31 มกราคม 2567 จากกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยหลังจากพบกับ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงการขอ แพนด้า กลับมาอยู่ในประเทศไทย ในฐานะทูตสันถวไมตรีอีกครั้ง ซึ่ง นายหวัง อี้ ยินดีที่จะมีหมีแพนด้ากลับมาที่สวนสัตว์เชียงใหม่อีกครั้ง
อีกทั้ง นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้ออกมายืนยันความพร้อม ในการดูแล แพนด้า ได้เป็นอย่างดี จากประสบการณ์ที่มีมานานกว่า 20 ปี ในการดูแล ช่วงช่วง หลินฮุย และหลิงปิง ในอดีต ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้
ล่าสุด น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หรือ หนูนา โพสต์เฟซบุ๊ก NuNa Silpa-archa แสดงออกไม่เห็นด้วยกับการนำ แพนด้า กลับมาเลี้ยงในประเทศไทย โดยได้แชร์โพสต์ของ "วินทร์ เลียววาริณ" นักเขียนรางวัลซีไรท์ 2 ครั้ง ในปี 2540 และปี 2542 โดยมีข้อความระบุว่า
"เป็นเช่นนั้นเลยค่ะ..
ในบรรดาคนรักแพนด้า ดิฉันนี้อันดับต้นๆเลย
แต่เมื่อรัก ก็ต้องเห็นความสุขเขาเป็นหลัก ไม่ใช่ความสุขเรา..
เขาอยู่จีนดีแล้ว.."
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา น.ส.กัญจนา ได้โพสต์เหตุผลของการไม่เห็นด้วย มีรายละเอียดระบุว่า..
เคยแสดงความไม่เห็นด้วยไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปีก่อน ตอนมีข่าวใหม่ๆ ทั้งที่ดิฉันเป็นคนที่รักแพนด้ามาก..
ขอกล่าวเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยอีกครั้ง
1. แพนด้าอยู่จีนดีแล้ว เขาเลี้ยงแต่ละตัวในพื้นที่กว้าง มีสนามส่วนตัว อากาศเหมาะสม
2 . ส่วนจัดแสดงแพนด้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่เล็ก พื้นที่จำกัด เป็นห้องแอร์ ไม่เป็นธรรมชาติเลย แพนด้าจะมีโอกาสออกสวนเล็กๆ ยามอากาศหนาวเพียงไม่เกินปีละ 1 สัปดาห์ ที่เขาจะได้เจออากาศธรรมชาติ
3. ค่าเช่าแพนด้าแพงมาก ปีละหลายสิบล้าน
4. กระแสแพนด้าในไทยหมดไปแล้ว
5. กระแสช้างไทยมาแรง ควรใช้เงินดูแลช้างและสัตว์ในบ้านเรา รวมทั้งทำแหล่งอาหารสัตว์ป่า แก้ปัญหาระหว่างคนกับช้าง
สรุป… แพนด้าอยู่จีนดีกว่า ควรใช้เงินเพื่อสัตว์ในบ้านเรา และไม่ควรใช้สัตว์เป็นทูตแล้ว..,
ทั้งนี้ โพสต์ของ "วินทร์ เลียววาริณ" มีรายละเอียดในการไม่เห็นด้วยกับการนำแพนด้ากลับมาที่ไทย ดังนี้..
อาทิตย์ก่อนผมพูดเรื่องผมปฏิเสธสวนสัตว์และการทำบุญปล่อยนกปล่อยปลาไปหยกๆ อาทิตย์นี้ก็มีข่าวประเทศจีนกับไทยเชื่อมสัมพันธ์ด้วย 'การทูตแพนดา' อีกครั้ง
จีนสัญญาจะส่งแพนดามาให้ไทย เป็นของขวัญแทนใจ
ไม่เห็นด้วยเลยครับ!
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรามีแพนดาในเมืองไทย ปี พ.ศ. 2552 บันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นห้วงเวลาที่คนไทยเกิดอาการเห่อลูกหมีแพนดาน่ารักซึ่งถือกำเนิดในแผ่นดินไทยจนกลายเป็น 'แพนดาฟีเวอร์' ไปทั้งประเทศ ผู้คนหลั่งไหลไปถ่ายรูปลูกหมีน่ารัก สารเอสเอ็มเอสท่วมท้นจอโทรทัศน์ ไปรษณียบัตรตั้งชื่อลูกหมีนับล้านแผ่นเดินทางจากทุกสารทิศ ล่าสุดบริษัทโทรทัศน์เคเบิลแห่งหนึ่งเปิดโทรทัศน์ช่องใหม่เป็นรายการเรียลิตี้แพนดา โทรทัศน์ช่องนี้แสดงภาพน่ารักของหมีแพนดาแม่ลูกผ่านกล้องวงจรปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง
การเปิดโอกาสให้ผู้ชมเห็นภาพลูกหมีน่ารักอย่างใกล้ชิดเพียงแค่กดปุ่มรีโมต คอนโทรล อีกทั้งสามารถแสดงความเห็นผ่านเอสเอ็มเอสหน้าจอ คงจัดว่าเป็นการแสดงความรักของมนุษย์ต่อสัตว์ที่น่าเอ็นดู หากไม่ใช่เพราะจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งที่อาจทำให้คนรักสัตว์ไม่น้อยตะขิดตะขวงใจ นั่นคือภาพแพนดาแม่ลูกผ่านชีวิตแต่ละวันในกรงเหล็ก
ในปีเดียวกันนั้น ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯจัดธีมการตลาดโดยตกแต่งห้างเป็นป่า นำต้นไม้และสัตว์ป่าขนาดเล็กหลายชนิดมาประดับประดา ผสมผสานเสียงน้ำตกกับเสียงสิงสาราสัตว์ (ปลอม) รกครึ้มสวยงามแลดูเหมือนป่าทึบแอฟริกา เรียกลูกค้าได้ชะงัด บรรดาคนเดินห้างก็ถ่ายรูปกับสัตว์ป่าและฉากกันอย่างเพลิดเพลินเจริญใจ
มันก็คงจัดว่าเป็นแผนการตลาดที่ประสบความสำเร็จ หากไม่ใช่เพราะจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่ง นั่นคือท่าทางของสัตว์ป่าเหล่านั้นดูหงอย และตกใจกลัวกับสภาพ 'ป่าติดแอร์' ที่พวกมันไม่คุ้นเคย ผสมกับการที่ผู้คนรายล้อมและแสงแฟลชวูบวาบเป็นระยะ ๆ
เสียงต่อต้านแผ่ว ๆ ของคนไม่เห็นด้วยถูกกลบหายไปด้วยเสียงของผู้ใหญ่ในหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้สัมภาษณ์ว่า เขามองไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหาอะไร นี่เป็นการทำให้ประชาชนเรียนรู้ชีวิตป่าได้อย่างดียิ่ง อีกประการหนึ่ง สัตว์เหล่านี้ก็อยู่ในกรงแค่สิบวันเท่านั้นเอง และอยู่ในห้องแอร์เย็นสบายด้วย
ภาพพ่อแม่พาเด็ก ๆ ไปดูสัตว์ในกรง ดูเผิน ๆ เหมือนการปลูกฝังให้เด็กรักสัตว์ตั้งแต่เล็ก แต่มองในภาพกว้าง กลับเป็นการปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมว่าสัตว์เป็นเพียงของเล่นอย่างหนึ่งเท่านั้น
ค่านิยมนี้เองที่ทำให้โลกเต็มไปด้วยสวนสัตว์ที่ไร้คุณภาพและตลาดสัตว์ป่าซึ่งไม่นำพาวิธีการได้ 'สินค้า' มาตามความต้องการของตลาด
ในปี 2554 สวนสัตว์เชียงใหม่ประชาสัมพันธ์ดาราตัวใหม่ หมีขาวขั้วโลก โดยให้เหตุผลว่า สภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย หมีขาวกำลังไร้ที่อยู่ สวนสัตว์จึงเป็นทางแก้ปัญหา ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว กล่าวคือช่วยทั้งหมีขาวและสวนสัตว์
รายงานวิจัยทั่วโลกยืนยันว่า การนำหมีขาวมาเลี้ยงในสวนสัตว์เป็นการทำร้ายหมีมากกว่าช่วย หมีทั้งหมดที่นำมาไว้ในสวนสัตว์มีอาการป่วยทางจิตและซึมเศร้า เพราะหมีขาวต้องอาศัยในพื้นที่เย็นจัด และมีพฤติกรรมท่องพื้นที่กว้างถึงห้าหมื่นตารางกิโลเมตร มิพักเอ่ยถึงการถูกนำมาขังในคุกร้อนเมืองไทย สวนสัตว์ในยุโรปจึงเลิกการขังหมีขาวโดยสิ้นเชิง
เห็นวิธีคิดของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและนักการตลาดหัวกลวงแบบนี้แล้ว ให้รู้สึกว่าการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าของเราก็เหมือนการเข็นครกขึ้นเขาเอเวอเรสต์
นักเขียนเรื่องตลกอเมริกัน อีแวน อีซาร์ เคยกล่าวขำ ๆ ไว้ว่า "สวนสัตว์คือสถานที่ดีที่สุดที่จะศึกษาสันดานมนุษย์"
สันดานของมนุษย์เราก็คือ เมื่อเรารักสิ่งใดก็ต้องเก็บมันไว้เป็นของตนเอง รักนกก็จับมันมาขังในกรง รักสัตว์ป่าก็จับมันมาขังในกรง รักใครก็ต้องการให้เขาหรือเธอเปลี่ยนนิสัยให้ตรงใจตนเอง บริโภคนิยมยิ่งทำให้เรามองทุกอย่างเป็นวัตถุที่ไม่มีเลือดเนื้อชีวิตจิตใจและซื้อขายได้
มันสะท้อนให้เห็นว่า เราต่างหากที่อยู่ในกรงของความมืดบอดทางปัญญา
แผนการตลาดซึ่งเล่นกับความน่ารักของสัตว์ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เรามีสวนสัตว์ในห้างสรรพสินค้ามานานหลายสิบปี เรามีกิจกรรมบันเทิงประเภทช้างเตะฟุตบอล เหล่านี้เป็นภาพที่สังคมถูกยัดเยียดจนเคยชินไปแล้ว
ภาพหมีแพนดาแม่ลูกนั่งนอนบนพื้นซีเมนต์แห้งกร้านรายล้อมด้วยลูกกรงเหล็กพร้อมอาหารเสิร์ฟถึงที่ อาจดูน่ารักในสายตาของคนจำนวนมาก แต่ในมุมมองของนักอนุรักษ์สัตว์ มันกลับเป็นภาพที่ชวนสลดหดหู่ที่สุดภาพหนึ่งในโลก แพนดาแม่ลูกก็ดูไม่ต่างจากอาชญากรที่ถูกจำจอง ไม่ว่าเราจะจำลองบ้านของมันให้ดูเหมือนธรรมชาติเพียงไร หรือจะยืนยันผ่านเอสเอ็มเอสสักล้านหนว่า เรารักพวกมันมากแค่ไหน เช่นเดียวกับภาพสัตว์ในกรงกลางห้างสรรพสินค้าที่ถูกบังคับให้ถ่ายรูปกับฝูงชน
ดังนั้น ยินดีรับไมตรีจิตจากจีนร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยความขอบคุณ แต่ไม่รับแพนดาได้ไหม?
วินทร์ เลียววาริณ
วันสุดท้ายของเดือนมกราคม 2567