จากกรณีถังดับเพลิงระเบิดภายในโรงเรียนราชวินิตมัธยม ขณะทำการฝึกซ้อมดับเพลิง เป็นเหตุให้นักเรียนชายชีวิต 1 ราย และ ได้รับบาดเจ็บประมาณ 8 ราย เบื้องต้นทราบว่า สถานีดับเพลิงและกู้ภัยสามเสน เป็นผู้เข้ามาทำการซ้อมดับเพลิง มีถังดับเพลิงนำมากว่า 10 ถัง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ "อาจารย์อ๊อด" อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ปกติถังดับเพลิงสีแดง จะบรรจุคาร์บอนไดออกไซต์อยู่ด้านใน กับผงเคมีช่วยดับไฟ ปกติถังสีแดงจะทนต่อแรงดันประมาณ 126 กิโลกรัม ต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ถ้าแรงดันมากกว่านี้ จะเกิดการฉีกขาดได้
การระเบิดเกิดขึ้น แสดงว่ามีแรงดันสูง เหตุที่แรงดันสูงแล้วทำให้เกิดการฉีกขาดและระเบิด มี 2 สาเหตุ 1.ถังเก่าไม่มีการดูแล ทำให้เกิดสนิม ภาชนะเหล็กด้านนอกไม่ทนต่อแรงดัน ที่ขยายจากด้านใน ระหว่างการใช้มีการปลดปล่อยคาร์บอนฯ และสารเคมีดับเพลิงไปบางส่วน แต่แรงดันยังสูงอยู่ ส่งผลทำให้เกิดการฉีกขาดได้
ทั้งนี้ ถ้ามีการบรรจุใหม่ ในถังดับเพลิงเก่า หากใช้งานพ่นไปแล้วอัดแรงดันมากกว่าที่กำหนด เกิดการเสี่ยงอันตราย หรือถ้าถังอยู่ในจุดที่ความร้อนสูง จะเกิดการขยายตัว เช่น ตากแดด ในภาพเห็นถังดับเพลิงวางตากแดดเยอะ จะทำให้อากาศด้านในเกิดการขยายตัว ถ้ามีมากกว่ากำหนด สามารถทำระเบิดได้ทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุมีการแชร์ภาพภายในถังดับเพลิงที่ระเบิดดังกล่าวตามโซเชียลมีเดีย ถูกฉีกเป็นแนวยาว ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นถังดับเพลิงเก่าหรือไม่ โดยเรื่องนี้ต้องรอให้ทางกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ให้รายละเอียดอย่างเป็นทางการ