เป็นเรื่องถูกหยิบยกนำมาพูดกันในสังคมนาน สำหรับความพยามในการผลักดัน "กฎหมายนิรโทษกรรม" เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายฝ่ายได้พยายามผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง และพรรคการเมืองต่าง ๆ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นประเด็นให้ฝ่ายตรงข้าม ใช้เป็นเครื่อมือในการโจมตีทางการเมืองอยู่เสมอ ๆ
แต่จากบริบททางสังคม และสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้ความพยายายามผลักดัน "กฎหมายนิรโทษกรรม" เกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งฝ่ายการเมือง และภาคประชาชน
ซึ่งความพยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้ของภาคประชาชน ถือว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ ที่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหา หรือนักโทษทางการเมือง มากกว่าบรรดานักการเมืองที่เป็นหัวโจก
โดยวานนี้ (1 ก.พ.) เครือข่ายภาคประชาชน ได้เดินทางมายังอาคารรัฐสภา เกียกกาย เพื่อยื่นเสนอริเริ่ม "ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน" ให้แก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร มี นายพงษ์สรณัฐ ทองลี เลขาธิการรองประสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ลงมารับเอกสารดังกล่าว และกล่าวว่า “ทางสภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการต่อไปตามกระบวนการของรัฐสภา”
ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน คืออะไร แล้วนิรโทษกรรมให้ใคร
ilaw หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ได้มีการสรุปเนื้อหา 3 ข้อว่า ทำไมต้อง ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน โดยระบุว่า
ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน) เป็นการนำเสนอทางออกจากสถานการณ์การทางการเมือง ที่มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเล่นงาน คนเห็นต่างทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดี จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกจำนวนมาก และนับวันก็จะยิ่งมีผู้ถูกคุมขัง จากฐานความผิดที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกมากขึ้นเรื่อย ๆ การนิรโทษกรรมประชาชน จึงเป็นความจำเป็นของสังคมไทย ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่ทิ้งบาดแผลให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด หรือแสดงออกแบบใด
เนื้อหาหลัก ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน
1.รวมประชาชนทุกคดีทุกฝ่ายตั้งแต่รัฐประหาร 49
ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชนไม่เลือกฝ่ายหรือประเภทของคดีความ ทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จะเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด โดยแบ่งการนิรโทษกรรมออกเป็นสองประเภท คือคดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมในทันทีหลังจากที่กฎหมายได้รับการรับรอง และคดีที่ให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชนที่จัดตั้งตามกฎหมายพิจารณาว่าจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่
2.สำหรับคดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมทันทีมีดังนี้
หากจะมีข้อยกเว้นในร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน ก็จะอยู่ที่การไม่ให้นิรโทษกรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม หรือกระทำเกินแก่เหตุ รวมถึงความผิดตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดฐานเป็นกบฏ ซึ่งได้แก่ความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ แบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจปกครอง หมายความว่าผู้ที่ใช้กำลังยึดอำนาจรัฐ หรือผู้ที่ทำรัฐประหาร จะไม่ได้อานิสงค์จากกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน
3 มีตัวแทนประชาชนในคณะกรรมการพิจารณานิรโทษกรรม
ภายหลังจากที่ร่างกฎหมายได้รับการรับรอง ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งชื่อ “คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน” ซึ่งอำนาจหน้าที่หลักคือ พิจารณาคดีอื่นใดที่ไม่ได้รวมอยู่ในประเภทคดี ที่ได้รับการระบุไว้ในร่างกฎหมาย แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง
ให้คณะกรรมการพิจารณานิรโทษกรรมได้ โดยนอกจากผู้ต้องหา หรือจำเลยผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการได้แล้ว ร่างกฎหมายยังเปิดช่องให้คู่สมรสหรือญาติ สามารถยื่นเรื่องแทนได้ด้วย มากไปกว่านั้น คณะกรรมการยังมีหน้าที่จัดทำรายงาน ข้อเสนอการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอีกด้วย
คณะกรรมการนิรโทษกรรมมีทั้งหมด 19 คน ประกอบไปด้วย
ภาคประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร
อภิสิทธิ์ ฉวานนท์ จาก Thumb Rights กล่าวว่า “เรามาที่รัฐสภา เพื่อมายื่นรายชื่อผู้ริเริ่มเสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน ให้แก่ประธานสภาฯ และแจ้งต่อประธานสภาฯ ว่าตั้งแต่วันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจะดำเนินการเข้าชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน โดยร่างดังกล่าวมีใจความสำคัญคือการยกเลิกคดีทางการเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร 2549 ซึ่งเป็นคดีการเมืองที่ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิในการแสดงออกทางการเมือง วันนี้จึงมายื่นหนังสือเพื่อให้ประชาชนที่มีคดีความการเมืองได้รับความเป็นธรรม”
ด้าน พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “ สำหรับเนื้อหาของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน หลักการสำคัญคือการนิรโทษกรรมประชาชน ที่มีคดีความทางการเมือง โดยจะนิรโทษกรรมคดีความทางการเมืองของประชาชน ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 โดยไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐ ที่สลายการชุมนุม และกระทำเกินกว่าเหตุ
การนิรโทษกรรมสองประเภท ประเภทแรกคือการ ได้รับนิรโทษกรรมโดยทันที ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในร่างกฏหมาย
ประเภทที่สองคือการได้รับการนิรโทษกรรมผ่านคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่สำคัญ ในการที่จะพิจารณาว่า คดีไหนเป็นคดีการเมือง จัดทำมาตรการเยียวยาประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความทางการเมือง และลบประวัติอาชญากรรมของประชาชน ที่อยู่ในขอบเขตของร่างกฎหมายนี้ เนื้อหาหลักของร่างกฏหมายนิรโทษกรรมประชาชนคือ การคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคม เพื่อให้สังคมเดินหน้าไปด้วยกัน
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า “เราจัดกิจกรรมเพื่ออยากให้ทุกคนร่วมกันส่งเสียงเรื่องนี้ ในเทศกาลแห่งความรักนี้ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยจะมีกิจกรรมต่อเนื่องทั้ง 14 วัน ทั้งงานเสวนาวิชาการ งานศิลปะ งานสร้างสรรค์ ใครชอบแบบไหนและเห็นความสำคัญของการนิรโทษกรรมประชาชนด้วยกันก็ขอให้เลือกไปร่วมงานกันเอง
นอกจากนี้ยังรับอาสาจุดรับลงรายชื่อรับอาสาจัดกิจกรรมเพิ่มเติม งานนี้จะสำเร็จได้ไม่ใช่เพราะองค์กรที่จัดงานเท่านั้นแต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้คนจ านวนมากอย่างที่เคยเป็นมา เพื่อส่งร่างนี้เข้าสภาและไปให้ไกลที่สุดเพื่อคนที่อยู่ในเรือนจำและอาจจะต้องเข้าเรือนจำในไม่กี่วันข้างหน้า โดยพวกเราเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะเป็นอีกครั้งที่เราจะได้เห็นการการรวมพลังของประชาชนที่มีความหมายอีกครั้งหนึ่ง”
ด้าน ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) กล่าวว่า “ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของแคมเปญนี้ เราจะจัดงานส่งรายชื่อให้ถึงสภา โดยขออนุญาตใช้พื้นที่ที่ลานประชาชน และจะขอเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค มารับข้อเสนอของประชาชนด้วย
โดยจะมีการยื่นหนังสือเชิญให้กับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล และวันต่อ ๆ ไปก็จะไปยื่นหนังสือเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ เราอยากเจอทุกคน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ตอนนี้ เป็นพรรคที่ล้มลุกคลุกคลานกับเส้นทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาสองทศวรรษ สส. ของพรรค และประชาชนที่สนับสนุนพรรค ต่างถูกจับกุมคุมขังด้วยคดีทางการเมืองเป็นร้อยเป็นพันคน รวมทั้งยังไม่ได้กลับบ้าน ก็หวังว่าจะได้พบ คุณแพทองธาร ชินวัตร ที่หน้าสภาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อมารับร่างนี้จากประชาชน"
ขอบคุณภาพและข้อมูล : iLaw