svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทำความรู้จัก “ดอกป๊อปปี้” สัญลักษณ์ “วันทหารผ่านศึก” 3 กุมภาพันธ์

ทำความรู้จัก “ดอกป๊อปปี้” ทำไมจึงถูกเลือกใช้เป็นสัญลักษณ์ "วันทหารผ่านศึก" ในทุกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันทหารผ่านศึก" เราจะชินตากับภาพที่มีการจำหน่าย "ดอกป๊อปปี้" กันอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ "วันทหารผ่านศึก" รายได้จากการจำหน่ายไปใช้เป็นทุนช่วยเหลือสงเคราะห์ทหารผ่านศึก

ทำไมต้องใช้ "ดอกป๊อปปี้" 
ต้นกำเนิดของ "ดอกป๊อปปี้" ที่ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ "วันทหารผ่านศึก" เกิดขึ้นเมื่อสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 1 โดยเมื่อสงครามสงบลงเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ฝ่ายพันธมิตรเป็นผู้มีชัยในสงคราม

จอมพล เฮก มีความห่วงใยถึงทหารที่ร่วมเป็นร่วมตาย สละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อประเทศชาติ จึงได้ก่อตั้ง "สันนิบาตสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" ขึ้นในอังกฤษ และได้ถือเอาวันที่ 11 พฤศจิกายน เป็น "วันระลึกทหารผ่านศึก" เพราะตรงกับวันสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สงบลงนั่นเอง

ต่อมา จอมพล เฮก มีความคิดว่าควรจะได้มีสัญญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในที่สุดจึงตัดสินใจใช้ "ดอกป๊อปปี้สีแดง" เป็นสัญญลักษณ์ของทหารผ่านศึกทั่วประเทศอังกฤษ 
ทำความรู้จัก “ดอกป๊อปปี้” สัญลักษณ์ “วันทหารผ่านศึก” 3 กุมภาพันธ์

ทั้งนี้ ดอกป๊อปปี้ สื่อความหมายถึง "ทหารผ่านศึกผู้พลีเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อปกป้องมาตุภูมิอันเป็นที่รัก" 

สำหรับ ดอกป๊อปปี้ ที่เป็นสัญลักษณ์ของทหารผ่านศึก คือ "Papaver rhoeas" ป๊อปปี้พันธุ์นี้ เป็นวัชพืชพันธุ์หนึ่งที่พบในยุโรปได้ทั่วไป และในหลายๆประเทศ เป็นพืชในวงศ์ Papaveraceae ที่ออกดอกจะประกอบด้วย 4-6 ใบ มีสีสันแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพันธุ์ บางพันธุ์อาจมีลวดลาย 

สำหรับ ดอกฝิ่นแดง ถือว่าเป็น ดอกป๊อปปี้พันธุ์หนึ่ง สีแดงเสมือนเลือดของทหารหาญที่ได้หลั่งชโลมแผ่นดินไว้ด้วยความกล้าหาญ เสียสละอันสูงสุด

จากนั้นในปีถัดมา ก็เริ่มมีการประดิษฐ์ดอกป๊อปปี้ออกมาขายใน "วันทหารผ่านศึก" เพื่อขอรับการสนับสนุนจากประชาชน โดยเงินรายได้ทั้งหมดนำไปเป็นทุนช่วยเหลือสงเคราะห์ทหารผ่านศึก วันทหารผ่านศึกจึงถูกเรียกอีกอย่างว่า "วันป๊อปปี้" หรือ POPPY DAY
ทำความรู้จัก “ดอกป๊อปปี้” สัญลักษณ์ “วันทหารผ่านศึก” 3 กุมภาพันธ์

"วันทหารผ่านศึก" ของ ประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2488 พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ของประเทศไทย ได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เป็นผู้พิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ "ทหารผ่านศึก" โดยจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณากองทุน หาทางช่วยเหลือทหารผ่านศึก

กระทั่ง วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2538 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้จัดงาน "วันทหารผ่านศึก" เพื่อสดุดีวีรกรรมทหารผ่านศึก ทหารกล้าผู้ที่เสียสละเพื่อรักษาประเทศชาติ และได้ "สถาปนาองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" ขึ้นมา ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 

ทั้งนี้ รัฐบาลกำหนดให้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ดังกล่าวถือเป็น "วันทหารผ่านศึก" ของทุกปี เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของทหารผ่านศึก รวมถึงให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ แก่ทหารผ่านศึก เนื่องจากทหารผ่านศึกบางคนได้รับบาดเจ็บจนต้องทุพพลภาพ เสียแขน ขา หรืออวัยวะที่สำคัญบางอย่างทำให้ไม่สามารถจะประกอบอาชีพได้เหมือนกับคนปกติ และไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและสังคม

ขณะที่การจัดทำ "ดอกป๊อปปี้" จำหน่ายในวันทหารผ่านศึกนั้น เกิดจากดำริของ ท่านผู้หญิง จงกล กิตติขจร ประธานมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก ที่ต้องการจะดำเนินการหาทุนมาช่วยเหลือทหารและครอบครัวทหารผ่านศึก ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศ มีการจำหน่ายในวันที่ระลึกทหารผ่านศึกตั้งแต่ ปี 2511 เป็นต้นมา

กิจกรรมในวันทหารผ่านศึก
กิจกรรมที่ยึดถือปฏิบัติเป็นประจำในทุกๆ ปี ได้แก่

  • จัดจำหน่ายดอกป๊อปปี้ เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือทหารผ่านศึก รวมถึงนำสินค้าของทหารมาจำหน่ายกับประชาชน ถือเป็นการร่วมบริจาคช่วยเหลือทหารผ่านศึก
  • จัดงานรำลึกทั่วประเทศ และจัดนิทรรศการเผยแพร่วีรกรรมของเหล่าทหารกล้า เพื่อเชิดชูเกียรติ ยกย่อง และเคารพในความกล้าหาญ ที่เหล่าทหารสามารถปกป้องผืนแผ่นดินไทยนี้ไว้ได้
  • วางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และบำเพ็ญกุศลให้กับนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ที่เสียสละชีวิตเพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ ซึ่งในวันทหารผ่านศึกของทุกปี องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจะจัดพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเหล่านักรบผู้กล้า 

ทำความรู้จัก “ดอกป๊อปปี้” สัญลักษณ์ “วันทหารผ่านศึก” 3 กุมภาพันธ์