9 มกราคม 2567 นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี รายงานผลปฏิบัติการสำรวจ "วาฬโอมูระเผือก" Omura’s whale ตามข้อสั่งการพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งผนึกกำลังเร่งสำรวจหาวาฬเผือกดังกล่าว เพื่อเก็บภาพ เป็นข้อมูลเพื่อทำการศึกษาทางวิชาการ
เมื่อวานนี้ (8 มกราคม 2567) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี นำเรือตรวจการณ์พร้อมอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ออกสำรวจพื้นที่ทางทะเล ตามเส้นทางที่ได้รับมอบหมายจากทีมเฉพาะกิจ โดยทำการสำรวจด้วยการวิ่งเรือสำรวจด้วยวิธีการวางเส้นแนวสำรวจ (Distance Transect) โดยสำรวจพื้นที่ระหว่างเกาะพีพีเล – เกาะราชาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 700 ตารางกิโลเมตร
ผลการปฏิบัติงานพบเจอวาฬโอมูระสีปกติ จำนวน 1 ตัว พบขึ้นหายใจ นับได้ 3 ครั้ง ช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. ห่างจากเกาะพีพีเลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 15 กิโลเมตร จึงได้เก็บข้อมูลพิกัดและภาพถ่ายเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการใช้งานเชิงวิชาการ ระหว่างปฏิบัติภารกิจสภาพอากาศท้องฟ้าปลอดโปร่ง แต่มีคลื่นหัวแตกค่อนข้างถี่และมีลมค่อนข้างแรง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสำรวจ การปฏิบัติการในครั้งนี้ไม่พบวาฬโอมูระเผือกแต่อย่างใด
ในส่วนภารกิจภาพรวมของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ผลการปฎิบัติงานพบวาฬโอมูระสีปกติ จำนวน 3 ครั้ง
ครั้งแรกสำรวจพบวาฬโอมูระ 1 ตัว โดยทีมเจ้าหน้าที่ อส. บริเวณฝั่งตะวันตกของเกาะพีพี ช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. พบขึ้นหายใจ นับได้ประมาณ 3 ครั้ง แล้วก็เคลื่อนที่ไปตามกระแสน้ำอย่างเร็ว
ครั้งที่ 2 พบโดยทีมเจ้าหน้าที่ ทช. บริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะไม้ท่อน เป็นวาฬโอมูระ 1 ตัว ความยาว 9 เมตร เจ้าหน้าที่ดำเนินการติดตามเป็นระยะเวลา 30 นาที ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร วาฬมีอัตราการหายใจ 6 ครั้งใน 5 นาที มีรูปร่างสมบูรณ์ดี มีพฤติกรรมว่ายน้ำและหากินปกติ
ครั้งที่ 3 พบวาฬโอมูระ จำนวน 4 ตัว บริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะเฮ ว่ายน้ำหากินอยู่ทั้งระยะใกล้และไกลเรือ ทีมเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำเพื่อศึกษาด้วยเทคนิค eDNA และข้อมูล Photo ID เพื่อจำแนกและเปรียบเทียบตัวตนและเพื่อสรุปจำนวนประชากรต่อไป
ทั้งนี้ การพบเห็นทั้ง3 ครั้ง ยังไม่พบวาฬโอมูระเผือก ระหว่างปฎิบัติการในช่วงเช้ามีลมแรงและคลื่นหัวแตกค่อนข้างถี่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพบเห็น ส่วนในช่วงบ่ายทะเลค่อนข้างเรียบมีลมเล็กน้อย ระหว่างเส้นทางสำรวจไม่ผลการกระทำผิดทางทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ขอบคุณข้อมูล : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช