svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทำความรู้จัก บึ้งไทยชนิดใหม่ ที่สวยสุดในโลก กับชื่อสุดเท่ "บึ้งประกายสายฟ้า"

ทำความรู้จัก บึ้งไทยชนิดใหม่ ที่สวยสุดในโลก พบมีสีสันน้ำเงิน-ม่วงสวยงาม ได้รับชื่อสุดเท่ว่า "บึ้งประกายสายฟ้า"

26 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ภาพ พร้อมระบุข้อความว่า 

#รู้จัก...บึ้งไทยชนิดใหม่ที่สวยที่สุดในโลก “บึ้งประกายสายฟ้า” Chilobrachys natanicharum 

ทีมวิจัยไทยพบทารันทูลาหรือบึ้งสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย ที่ จ.พังงา มีสีสันน้ำเงิน-ม่วงสวยงามได้รับชื่อสุดเท่ว่า “บึ้งประกายสายฟ้า”

คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ทีมวิจัย นำโดย ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ โจโฉ ยูทูบเบอร์ชื่อดัง และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย นายชวลิต ส่งแสงโชติ นายปฏิภาณ ศรีรานันท์ และนายปวีณ ปิยะตระกูลชัย ได้ลงพื้นที่สำรวจและศึกษาวิจัย นำมาสู่การค้นพบบึ้งที่สวยงามชนิดใหม่ของโลก

โดยบึ้งชนิดใหม่นี้ที่ค้นพบนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “ชิโลบราคิส นาทานิชารัม” (Chilobrachys natanicharum) หรือชื่อสามัญเป็นภาษาไทยเท่ๆว่า “บึ้งประกายสายฟ้า” (Electric-blue Tarantula)

บึ้งประกายสายฟ้าถือได้ว่าเป็นบึ้งที่มีความงดงามระดับต้น ๆ ของโลก โดยชื่อวิทยาศาสตร์ของบึ้งชนิดนี้ได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้กับ คุณณฐกร แจ้งเร็ว และคุณนิชดา แจ้งเร็ว ผู้บริหารกลุ่มบริษัทนิชดาธานี ซึ่งเป็นผู้ประมูลชื่อเพื่อนำรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายในการสมทบทุนบริจาคช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลนทางการศึกษาบนดอยในโรงเรียนบ้านมูเซอและผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ยากไร้

จากการศึกษาและสำรวจ ทีมวิจัยพบแหล่งที่อยู่อาศัยของบึ้งประกายสายฟ้าที่จังหวัดพังงา ในพื้นที่ป่าชายเลนไปจนถึงป่าไม่ผลัดใบในพื้นที่เนินเขา ซึ่งบึ้งประกายสายฟ้าถือได้ว่าเป็นบึ้งชนิดแรกของไทยที่พบในบริเวณที่เป็นป่าชายเลน

บึ้งประกายสายฟ้าจัดอยู่ในสกุล ชิโลบราคคิส หรือบึ้งเอเชีย ลักษณะพิเศษของมันคือ เมื่อสะท้อนกับแสงไฟแล้ว จะมีประกายสีน้ำเงินคล้ายกับสีของสายฟ้าสีน้ำเงิน ไม่เพียงเท่านั้นบึ้งชนิดนี้ยังปรากฏสีน้ำเงิน-ม่วงด้วย

ทั้งนี้ ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว สีน้ำเงินนับเป็นสีที่หาได้ยากในธรรมชาติ เกิดจากโครงสร้างระดับนาโนของเส้นขนบึ้ง ซึ่งมาจากการหักเหของแสงทำให้แสงสะท้อนพลังงานในช่วงความถี่ของแสงสีน้ำเงิน โดยไม่ได้เกิดจากกลไกที่รงควัตถุดูดซับพลังงานเหมือนกับการเกิดสีของพืชหรือสัตว์ในธรรมชาติโดยทั่วไป

นอกจากสีน้ำเงินแล้ว บึ้งประกายสายฟ้า ยังปรากฏสีม่วงในบางส่วนของร่างกายอีกด้วย นับเป็นสีที่พบได้ยากที่สุดในสิ่งมีชีวิต

บึ้งในสกุลชิโลบราคัสนี้ ที่ผ่านมามีรายงานการพบในประเทศไทยเพียง 2 ชนิดเท่านั้น บึ้งประกายสายฟ้าถือได้ว่าเป็นชนิดที่ 3 แต่ชนิดที่พบในอดีตไม่ปรากฏความแวววาวของสีที่เป็นประกายเหมือนกับบึ้งประกายสายฟ้า




ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น / เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช