“เสรีพิศุทธ์” ชื่อเดิม "เสรี เตมียาเวส" ชื่อเล่น "ตู่" เป็นนักการเมืองและอดีตข้าราชการตำรวจชาวไทย หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26 แบบบัญชีรายชื่อ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ อดีตผู้บังคับการปรามปราบ และอดีตนายตำรวจราชองครักษ์พิเศษ เจ้าของฉายา "วีรบุรุษนาแก" และ "มือปราบตงฉิน"
พรรคเสรีรวมไทย จดทะเบียนตั้งเป็นพรรคการเมือง เมื่อ 29 สิงหาคม 2556 มีนายไพบูลย์ พึ่งทองหล่อ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ต่อมาในวันที่ 26 ธ.ค. ปี 2556 คณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรกได้ขอลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะ จึงเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคโดยได้เชิญ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค
เปิดประวัติ“เสรีพิศุทธ์”
พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เดิมชื่อ เสรี เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2491 ที่จังหวัดธนบุรี เป็นบุตร นายชื้น และ นางอรุณ สมรสกับพัสวีศิริ (สกุลเดิม เทพชาตรี) มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นางสาวศศิภาพิมพ์, นายทรรศน์พนธ์ และนางสาวทัศนาวัลย์ โดยสกุล “เตมียเวส” เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2458 เลขสกุลลำดับที่ 2081 โดยพระราชทานแก่นักเรียนทหารกระบี่
การรับราชการตำรวจและการเมือง
เสรีพิศุทธ์ จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนทวีธาภิเศก หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 8 (ตท.8) และ โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน รุ่นที่ 24 (นรต.24) เคยรับราชการอยู่ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ช่วง พ.ศ. 2515-2524 ได้ต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดเดี่ยว และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 5 และเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1 ซึ่งต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมได้ทำพิธีสถาปนาให้เป็นขุนพลของประชาชน ณ ศาลาประชาคม จังหวัดนครพนม ด้วยผลงานที่เสรีพิศุทธ์ ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ จนได้รับการขนานนามว่า "วีรบุรุษนาแก"
นอกจากนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังได้รับพระราชทานรางวัล “คนไทยตัวอย่าง” รางวัล “บุคคลดีเด่นของชาติ” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รางวัล “ข้าราชการที่ประพฤติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต” จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายมหาวิทยาลัย
เขาเคยดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการปราบปราม เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อ พ.ศ. 2533 - 2534 วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2534 ได้มีผู้วางระเบิดห้องทำงานเขาขณะดำรงตำแหน่งดังกล่าว และต้องพ้นจากตำแหน่ง ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น เสรีพิศุทธ์ นัยว่า เพื่อแก้เคล็ด เนื่องจากชื่อไม่ถูกโฉลก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >>
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ (ทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าตำรวจภาค 2) ได้จับกุม และดำเนินคดีกับนายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ ผู้กว้างขวางของจ.ชลบุรี และภาคตะวันออก ในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินทิ้งขยะที่เขาไม้แก้ว จนศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกกำนันเป๊าะ
พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ มีภาพลักษณ์เป็นนายตำรวจมือปราบที่ซื่อตรง ได้ฉายาว่า "มือปราบตงฉิน" ผู้มีอำนาจในหลายรัฐบาลมักเลือกเขาให้เข้ามาสืบสวนสอบสวนคดีสำคัญที่สังคมและสื่อตั้งข้อสงสัย มีการจับกุมนักการเมือง รัฐมนตรี เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลหลายต่อหลายคน ทำให้ได้รับผลกระทบจากการเมืองบ่อยครั้ง โดยมักถูกโยกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้ควบคุมกำลัง เช่น กองวิทยาการตำรวจ หรือ ประจำกรมตำรวจ เป็นต้น
กระนั้น เขาก็ยังได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ เช่น ผู้บังคับการปราบปราม ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จเรตำรวจแห่งชาติคนแรก
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เคยได้รับแต่งตั้งให้ รักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 แทน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ที่ได้รับคำสั่งไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และได้รับการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ได้มีประกาศ ฉบับที่ 1 แต่งตั้งเขาเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
ในการสับเปลี่ยนกำลังพลครั้งแรก เขาย้ายผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.วิโรจน์ จันทรังษี ไปต่างจังหวัด ผู้ใกล้ชิดกับอดีต ผบ.ตร. พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ และอดีตนายกรัฐมนตรี ดร. ทักษิณ ชินวัตร ถูกย้ายไปตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจ ขณะเดียวกัน เขาเลื่อนยศนายตำรวจหลายนายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเขาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ พล.ต.ท.อดิศร นนทรีย์ ซึ่งเป็นอดีตผู้ช่วยใกล้ชิดของเสรีพิศุทธ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท. ถาวรศักดิ์ เทพชาตรี พี่ชายของภรรยาเขา ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท. เจตนากร นภีตะภัฏ ซึ่งสมรสกับน้องสาวของภรรยาพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
เมื่อครั้งมีการยื่นเรื่องให้ถอดพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี พล.ต.ท. ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ซึ่งปฏิเสธยื่นข้อกล่าวหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ต่อนักเคลื่อนไหวที่ยื่นเรื่องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายครอบคลุมเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น สองวันต่อมาเสรีพิศุทธ์ลดยศเขา
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2551 พ.ต.อ. ทินกร มั่งคั่ง อดีตนายเวร ที่ถูกเขาปลดออกจากราชการ ลงนามหนังสือร้องเรียนถึงสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้ลงรับหนังสือร้องเรียนทั้ง 3 ฉบับ ไว้พร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 วันรุ่งขึ้น สมัครออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และในวันเดียวกันนั้นก็ได้ออกคำสั่งย้ายเขาไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รักษาราชการแทน วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551 สมัครก็ได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 73/2551 ให้เขาออกจากราชการไว้ก่อน วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เสรีพิศุทธ์แถลงข่าวว่าตนถูกปล้นตำแหน่ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม
ต่อมาเมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้ยุติการสอบสวน และยกเลิกคำสั่งให้เสรีพิศุทธ์ออกจากราชการไว้ก่อน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553 รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 364 วัน
พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ฟ้องร้อง พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในคดีหมิ่นประมาท แต่ศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องในที่สุด
พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ อดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 8 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 24 เริ่มชีวิตราชการในพื้นที่ภาคอีสาน ที่จังหวัดนครพนม โดยมีบทบาทปราบปรามคอมมิวนิสต์ จนได้รับการยกย่องว่า “วีรบุรุษนาแก”
ในสมัยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ถูกส่งไปช่วยราชการที่ตำรวจภูธรภาค 2 ได้จับกุม “นายสมชาย คุณปลื้ม” หรือ “กำนันเป๊าะ” ในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินทิ้งขยะที่เข้าไม้แก้ว จนศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกกำนันเป๊าะ
ช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ขณะนั้นนั่งอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษา สบ.10 จนมีคำสั่งให้ดำรงตำแหน่ง รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2550 แทน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ที่ถูกย้ายช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะคณะรัฐประหารไม่ไว้วางใจ และ ในวันที่ 20 มิ.ย. 2550 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้มีประกาศแต่งตั้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เป็นสมาชิกคมช. ด้วย
ต่อมา 22 ก.ค. 2550 เกิดเหตุการณ์ชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในฐานะรักษาการผบ.ตร. ก็เข้าบัญชาการควบคุมสถานการณ์ โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นมีการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม จนได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย จนเขาเป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้ชุมนุมนปก.ในช่วงนั้นเช่นกัน
จากนั้นในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ถูกไปย้ายช่วยราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน
เส้นทางคนการเมือง พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ก้าวสู่เส้นทางการเมือง เมื่อเดือน ส.ค. 2555 ด้วยการเปิดตัวลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งนั้น พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เป็นที่ถูกจับตาเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรค แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในครั้งนั้น เขาอันดับที่ 3 สู้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหญ่ไม่ได้ แต่ก็ได้คะแนนสูงถึง 166,582 คะแนน
การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556
ในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ได้เปิดตัวแสดงเจตนาที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ในนาม "กลุ่มพลังกรุงเทพ" โดยได้เบอร์ 11 และได้รับคะแนนทั้งสิ้น 166,582 คะแนน โดยมีคะแนนเป็นอันดับสามต่อจากพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรค และอันดับหนึ่งจากผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคอีก 23 คน
ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เขากล่าวผ่านสื่อวิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลหลายครั้งหลายคราว รัฐบาลสนองด้วยการออกหมายเรียก วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 พ.อ. บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม ในข้อหากระทำการที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ
ครั้งหนึ่งในศึกเลือกตั้งปี 2562 พรรคของพล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ประกาศชัดเจนว่าส่งผู้สมัครลงทุกเขต โดยคาดหวัง 80 ที่นั่งในสภา
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 2 สมัย คือ
ในวันศุกร์ที่ 1 กันยายน 2566 พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้นายมังกร ยนต์ตระกูล เลขาธิการพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับถัดมาได้เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน
เจาะเซฟทรัพย์สิน
เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีพ้นตำแหน่ง สส.เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566
มีทรัพย์สิน 131,691,770.75 บาท มีเงินฝาก 17,632,269.27 บาท เงินลงทุน 15,244,651.48 บาท เงินให้กู้ยืม 38,000,000 บาท ที่ดิน 63 แปลง 44,650,850 บาท เรือกลเดินทะเล 1 ลำ 900,000 บาท ปืนพกสั้น 2 กระบอก พระสมเด็จวัดระฆังพร้อม สร้อยคอ 1 องค์ ไม่ทราบราคา จำวันที่ได้รับมาไม่ได้ และ งาช้าง 1 คู่ ไม่ทราบราคา จำวันที่ได้รับมาไม่ได้
ล่าสุด
สำหรับรายได้ต่อปี แบ่งเป็น เงินบำนาญ เงินเดือน สส.เบี้ยประชุมบริษัท ที่ปรึกษาบริษัท เงินเดือนองค์การสูงเคราะห์ทหารผ่านศึก และขายที่ดิน รวม 12,054,704 บาท
รายจ่ายประจำแบ่งเป็น ค่าอุปโภคบริโภค ค่าน้ำมันรถงานสังคม และบริจาคทั่วไป รวมรายจ่ายต่อปี เป็นเงิน 6,200,000 บาท
ทรัพย์สินมีอยู่ทั้งหมด 133,769,9 35 บาท แบ่งเป็นเงินสด 500,000 บาท เงินฝาก 21,521,941 บาท เงินลงทุนกว่า 15,000,000 บาท เงินให้กู้ยืม 39,080,000 บาท ที่ดิน 61 แปลง กว่า 41,717,525 บาท ยานพาหนะเป็นเรือกลเดินทะเล 900,000 บาท
สิทธิและสัมปทานอีกกว่า 14.6 ล้าน และทรัพย์สินอื่น ๆ อีก 120,000 บาท คือ ปืนพกสั้น 2 กระบอก พระสมเด็จวัดระฆังพร้อมสร้อยคอ 1 องค์ และ งาช้าง 1 คู่ไม่ทราบราคา จำวันที่ได้รับมาไม่ได้
ล่าสุด 4 กรกฎาคม 2566 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท บีจีที (มหาชน) จำกัด และเป็นที่ปรึกษา บริษัท ไดฮวดจั่น (โลหะกิจ) จำกัด