ความพยายามในการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ที่มีการรอลุ้นกันอยู่ขณะนี้ หลังจาก "นายกฯเศรษฐา" มีข้อสั่งการไปยังนายปานปรีย์ มหิทธานุกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ นั้น
หากมาย้อนดู คำสั่งของรัฐบาลที่ผ่านมา ที่มักจะมีการเสนอให้ปรับเงินเดือน เอาใจบรรดาพี่น้องข้าราชการ เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลในระยะแรก อย่างเช่น รัฐบาลคสช. ที่เข้ามาบริหาร ประเทศ เมื่อปี 2557 ก็มีการออกพรฎ. ปรับเงินเดือน ขรก. ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี 2558
แต่ทว่า ประเด็นที่ข้าราชการทุกหมู่เหล่า กำลังตั้งคำถาม จะมีการปรับเงินเดือนให้ข้าราชการทุกประเภท หรือไม่
ประเด็นนี้ ยิ่งน่าสนใจ เพราะในรัฐบาลคสช. มีการปรับเงินเดือนให้ข้าราชการทุกประเภท ไม่ใช่แต่เพียงข้าราชการพลเรือน กล่าวคือ จะมีการปรับเงินเดือนให้ บุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหารด้วย
ดังปรากฏเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558,พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ฉบับที่ 3)พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่3 ) พ.ศ.2558 และพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2558
โดยมีสาระสำคัญให้ปรับเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการชั้นผู้น้อยทุกประเภทตั้งแต่ระดับ 1– 7 ในอัตรา 4% ของเงินเดือนที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการทุกประเภททุกระดับ เพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน10 % โดยให้มีผลทันทีหลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลบังคับย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2557
ทั้งนี้ การปรับเงินเดือนข้าราชการจะปรับ 2 ระดับ คือข้าราชการชั้นผู้น้อยระดับชำนาญการชำนาญงาน และข้าราชการตั้งแต่ระดับ 7 ลงมาจะได้รับการปรับเงินเดือน 4 % เช่น ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการขั้นสูงอยู่ที่ 26,900 บาทชำนาญการขั้นสูงอยู่ที่ 43,600 บาท ส่วนตำแหน่งประเภททั่วไประดับปฏิบัติงานขั้นสูงอยู่ที่ 21,010 บาทชำนาญงานขั้นสูง อยู่ที่ 38,750 บาท ส่วนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับครูผู้ช่วยขั้นสูงอยู่ที่ 24,750 บาท ครูชำนาญการ (คศ.2) ขั้นสูงอยู่ที่ 41,620 บาท เป็นต้น
ส่วนการปรับเงินเดือนข้าราชการระดับสูงในระดับบริหารจะปรับเงินเดือนประมาณ10 % เช่นตำแหน่งประเภทบริหารขั้นสูงจะได้ปรับเงินเดือนเป็น 76,800 บาท ตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับขั้นสูง ปรับเป็น 70,360 บาท เป็นต้น
มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า การปรับขึ้นเงินเดือนและโครงสร้างเงินเดือนครั้งนี้จะใช้เงินงบประมาณประจำปี 2558 เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมข้าราชการ รวม 1.98 ล้านคน โดยก่อนหน้านี้ ครม. ได้เห็นชอบในหลักการ การปรับโครงสร้างเงินเดือนดังกล่าว ไปตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2557 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มรายได้และขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการทั่วประเทศ
ฉะนั้นเห็นได้ว่า แนวทางการปรับเงินเดือนในสมัย รัฐบาลคสช. ต้องมีการเสนอแก้ไขกม. ถึง 4 ฉบับ เพื่อให้มีการปรับเงินเดือนให้ข้าราชการอย่างทั่วถึง ทุกประเภททุกระดับ
การขึ้นเงินเดือนครั้งล่าสุด สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แก้กม. 4 ฉบับ
ปรับเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ของขรก. ชั้นผู้น้อยทุกประเภท 4 % ของเงินเดือนที่ได้รับอยู่
ปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนขรก.ทุกประเภททุกระดับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10 %
ให้มีผลทันที หลังจากประกาศในราชกิจจาฯ และให้มีผลบังคับย้อนหลังไปตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2557
ความคืบหน้าล่าสุด!!
"เงินเดือนข้าราชการ" กำลังกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก กับกระแสที่รัฐบาลมีนโยบายจะปรับขึ้น
ทางด้าน นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เปิดเผยถึงกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สั่งการให้มีการศึกษาเรื่องขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ว่า จะมีการหารือกันครั้งแรกในวันที่ 11 พ.ย. ก่อนที่ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมเอเปก
ทั้งนี้ ต้องเรียนว่าจะเป็นการศึกษาก่อนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนเลย
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุ การประชุม ครม.วันนี้ กระทรวงการคลัง จะมีการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่..) พ.ศ... หรือ การจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ ซึ่งที่ผ่านมาได้ข้อสรุปแล้ว
สำหรับกรณีการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ เป็นไปตามมติครม. ซึ่งเห็นชอบการปรับวิธีการจ่ายเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างประจำ จากเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ศึกษาหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและรายละเอียดในการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำ เป็น 2 รอบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการลูกจ้างประจำ
โดยกรมบัญชีกลาง ได้แต่งตั้งคณะทำงานปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำ 2 รอบ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติครม. โดยประชุมร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลหักรายจ่ายและข้อมูลหักหนี้ของส่วนราชการ เพื่อหารือในส่วนของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแต่ละหน่วยงาน การส่งข้อมูลหักรายจ่ายและข้อมูลหักหนี้ให้กับส่วนราชการ และการปรับระยะเวลาการปฏิบัติงานของส่วนราชการ
ก่อนจะสรุปว่า การจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำเป็น 2 รอบต่อเดือน จะเป็นทางเลือกตามความสมัครใจสำหรับข้าราชการและลูกจ้างประจำ โดยถ้าข้าราชการรายใดจะรับเงิน 2 รอบจะต้องกรอกแบบแจ้งความประสงค์ขอเปลี่ยนแปลงการรับเงินเดือน/ค่าจ้างประจำ ตามแบบฟอร์มที่กรมบัญชีกลางกำหนด
ปัจจุบันเงินเดือนข้าราชการแต่ละตำแหน่งจะถูกแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตั้งแต่ บริหาร, อำนวยการ, วิชาการ และทั่วไป และแต่ละประเภทจะแบ่งเป็น ลำดับขั้น ตั้งแต่ระดับชั่วคราว ไล่มาที่ขั้นต่ำ และ ขั้นสูง ซึ่งแต่ละประเภทจะมีฐานเงินเดือนที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ อัตราเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญปัจจุบัน เป็นดังนี้
อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทบริหาร
ขั้นต่ำชั่วคราว
ระดับต้น 24,400 บาท
ระดับสูง 29,980 บาท
ขั้นต่ำ
ระดับต้น 51,140 บาท
ระดับสูง 56,380 บาท
ขั้นสูง
ระดับต้น 74,320 บาท
ระดับสูง 76,800 บาท
อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูง ของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทอำนวยการ
ขั้นต่ำชั่วคราว
ระดับต้น 19,860 บาท
ระดับสูง 24,400 บาท
ขั้นต่ำ
ระดับต้น 26,660 บาท
ระดับสูง 32,850 บาท
ขั้นสูง
ระดับต้น 59,500 บาท
ระดับสูง 70,360 บาท
อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูง ของข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทวิชาการ
ขั้นต่ำชั่วคราว
ระดับปฏิบัติการ 7,140 บาท
ระดับชำนาญการ 13,160 บาท
ระดับชำนาญการพิเศษ 19,860 บาท
ระดับเชี่ยวชาญ 24,400 บาท
ระดับทรงคุณวุฒิ 29,980 บาท
ขั้นต่ำ
ระดับปฏิบัติการ 8,340 บาท
ระดับชำนาญการ 15,050 บาท
ระดับชำนาญการพิเศษ 22,140 บาท
ระดับเชี่ยวชาญ 31,400 บาท
ระดับทรงคุณวุฒิ 43,810 บาท
ขั้นสูง
ระดับปฏิบัติการ 26,900 บาท
ระดับชำนาญการ 43,600 บาท
ระดับชำนาญการพิเศษ 58,390 บาท
ระดับเชี่ยวชาญ 69,040 บาท
ระดับทรงคุณวุฒิ 76,800 บาท
อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภททั่วไป
ขั้นต่ำ
ระดับปฏิบัติงาน 4,870 บาท
ระดับชำนาญงาน 10,190 บาท
ระดับอาวุโส 15,410 บาท
ระดับทักษะพิเศษ 48,220 บาท
ขั้นสูง
ระดับปฏิบัติงาน 21,010 บาท
ระดับชำนาญงาน 38,750 บาท
ระดับอาวุโส 54,820 บาท
ระดับทักษะพิเศษ 69,040 บาท
ทั้งนี้ เพจดัง ฐานเศรษฐกิจระบุอีกว่า นับตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2557 ยุค “รัฐบาลประยุทธ์” มาถึงเดือน พ.ย. 2566 ก็เป็นเวลาล่วงเลยมาแล้วร่วม 9 ปี ที่ยังไม่เคยมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบอีกเลย!!
ขอขอบคุณที่มา : กองบรรณาธิการเนชั่นทีวี / ฐานเศรษฐกิจ มา ณ โอกาสนี้