสวัดกระทิง เจ้าคณะอำเภอมะขาม และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ ในขณะนั้น ได้เป็นผู้บุกเบิกเส้นทาง ขึ้นสู่รอยพระพุทธบาทพลวง จนสามารถนำรถยนต์ ขึ้นเขาคิชฌกูฏได้เป็นครั้งแรก จากนั้นก็ค่อย ๆ พัฒนาเส้นทางขึ้นยอดเขา และมีการปรับปรุงกันมาเรื่อย ๆ โดยการเดินทางขึ้นไป ต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับปรุงถนน ขึ้นไปสู่เขาคิชฌกูฏ แต่เส้นทางก็ยังคงมีความอันตราย เนื่องจากเป็นทางดิน ที่ตัดผ่านป่าทึบ และเขาที่มีความสูงชันและแคบ หากมีฝนตก หรือมีน้ำค้างในช่วงเช้า ก็จะทำให้เส้นทางกลายเป็นทางโคลนลื่นๆ ผู้ขับขี่ต้องมีความชำนาญเท่านั้น ดังนั้นในช่วงเทศกาลที่มีการเปิดให้ขึ้นเขาคิชฌกูฏ จึงไม่มีอนุญาตให้นักท่องเที่ยว นำรถยนต์ส่วนตัวขึ้นไป แม้จะเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อก็ตาม
รวมถึงในแต่ละปี ยังมีข่าวลือการประสบอุบัติเหตุ ของรถที่ใช้รับส่งนักท่องเที่ยวอยู่เสมอๆ และที่เป็นข่าวใหญ่ก่อนหน้านี้ คือ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ที่เกิดอุบัติเหตุ รถรับ-ส่ง นักท่องเที่ยว ประสบอุบัติเหตุ จนมีผู้บาดเจ็บ 13 คน เนื่องจากระบบเบรกขัดข้อง
ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุเช่นนี้ ทำให้ผู้คนในสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า นอกจากความอันตรายของเส้นทางตามธรรมชาติแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากคน ไม่ว่าจะเป็นคนขับที่มีความชำนาญในเส้นทาง แต่ก็อาจจะมีความประมาท เกิดขึ้นได้ รวมถึงสภาพรถที่แม้จะมีการตรวจสอบเป็นอย่างดี แต่จากการใช้งานที่หนักหน่วงตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงเทศกาล ที่เป็นเวลาทำเงินของผู้ให้บริการ รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัย ของรถยนต์ที่นำมาใช้รับส่งนักท่องเที่ยว ที่ถูกดัดแปลงมาใช้งานนี้โดยเฉพาะ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัย ที่ทำให้เกิดเหตุที่ไม่สมควรเกิดได้เช่นกัน
ขอบคุณภาพ Unseen Tour Thailand