ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 17 ชั่วโมง
สำหรับการเดินทางที่ยาวนานของช้างไทย ที่ชื่อว่า "พลายศักดิ์สุรินทร์” ทูตสันถวไมตรี กลับมาสู่อ้อมกอดประเทศไทยที่ไปอยู่ที่ประเทศศรีลังกา นานถึง 22 ปี
“พลายศักดิ์สุรินทร์” ถือว่าเป็นช้างไทยเชือกที่ 3 ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ประเทศศรีลังกาเมื่อปี พ.ศ.2544 เพื่อนำไปฝึกใช้ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของศรีลังกา
ความโดดเด่นของ “พลายศักดิ์สุริทร์” คือ “งาอุ้มบาตร” ที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของพลายศักดิ์สุรินทร์ ตามความเชื่อของชาวศรีลังกาเชื่อว่า “ช้างงาอุ้มบาตร” คือช้างที่มีลักษณะงาขนาดยาวและโค้งเหมือนแขนพระที่อุ้มบาตร ตามความโบราณเชื่อของชาวศรีลังกา เชื่อกันว่าช้างที่มีลักษณะงาแบบนี้เหมาะกับการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระเขี้ยวแก้ว
ด้วยความที่ “พลายศักดิ์สุริทร์” มีงายาวถึง 50 ซม. ทั้งสองข้าง ถือเป็นช้างที่มีงายาวที่สุดในศรีลังกา เนื่องจากช้างในศรีลังกาส่วนใหญ่จะมีงาสั้น ทำให้หาช้างที่มีลักษณะงาอุ้มบาตรอย่าง "พลายศักดิ์สุรินทร์"ได้ยาก
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ "พลายศักดิ์สุรินทร์" ถูกใช้งานอย่างหนักด้วยการเดินในขบวนแห่กว่าเดือนละ 30 ครั้ง จนขาซ้ายด้านหน้างอเข่าไม่ได้ และมีฝีขนาดใหญ่ด้านหลังทั้งสองแห่ง ทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพมานานกว่า 10 ปี และไม่มีการรักษาอย่างเหมาะสม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >>
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางรัฐบาลไทย ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้การช่วยเหลือ พลายศักดิ์สุรินทร์ โดยมีการประสานกับทางวัดที่ดูแล ด้วยการนำออกมาพักรักษาไว้ที่สวนสัตว์ในกรุงโคลัมโบ ก่อนที่จะมีการประสานนำเครื่องบินมารับกลับสู่อ้อมกอดของแผ่นดินไทย และได้มาพักฟื้นร่างกายหลังถูกใช้งานมาอย่างหนักหน่วงในช่วงระยะเวลาร่วม 22 ปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >>
ข่าวดีที่น่าชื่นใจมากๆ เรื่องนี้ทำเอาคนรักช้างไทยน้ำตาไหลกันทีเดียว เมื่อข่าวดีมาถึง "พลายช้างศักดิ์สุรินทร์” ได้มีโอกาสกลับคืนมาสู่แผ่นดินแม่ แผ่นดินไทยอีกครั้ง โดยเดินทางสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลำปาง เพื่อรักษาอาการป่วยและฟื้นฟูสุขภาพให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม
แต่ในช่วงนี้ทางสถาบันคชบาลฯ จะยังไม่เปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชม "พลายศักดิ์สุรินทร์" เพื่อต้องการให้ช้างได้พักผ่อนภายหลังจากการเดินทางและได้ใช้เวลาเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนได้มีโอกาสได้สร้างความคุ้นเคยกับควาญช้างไทย ภาษาไทย และได้ปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่จากไปนานนับสิบปี
ย้อนรอยความเป็นมา ย้อนไปในปี 2544 รัฐบาลไทยจึงส่งช้าง 2 เชือกไปเป็นทูตสันถวไมตรี ได้แก่ พลายศรีณรงค์ และพลายศักดิ์สุรินทร์ ขณะที่ก่อนหน้านั้นในปี 2523 ประเทศไทยได้ส่งช้างเชือกแรกไปเป็นทูตสันถวไมตรีให้ศรีลังกา คือ “พลายประตูผา” (ปัจจุบันอายุ 49 ปี)
สำหรับ พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นช้างเชือกที่ 3 ที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ศรีลังกา พลายเชือกนี้เป็น “ช้างเลี้ยง” (ไม่ใช่ช้างป่า) ที่เดิมสมัยอยู่เมืองไทย มีนาย “ทองสุก มะลิงาม” ควาญช้างไทยเป็นเจ้าของผู้ดูแล
พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นช้างที่มีคชลักษณ์โดดเด่นตรงตามความต้องการของศรีลังกาเพื่อใช้ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งหลังจากถูกส่งไปอยู่ศรีลังกา รัฐบาลศรีลังกาได้โอนกรรมสิทธิ์ช้างเชือกนี้ให้กับ “วัดคันเดวิหาร” (Kande Vihara) เป็นผู้รับช่วงดูแลต่อ เพื่อให้ทำหน้าที่ในขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในงานแห่พระธาตุประจำปีของศรีลังกา ซึ่งมีเฉลี่ย 30 ครั้งต่อปี
สภาพความเป็นอยู่ ใช้ชีวิตย่ำแย่
พลายศักดิ์สุรินทร์ เดินทางจากเมืองไทยไปอยู่ที่ประเทศศรีลังกาตั้งแต่เป็นลูกช้างอายุไม่ถึง 10 ปี จนวันนี้มีอายุราว 30 ปี ถือเป็นช้างที่มีงาสวยงาม และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งหลังจากเดินทางไปศรีลังกาได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “มธุราชา” (Muthu Raja
เรื่องราวของพลายศักดิ์สุรินทร์หลังจากเดินทางไปอยู่ศรีลังกา ได้หายไปจากการรับรู้ของคนไทยนานนับ 10 ปี
2565 องค์กร “Rally for Animal Rights & Environment” (RARE) ซึ่งเป็นองค์การด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้แรงงานพลายศักดิ์สุรินทร์ที่ค่อนข้างหนัก ว่าช้างเชือกนี้ไม่ได้รับการดูแล ถูกล่ามโซ่ มีสภาพผอมโซ มีบาดแผลฝีที่สะโพก และขาบาดเจ็บ ควรได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน
หลังจากนั้นเรื่องราวของ พลายศักดิ์สุรินทร์ ได้กลายมาเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและคนไทยในวงกว้าง โดยในเดือน ส.ค. 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของพลายศักดิ์สุรินทร์ เดือน ก.ย. 2565 มีการส่งทีมสัตวแพทย์ไปตรวจสอบสุขภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์
ผลจากการตรวจสอบพบว่าพลายศักดิ์สุรินทร์มีปัญหาด้านสุขภาพจริง ควรให้ช้างหยุดการทำงานและส่งตัวกลับมารักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย โดยในเดือน พ.ย.2565 ได้มีการย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์มาดูแลในเบื้องต้นที่ “สวนสัตว์แห่งชาติศรีลังกา” หรือ “สวนสัตว์เดฮิวาลา” (Dehiwala) กรุงโคลัมโบ
จากนั้นในเดือน ก.พ.66 รัฐบาลศรีลังกาเห็นชอบ ว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ ควรได้รับการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมโดยเร่งด่วน และขอบคุณรัฐบาลไทยในความช่วยเหลือดูแลสุขภาพช้าง โดยเห็นชอบให้นำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมามารักษาอาการเจ็บป่วยที่ประเทศไทย
อีกประเด็นที่สังคมสนใจ นั่นก็คือประเด็นอาการเจ็บป่วยของพลายศักดิ์สุรินทร์ ทำให้คนไทยจำนวนมากอดเป็นห่วงช้างไทย 2 เชือกในศรีลังกา คือ พลายประตูผา และพลายศรีณรงค์ ว่า อาจได้รับการดูแลไม่ดีเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการตรวจสอบของสื่อมวลชนพบว่า พลายศรีณรงค์ได้รับการดูแลค่อนข้างดี ช้างมีสภาพอ้วนท้วนสมบูรณ์ ส่วนพลายประตูผาที่วันนี้ดูชราไปตามอายุขัย แต่ยังคงได้รับการดูแลและมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าพลายศักดิ์สุรินทร์
หลังการประสานจากรัฐบาลไทยที่นำโดย กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนรัฐบาลศรีลังกาไฟเขียวให้นำพลายพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาตัวที่เมืองไทย บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องต่างก็เดินหน้าในภารกิจนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับบ้าน โดยมีการต่อกรงขึ้นมาพิเศษเพื่อใช้ในการขนย้ายช้าง มีการฝึกซ้อมช้างเดินเข้ากรง พร้อมทั้งมีการส่งควาญช้างไทยจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ไปร่วมฝึกซ้อมทำความคุ้นเคยกับพลายศักดิ์สุรินทร์
สำหรับการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับบ้าน จะมีการเคลื่อนย้ายช้างจากสวนสัตว์เดฮิวาลา มายังสนามบินโคลัมโบ ก่อนจะนำช้างขึ้นเครื่องบิน Ilyushin IL-76 (อิลยูชิน อิล-76) เดินทางกลับสู่ประเทศไทย ณ สนามบินเชียงใหม่ ในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 2 ก.ค. 66 จากนั้นจะมีการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ไปดูแลรักษาอาการป่วยที่ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ในวันเดียวกัน
เบื้องต้นทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยได้ประกาศงดเยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์อย่างน้อยเป็นเวลา 30 วัน เพื่อเฝ้าระวังและสังเกตอาการ รวมถึงให้ช้างได้พักผ่อนฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงสร้างความคุ้นเคยกับควาญช้างไทย และปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่หลังจากห่างหายไปนานนับสิบปี ซึ่งเมื่อพลายศักดิ์สุรินทร์ทำความคุ้นเคยกับที่อยู่ใหม่ และได้รับการดูแลรักษาจนมีสุขภาพแข็งแรงทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจะประกาศเชิญชวนให้คนรักช้างและผู้สนใจได้เข้าเยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์อีกครั้งหนึ่ง (แต่จะมีการไลฟ์เรื่องราวการดูแลรักษาพลายศักดิ์สุรินทร์ให้ชมกันเป็นระยะ ๆ ผ่านทาง แฟนเพจ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang)
สำหรับการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับบ้านเกิดประเทศไทย นอกจากจะเป็นข่าวดีของคนไทย และคนรักสัตว์ทั่วโลกแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจประวัติศาสตร์ เพราะนี่เป็นเป็นครั้งที่ 2 ในการขนช้างข้ามประเทศ โดยครั้งแรกเป็นการขนช้างจากปากีสถานไปกัมพูชา
ย้อนทุกความเคลื่อนไหว ว่าด้วย "ช้างไทย"
"พลายศักดิ์สุรินทร์" หนึ่งในทูตสันถวไมตรี ไทยสู่ชาวศรีลังกา กับเรื่องราวการทูต(สัตว์) ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
วินาทีที่ "ทูตสันถวไมตรี พลายศักดิ์สุรินทร์" หรือที่ถูกเรียกในภาษาศรีลังกาว่า "มธุราชา" (Muthu Raja) หลังถูกส่งไปเป็นทูตเชื่อมสัมพันธ์ประเทศให้กับศรีลังกากว่า 22 ปี ก้าวเท้าหลังเหยียบแผ่นดินแม่ "The Motherland" สร้างความปลาบปลื้มดีใจให้กับคนไทยทั้งประเทศราวกับว่าความหนักอึ้งในจิตใจได้ถูกคลี่คลายลง เพราะคนไทยเป็นห่วงเเละลุ้นกันมาตลอด ตั้งแต่มีข่าวการนำกลับบ้านเกิด เพราะสภาพร่างกายของพ่อพลายอ่อนแอเต็มทีเเล้ว
รายงานความคืบหน้าล่าสุด "พลายศักดิ์สุรินทร์" ในตอนนี้ได้เก็บตัว พักอยู่ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) จ. ลำปาง เจ้าหน้าที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาซึ่งเป็นคืนแรก พ่อพลายศักดิ์สุรินทร์นอนหลับตามปกติ ไม่มีอาการผิดปกติ
ส่วนขั้นตอนในการดูแลต่อจากนี้ จะมีการเฝ้าระวังและสังเกตอาการ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน ภายใต้ระเบียบการควบคุมโรคระบาดสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อบางชนิด และให้การรักษาควบคู่ไปด้วย เพื่อฟื้นฟูสุขภาพและสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอีกครั้ง
ใครที่ติดตามอาการของพลายศักดิ์สุรินทร์ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จัดให้มีการไลฟ์ผ่านทางแฟนเพจ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง วันละ 2 ครั้งในเวลา 14.00 -14.30 น. และ 16.00 -16.30 น. สามารถติดตามได้ที่เพจ The Thai Elephant Conservation Center Lampang
พลายศักดิ์สุรินทร์ : การทูตสิงสาราสัตว์ ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเชื่อมสัมพันธ์
ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะสเถียร ระบุ เรื่องราวน่าเศร้าที่สะเทือนใจคนไทย เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศว่า องค์การพัฒนาเอกชนเพื่อการคุ้มครองสิทธิสัตว์ในศรีลังกา (Rally for Animal Rights & Environmnet (RARE) ที่กังวลต่อสุขภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์ จากการดูแลที่ไม่เหมาะสม และจำเป็นต่อการเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน
พลายศักดิ์สุรินทร์ อายุกว่า 30 ปี มีขนาดตัวที่ผอมแห้ง กระดูกหลังโก่งนูน ผิวหนังแห้งหยาบ งายาวถึง 50 เซนติเมตร ขาหน้าด้านซ้ายผิดปกติ งอขาไม่ได้มานานกว่า 8 ปี มีฝีหนองที่สะโพกด้านขวาและซ้าย เป็นก้อนแข็ง มีหนองภายใน พบว่ามีอาการดังกล่าวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ฝ่าเท้าบางขึ้นเพราะยืนนาน อารมณ์เซื่องซึม เครียด และตกมันได้ง่าย ผู้ดีแลตัดสินใจล่ามโซ่ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ไปทำร้ายคนอื่น
นี่จึงเป็นที่มาของการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเดินเรื่องขอให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ตรวจสอบเรื่องนี้และได้พา นายทองสุก มะลิงาม ผู้เป็นเจ้าของพลายศักดิ์สุรินทร์ไปที่ศรีลังกาด้วย
ในที่สุด 9 พฤศจิกายน 2565 จึงได้นำพลายศักดิ์สุรินทร์ไปสวนสัตว์เดฮิวา เพื่อเข้ารับการรักษาเบื้องต้นและฟื้นฟูท่ามกลางการดูแลของผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและศรีลังกา กระทั่งได้กลับมาสู่อ้อมอกแผ่นดินไทยเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2566
//
หากพูดถึงเรื่องการใช้สัตว์เป็นทูตสันถวไมตรี จะพบว่ามีสัตว์หลายชนิดมักถูกใช้เป็นตัวแทนทางการทูตในการเจริญสัมพันธไมตรีกันระหว่างประเทศ จนหลายฝ่ายตั้งคำถามกับแนวทางนี้ว่า สมควรหรือไม่ที่ใช้สัตว์เป็นทูต เพราะที่สุดแล้ว เมื่อทูตสันถวไมตรีไม่ได้รับการดูแลอย่างดี ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ?
ทำไมศรีลังกาจึงต้องขอช้างจากไทย
ข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งจากเว็บไซต์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ระบุว่า ช้างเป็นสิ่งที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ในกรณีของไทยกับศรีลังกา ทั้งสองประเทศมีช้างเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าเหมือนกัน แต่สิ่งที่เฉพาะของศรีลังกาก็คือ ช้างศรีลังกาเป็นพันธ์ E. m. maximus มีรูปร่างใหญ่ ตัวสีดำ ใบหูใหญ่และมีสีกระจายมากบริเวณใบหู ใบหน้า งวงและลำตัว มักจะเป็นช้างสีดอหรือไม่มีงา เป็นช้างที่มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติเฉพาะในประเทศศรีลังกาเท่านั้น
ช้างเอเชียพันธุ์ศรีลังกาตัวผู้ หรือช้างพลายส่วนใหญ่จะเป็นช้างสีดอ คือ ไม่มีงาคงมีแต่ขนายซึ่งเป็นงาขนาดเล็กโตประมาณเท่าข้อมือ (เส้นรอบวงประมาณ 15-20 เซนติเมตร) และพันธ์นี้ในช้างเพศผู้จะพบว่ามีงาเพียง ร้อยละ 10 เท่านั้น สำหรับช้างไทย เป็นพันธ์ E. m.indicus เป็นช้างที่เพศผู้จะมีงา และงายาวถึงยาวมาก
นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมศรีลังกาจึงมีความต้องการที่จะได้ช้างที่มีงายาว สวยงามเพื่อนำมาใช้ในพิธีกรรมในเทศกาลทางศาสนาซึ่งถือว่าเป็นความสง่างาม สมเกียรติแก่แผ่นดินและสถาบันกษัตริย์ในสมัยโบราณ ซึ่งเท่าที่มีข้อมูลก็ไม่ได้ขอเฉพาะช้างไทยแต่ช้างจากประเทศต่างๆ หลายประเทศ เช่น บังคลาเทศ แอฟริกา อินเดียเป็นต้น
การทูตสิงสาราสัตว์ จากสิ่งของมีค่าสู่สิ่งมีชีวิต
หากใครเคยดูละครที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก็คงคุ้นชินกับการทูตที่ในอดีตเเละจนถึงปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งการเจรจาต่อรอง หรือแม้การสร้างข้อตกลงร่วมกันบางอย่าง ที่เคยได้ดู ได้ยิน ก็คงจะมีเรื่องการแลกเปลี่ยนสิ่งของมีค่า เช่น เงินทอง ต้นไม้ทอง สิ่งของมีค่าของรัฐนั้นๆ หรือที่เรียกว่า เครื่องราชบรรณาการ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพื่อผูกมิตรไมตรีหรือแสดงความเคารพ
ปัจจุบันก็ยังมีการแลกเปลี่ยนทางการทูตด้วยวิธีนี้อยู่เเต่เราจะพูดถึง การใช้สัตว์เชื่อมความสัมพันธ์ ด้านล่างนี้คือสัตว์ที่ดีที่สุดบางส่วน ที่ทำหน้าที่เป็นการแลกเปลี่ยนทางการทูต
การทูตลูกหมา โกมีและซงกัง ของขวัญสันติภาพ เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้
ปี 2561 คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ มอบให้เป็นของขวัญเป็นสุนัขพันธุ์พุงซาน (Pungsan) จำนวน 2 ตัว แก่ "มุนแจอิน" ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หลังจากที่มุนและภริยาเดินทางเยือนกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือเมื่อเดือน ก.ย. เพื่อสานต่อการเจรจาเพื่อสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีครั้งที่ 3 ซึ่งบางทีอาจเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างสองประเทศ แต่เเล้วนายมุนผู้นิยมเสรีได้เลิกเลี้ยงสุนัขเหล่านี้ โดยอ้างถึงการขาดการสนับสนุนทางการเงินสำหรับสุนัขจากรัฐบาลอนุรักษ์นิยม ชีวิตของสุนัขจบลงที่สวนสัตว์ในเกาหลีใต้ ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลท้องถิ่นในเมืองควังจูทางตอนใต้เมื่อเดือนธันวาคม 2565
การทูตแพนด้า พลังขนฟูสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แพนด้าเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพและมิตรภาพสำหรับชาวจีน สัตว์ชนิดนี้ถูกใช้โดยรัฐบาลเพื่อเพิ่มผลทางการเมืองเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของ "การทูตแพนด้า" ตั้งแต่ปี 2500 จีน ได้มอบแพนด้าในประเทศให้กับประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นการเชื่อมมิตรภาพ แฝงนัยของ Soft Power ด้วย
การทูตแพนด้าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังในศตวรรษที่ 7 จักรพรรดินีบูเช็กเทียนส่งแพนด้าเป็นของขวัญทั้งหมด 2 ตัวไปญี่ปุ่น
ในปี 1957 โดยปักกิ่งได้มอบ "ผิงผิง Ping Ping" ให้กับสหภาพโซเวียตในอีดตเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมกัน ตามมาด้วยของขวัญที่คล้ายกันที่มอบให้กับสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือในฐานะ "สัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและความปรารถนาดี" ในปี 2525 รัฐบาลได้ยกเลิกนโยบายการให้แพนด้าเนื่องจากสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ การทูตที่น่ากอดของจีนเปลี่ยนไปและเริ่มถูกยืมไปยังบางประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายและเงื่อนไขประกอบที่ประเทศปลายทางต้องปฏิบัติตาม เช่น สวนสัตว์ต่างประเทศต้องจ่ายเงินประมาณ 500,000 - 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีให้กับจีน ลูกหมีแพนด้าก็ยังถือเป็นทรัพย์สินของจีน
ผู้นำมาดเข้มแห่งรัสเซีย "วลาดิเมียร์ ปูติน" ใจละลายเมื่อได้ของขวัญวันเกิดเป็นน้องหมา
ปี 2560 ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียได้รับของขวัญวันเกิดวัย 65 ปีเป็นลูกสุนัขสายพันธุ์ Alabai จากประธานาธิบดี กูร์บันกูลือ เบร์ดือมูฮาเมดอว์ ของเติร์กเมนิสถานเพื่อกอบกู้ความสัมพันธ์กับรัสเซียที่หายไปในตลาดก๊าซของประเทศ
ผลกระทบทางการทูตของสุนัขตัวนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่รัสเซีย มีแผน จะกลับมานำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเติร์กเมนิสถานในปีถัดไป (Russia To Start Importing Gas From Turkmenistan Again Next Year, Gazprom Says) โดยพื้นฐานแล้วปูตินเป็นคนรักสุนัขและการมาเยือนของเติร์กเมนิสถานคงไม่ใช่แค่ให้ของขวัญปูตินเป็นแน่
การทูตโคอาลา ทูตน้อยกลอยใจของออสซี่
ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด G-20 ที่นครบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย นายโทนี่ แอ็บบ็อต รัฐมนตรีออสเตรเลีย นำหมีโคอาล่า สัตว์ท้องถิ่นที่มีเฉพาะในประเทศของมาเป็นเครื่องมือทางการทูต
ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมอย่างตึงเครียด โทนี่ แอ็บบ็อต รัฐมนตรีออสเตรเลีย พาผู้นำชาติ G20 ไปอุ้มหมีโคอาล่าถ่ายรูปกัน ตั้งแต่ ปูตินแห่งรัฐเซีย ประธานาธิบดีบารัก โอบามา นางเผิง หลี่หยวน สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของจีน พากันเข้าแถวรออุ้มเจ้าหมีโคอาลากันอย่างสนุกสนาน
ความสำคัญของช้างในประเทศไทย
ช้างมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทยมาตั้งแต่โบราณ จุดเริ่มต้นของอารยธรรมไทยตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 13 นั้น ช้างเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน
สำหรับชาวไทย ช้างเป็นสัตว์ชั้นสูง มีความฉลาดและคู่ควรกับการดำรงตำแหน่งเคียงข้างพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะช้างเผือกที่ได้รับเลือกให้เป็นช้างในพระราชพิธีต่าง ๆ เพราะเป็นช้างที่หายากและมีสถานภาพที่ศักดิ์สิทธิ์
ช้างในการทำศึกสงคราม
ด้วยขนาดและพละกำลังมหาศาล ช้างจึงถูกใช้ออกรบในสมรภูมิกับข้าศึก การที่ช้างสามารถบรรทุกทหารและออกวิ่งด้วยความเร็วถึง 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำให้ช้างได้รับการโจษขานว่าเป็นกองกำลังอันน่าพรั่นพรึงของกองทัพ โดยเฉพาะรูปลักษณ์ที่ใหญ่มหึมา ความเร็ว ความแข็งแกร่งและความสามารถในการทำลายทุกสิ่งกีดขวางในสมรภูมิ
ช้างที่ได้รับเลือกให้พระมหากษัตริย์ทำยุทธหัตถีมักเป็นช้างพลายที่มีขนาดใหญ่และมีกะโหลกกว้าง มีงายาวและแหลมคมสามารถใช้โจมตีศัตรูได้
ช้างกับพระพุทธศาสนา
มีเรื่องราวของช้างในพุทธประวัติและพุทธชาดก ทำให้ช้างได้กลายเป็นสัตว์ที่มีสถานะศักดิ์สิทธิ์ ช้างยังมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู โดยมีเทพที่หลายคนยกย่องบูชา เช่น พระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทพผู้มีเศียรเป็นช้างที่ให้โชคลาภและความสำเร็จ และช้างเอราวัณหรือไอราวตา ซึ่งเป็นช้างเผือกที่มีสามเศียรเป็นพาหนะของพระอินทร์ โดยเชื่อว่าจะนำพรมาให้
ช้างสำหรับแรงงานและเป็นพาหนะในการคมนาคม
ช้างเป็นประโยชน์สำหรับชาวไทยเป็นอย่างมาก ด้วยขนาดใหญ่และแข็งแรง ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ช้างถูกใช้สำหรับงานในครัวเรือนและถือเป็นแรงงานสำคัญในการเกษตรกรรมและงานก่อสร้าง เช่น การใช้ช้างลากคันไถในการเพาะปลูก การบรรทุกสินค้าจำนวนมาก และการลากไม้ซุงในอุตสาหกรรมป่าไม้ ช้างเป็นพาหนะหลักในการขนส่งและคมนาคมในประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ โดยต่อมาการใช้งานของช้างได้ลดลงเมื่อมีการเริ่มใช้ยานยนต์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19
Tikiri อดีตช้างในศรีลังกา ที่ถูกใช้งานแม้มันจะมีอายุมากแล้ว ตอนนี้เจ้า Tikiri ได้จากโลกไปแล้วแต่เรื่องราวของมันยังถูกพูดถึงจนปัจุบัน
ภายใต้ผ้าคลุมอันสวยหรูนั้นเผยให้เห็นร่างกายของช้างขนาดใหญ่ที่ผอมแห้ง ไม่เหมือนกับช้างทั่วไป แต่มันยังคงทำหน้าที่เดินเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรในงาน Esala Perahera เทศกาลเฉลิมฉลองทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่ในประเทศศรีลังกา
ขอขอบคุณที่มาข้อมูลจาก เพจสำรวจโลก
อัปเดตข้อมูลล่าสุด
“ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์” จะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังและสังเกตอาการ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน ภายใต้ระเบียบการควบคุมโรคระบาดสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อบางชนิด แต่สามารถติดตามการเดินทางของพลายศักดิ์สุรินทร์ ได้ที่อาคารกัลยาณิวัฒนาการุณย์ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง หรือ
การไลฟ์ผ่านทางแฟนเพจ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang (https://www.facebook.com/elephantcenter/) และจัดทำคลิปวิดีโอ เพื่อนำเสนอเรื่องราวการดูแลรักษาพลายศักดิ์สุรินทร์ตลอดระยะเวลา 30 วันนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >>
อีกหนึ่งบทความ บทกลอนที่น่าสนใจบนโลกออนไลน์ ที่ชาวเน็ตชื่นชม จึงขอหยิบยกมาฝากกันตรงนี้
สลักรักษ์ศักดิ์สุรินทร์
หอมกลิ่นมาตุภูมิ
๐ กลับบ้านแล้ว พลายแก้วเอ๋ย
บ้านที่เคยลืมตาอยู่อาศัย
มาแต่แรกภิรมย์ ปฐมวัย
แล้วจากไปนานนับจนกลับมา
๐ ไปเป็นทูตสันถวไมตรี อยู่ที่อื่น
ไปกล้ำกลืนการงานอย่างหาญกล้า
ผ่านกี่ความระทมขมอุรา
ใครจะเห็นน้ำตาดั่งวารี
๐ จบหน้าที่ ที่พ่อทำอย่างล้ำเลิศ
อิสรภาพก่อเกิดนับแต่นี้
มาตุภูมิมาตาผู้ปรานี
มอบฤดีพลังรักศักดิ์สุรินทร์
๐ ขอต้อนรับกลับถิ่นแผ่นดินแม่
ทุกบาดแผลอันขมขื่น ฝืนถวิล
พลังโศกทั้งปวงในดวงจินต์
พลังไทยทั้งแผ่นดินจะเยียวยา
เครดิตดีๆ จากเพจดีๆ
..........เพลงผ้า ปรพากย์
๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖
ปล.ขอขอบคุณ คุณ กัญจนา ศิลปอาชาและทีมงานทุกคน
ที่ประสานนำพ่อพลายกลับแผ่นดินไทยนะคะ🙏