8 กันยายน 2566 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้มีการเปิดแถลงข่าว การเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม เพื่อขอรับการสนับสนุนเงิน ประจำปี 2567 วงเงินสนับสนุน 300 ล้านบาท จัดสรรโครงการเปิดรับทั่วไป 80 ล้านบาท โครงการความร่วมมือ 40 ล้านบาท
ซึ่งก็มีประเด็นน่าสนใจ สำหรับโครงการเปิดรับทั่วไป ที่นอกเหนือจากกลุ่มเป้าหมายเดิม เหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา ในปีนี้มีการพูดถึงกลุ่มบุคคล ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระบุว่า จุดยืนของกองทุน “ไม่เน้น-ไม่ปฏิเสธ” ต่อการมีส่วนร่วมของกลุ่ม LGBT โดยจะดูที่เนื้อหาโครงการ และผู้ขอรับการสนับสนุนทุนว่า เป้าหมายการผลิตสื่อ เพื่อกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้ โดยปกติหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส่วนโครงการเชิงยุทธศาสตร์จัดสรร 180 ล้านบาท ขอบเขตโครงการเน้นสร้างผลกระทบ (Impact) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก อาทิ พหุวัฒนธรรมและความหลากหลายทางสังคม รู้เท่าทันสื่อ รับมือข้อมูลบิดเบือน ประทุษวาจา และการระรานในโลกออนไลน์ การสร้างมูลค่าจาก Soft Power
ขณะเดียวกันมีการเพิ่มประเด็นใหม่ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายพอสมควรคือ การผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน ละครชุดเพื่อส่งเสริมศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และความมั่นคง ภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามัคคี และใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายได้อย่างเป็นสุข
ดร.ธนกร กล่าวว่า ในรอบ 2 - 3 ปีที่ผ่านมากองทุนสื่อฯ เอาประเด็นเป็นตัวตั้ง ในปีนี้ เราอยากได้โครงการขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพราะต้องการให้ผู้รับทุนสร้างผลงาน ที่ก่อผลกระทบทางสังคมได้ บางทีเราถูกโจมตีว่า เราให้ทุนกับบริษัทขนาดใหญ่ แต่ปรัชญาของทุนเชิงยุทธศาสตร์ เราต้องการให้เอาเงินไปทำงานแล้วเกิดผลงาน ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง
“เราอยากมีภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่องสะท้อนภาพประเทศไทย สามารถนำไปฉายต่างประเทศได้ ทุกคนเข้าถึง ทันสมัย ไม่ใช่ยัดเยียด ต้องการมืออาชีพนำเสนอที่เราเห็นแล้วเหมือน Soft Power เหมือนเราดู King The Land ของเกาหลี EP.10 ซึ่งมาถ่ายทำที่ประเทศไทย”
เร่งสร้างสมดุลระเบียบราชการ - ภาระผู้รับทุน
เป็นที่รับทราบและพูดถึงกัน ในกลุ่มคนที่ต้องการยื่นขอรับทุน แม้กระทั่งในเวทีประชุม ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ก็คือความยุ่งยาก เงื่อนไขการขอรับทุน หลักเกณฑ์การพิจารณา สิ่งเหล่านี้เป็น Dilemma ระหว่างคนทำสื่อ ไอเดียสร้างสรรค์ กับระเบียบราชการซึ่งมักจะสวนทางกัน
“งานสื่อต้องเข้าใจว่า มีความเป็นนามธรรมสูง ไม่เหมือนงานก่อสร้าง ตรวจเสปคใช้เหล็กเท่าไหร่ ขุดลึกเท่าไหร่ แต่งานสื่อมีความเป็นสังคมศาสตร์ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ทัศนคติ มุมมอง อันที่ยากอันหนึ่งที่กองทุนกำลังพิจารณาปรับปรุง คือ รายงานทางการเงิน เราคิดว่า เงินให้ไปแล้วควรพิจารณาผลลัพธ์เป็นหลัก แต่มีหลายโครงการที่ทำงานเสร็จแล้ว งานดีด้วย แต่รายงานทางการเงินไม่เรียบร้อย
ปัญหานี้เรารับรู้มาโดยตลอด กำลังหาทางแก้ไขปรับปรุง ไม่ให้เป็นภาระของผู้รับทุน สิ่งที่สำนักงานกองทุนฯ กำลังจะทำคือ อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรค แล้วไปลดทอนประสิทธิภาพ คุณภาพของการทำงาน ชิ้นงาน แล้วมีระบบตรวจสอบ ระบบติดตาม ทั้งคงความโปร่งใสไว้ไม่น้อยกว่าเดิมหรือมากขึ้นกว่าเดิม
“คนที่จะมาเขียนโครงการขอทุน ต้องไปอ่าน ม.5 ของ พรบ.กองทุน อ่านเสร็จก็ไปดูยุทธศาสตร์เราว่าเราต้องการอะไร หลายคนเสียดาย เรารู้ว่าเขาต้องการจะทำอะไร ซึ่งดีและไม่ผิด แต่ดีสำหรับ หน่วยงานอื่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการเมื่อเอากรอบของกองทุนสื่อมาจับ”
หน่วยงานเล็ก ภารกิจยิ่งใหญ่
“กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นหน่วยงานเล็ก ๆ ที่มีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งทุนมหาศาล ทุนที่ให้เราให้เทียบไม่ได้เลย แต่เราต้องการให้เป็นจุดตั้งต้น ต้องการให้คนที่มาทำซีรีย์ ได้สะท้อนคุณภาพ สะท้อนความตั้งใจ แล้วภาครัฐเห็น วันนั้นเราเชื่อว่า การสนับสนุนในเชิงนโยบายจะเกิด เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่า เงินไม่ใช่ข้อจำกัด แต่อยู่ที่ไอเดียสร้างสรรค์ เราพยายามแล้ว ลงมือทำแล้ว ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่พอใจสังคมจะตัดสินให้เราเดินต่อ”
เปิดเทคนิคเขียนโครงการพิชิตทุน
ในแต่ละปี มีผู้เสนอโครงการต่าง ๆ เพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ จำนวนมาก เมื่อมีจำนวนคู่แข่งสูง กองทุนฯ จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาโครงการต่างๆ ที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรม
คำแนะนำจาก พัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ก็คือ การตอบคำถามกับโจทย์ 5 W 1 H คือ Who-What-When-Where-Why + How ให้ได้
Who – คนขอทุนต้องรู้ว่าขอทุนจากใคร ในที่นี้คือ กองทุนสื่อฯ ก็ต้องรู้ว่า กองทุนเป็นใครให้ทุนเพื่ออะไรและต้องแนะนำตัวเองให้ได้ว่าผู้ขอทุนคือใคร ทำไมถึงเหมาะที่จะรับทุนนี้ ทีมงานเป็นใคร เหมาะที่จะรับทุนหรือเปล่า
What – ทำอะไรต้องเขียนให้ชัด ประเด็นนี้ดูเหมือนง่ายแต่ส่วนใหญ่จะตกผู้เสนอโครงการต้องประเมินสถานการณ์ที่มีคู่แข่งเป็นพันโครงการ ดังนั้นต้องเคลียร์โครงการให้ชัด เพราะส่วนใหญ่ชอบเขียนไอเดีย แต่แตกเป็นรูปธรรมไม่ได้ว่าจะทำอะไร
When – ช่วงเวลาที่จะผลิต ต้องสัมพันธ์กันกับกิจกรรม แต่ทั้งนี้ทุกอย่างต้องให้เสร็จภายใน 365 วัน
Where – สถานที่ ในการถ่ายทำหรือจัดกิจกรรม ถ้าเสนอมาแล้วคนละที่ ไม่มีการรีเสิร์จ ก็อาจถูกตัดคะแนน
Why – ทำไมถึงทำโครงการ มีแรงบันดาลใจ มี Passion อย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลโน้มน้าวกรรมการตัดสินโครงการ
How – อย่างไร ข้อมูลนี้จะเป็นตัวตัดสินว่า ผู้ขอทุนมีองค์ความรู้ มีความเชี่ยวชาญหรือไม่ โดยต้องแตกโครงการออกมาให้ชัดมีรายละเอียด ยกตัวอย่าง การถ่ายทำรายการหากมีผู้ขอทุนดำเนินโครงการเพียงคนเดียว เมื่อไปเปรียบเทียบกับโครงการลักษณะเดียวกัน แต่การทำงานมีทีมงาน ผู้ขอโครงการรายหลังมีโอกาสจะได้รับเลือกมากกว่า
สำหรับผู้สนใจ คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวใกล้ชิด กิจกรรมต่อไป จะมีการเปิดอบรมออนไลน์ เพื่อสร้างทักษะการเขียนโครงการขอรับทุนในวันที่ 26 ก.ย. 66 และจะเปิดรับข้อเสนอโครงการที่ขอรับทุนสนับสนุน ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 ต.ค. 66 ภายในเวลา 16.30 น. จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะทำงานพิจารณา และพัฒนาข้อเสนอโครงการฯ ก่อนจะประกาศผลและมอบทุนให้ภายในเดือนมีนาคม 2567
ผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม ได้ทางเว็บไซต์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ www.thaimediafund.or.th และติดตามข้อมูลข่าวสารทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โทรศัพท์ 02-273-0116-9