svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ครม.จัดให้แล้ว เพิ่มเงิน UCEP ค่าดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เช็กดีเทลตรงนี้ 

ข่าวดีสำหรับคนไทย หลังครม. เคาะให้เพิ่มค่าดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ผ่านค่าธรรมเนียมแพทย์ และปรับรายการยา ลดปัญหาเบิกจ่ายยา

อีกหนึ่งสิทธิดีๆ ที่คนไทยทุกคนมี แต่ไม่ค่อยรู้ ทั้งนี้ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิรักษาฟรีไม่ต้องสำรองจ่าย มาทบทวน มาทำความรู้จัก UCEP และ UCEP Plus กันอีกสักครั้ง !!

อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหากเกิดขึ้นกับเราหรือคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะที่ไหน เมื่อไร รู้หรือไม่ว่า เราสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลฟรีได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศไทยเลย

โดยสิทธินั้นมีชื่อว่า UCEP ดังนั้นเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง NationOnline ชวนคอข่าวเนชั่นออนไลน์ มาร่วมรู้จักสิทธิ UCEP ว่าคืออะไร เจ็บป่วยฉุกเฉินกรณีไหนที่เข้าเกณฑ์ UCEP บ้าง ?

UCEP คืออะไร
          
UCEP คือ นโยบายหนึ่งของรัฐบาล โดย UCEP ย่อมาจาก Universal Coverage Emergency Patients หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" ดังนั้นแม้จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่เราไม่มีสิทธิอะไรเบิกได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เราก็สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้

เนื่องจาก UCEP มีขึ้นมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิในการเข้าถึงการบริการอย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ UCEP จะคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมง หรือเมื่อผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤตแล้ว อย่างไรก็ตาม สิทธิ UCEP จะคุ้มครองเฉพาะกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเท่านั้น 

ครม.จัดให้แล้ว เพิ่มเงิน UCEP ค่าดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

ครม.จัดให้แล้ว เพิ่มเงิน UCEP ค่าดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) คือ สิทธิการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลใดก็ได้ ที่ใกล้ที่สุดฟรี ไม่เกิน 72 ชั่วโมง จนกว่าผู้ป่วยจะพ้นภาวะวิกฤต และสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย 

อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ใช้สิทธิ UCEP ได้ เช็กหลักเกณฑ์ UCEP ที่ระบุว่า "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" จะคุ้มครองในกรณีเจ็บป่วยดังต่อไปนี้

  1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
  3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
  4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง
  5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
  6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

 

ล่าสุดในวันนี้ (17 ม.ค. 2566) น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ฉบับที่ 4 จำนวน 2 รายการ คือ การจัดทำรายการยา และค่าธรรมเนียมแพทย์ 

ครม.จัดให้แล้ว เพิ่มเงิน UCEP ค่าดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เช็กดีเทลตรงนี้ 

ครม.จัดให้แล้ว เพิ่มเงิน UCEP ค่าดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
การจัดทำรายการยา 

หมวดที่ 3 ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด โดย ปรับจากเดิมที่กำหนดตามชื่อการค้า (Trade name) ของยาทั้งหมด ดำเนินการปรับเป็น 2 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 ยาต้นแบบ (Original drug) ให้ระบุในบัญชีแนบท้าย โดยใช้ทั้ง 2 ชื่อ คือ ชื่อสามัญทางยา (Generic name) และชื่อการค้า (Trade name) จำนวน 227 รายการ
ประเภทที่ 2 ยาสามัญ (Generic drug) ให้ระบุในบัญชีแนบท้าย โดยใช้เฉพาะชื่อสามัญทางยา (Generic name) เพียงอย่างเดียว จำนวน 1,060 รายการ

โดยเมื่อปรับปรุงแล้ว จะคงเหลือรายการยาในบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ UCEP รวมทั้งสิ้น 1,287 รายการ และช่วยแก้ปัญหาการเบิกจ่ายยา เนื่องจากชื่อทางการค้า และชื่อตัวยาสามัญ

ค่าธรรมเนียมแพทย์ 

หมวดที่ 12 ค่าบริการวิชาชีพ 

โดยปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นประมาณ 30% ซึ่งจะส่งผลให้ค่าบริการผู้ป่วย UCEP ในภาพรวมเพิ่มขึ้น 13.5% โดยค่าบริการทางการแพทย์ ได้แก่ ค่าตรวจวินิจฉัยและทำหัตถการโดยแพทย์ เช่น 

  • การเย็บแผลฉีกขาดหรือบาดแผลของหนังศีรษะ ปรับค่าธรรมเนียมจากเดิม 6,000 บาท เป็น 9,000 บาท 
  • การซ่อมแซมหลอดเลือดแดงโป่งพองในสมอง ปรับค่าธรรมเนียมจากเดิม 60,000 บาท เป็น 90,000 บาท 
  • การใส่ท่อช่วยหายใจ ปรับค่าธรรมเนียมจากเดิม 1,500 บาท เป็น 2,250 บาท 


ประชาชนที่จะใช้สิทธิ UCEP ได้ ต้องเป็นผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ และเป็นโรงพยาบาลนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ ไม่ใช่โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม หรือกรมบัญชีกลาง

เราจะใช้สิทธิ UCEP ได้อย่างไร
เช็กขั้นตอนในการใช้สิทธิ UCEP มีดังนี้

          

  • ตรวจสอบสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลที่ตนเองมี โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้ ณ โรงพยาบาลทุกแห่ง หรือสำนักงานเขต หรือโทร. 1330 สายด่วน สปสช. เพื่อสอบถามสิทธิการรักษาพยาบาลของเราได้
  • กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ และเป็นโรงพยาบาลนอกคู่สัญญากับโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิ ให้แจ้งโรงพยาบาลรับทราบว่าขอใช้สิทธิ UCEP
  • โรงพยาบาลจะทำการประเมินอาการผู้ป่วยตามหลักเกณฑ์ของ UCEP ทว่าหากมีปัญหาในการคัดแยก ให้ปรึกษาศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่หมายเลข 0-2872-1669
  • เมื่อโรงพยาบาลประเมินอาการผู้ป่วยแล้วจะแจ้งผลการประเมินให้กับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยรับทราบ
  • หากเข้าเกณฑ์ UCEP ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการตามระบบ UCEP ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมง หรือเมื่อพ้นภาวะวิกฤต
  • ในกรณีที่ผลการประเมินไม่เข้าหลักเกณฑ์ UCEP ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเอง หากต้องการรักษาในโรงพยาบาลเดิมที่ตัวเองไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลใด ๆ


UCEP รักษาฟรี 72 ชั่วโมงเท่านั้นหรือไม่ ?
          
ตามเงื่อนไขของ UCEP ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลนอกเครือข่าย ได้ฟรีภายใน 72 ชั่วโมง โดยนับจาก สพฉ. รับผู้ป่วยเข้าระบบ UCEP แล้ว สพฉ. จะดำเนินการแจ้งให้กองทุนเจ้าของสิทธิทราบโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วยให้ดำเนินการรับย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ระบบปกติให้ทันภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยก็จะได้ใช้สิทธิรักษาตามที่ตนมีในโรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิการรักษาโดยตรง
 
ส่วนในขั้นแรกที่เข้ารักษา ณ โรงพยาบาลเอกชน ภายใน 72 ชั่วโมง หรือหลังพ้นภาวะวิกฤต ค่าใช้จ่ายในส่วนนั้น สพฉ. จะเป็นคนดูแลให้ทั้งหมด ผู้ป่วยไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทว่าการเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นต้องเข้าเกณฑ์ 6 ข้อข้างต้น หรือแล้วแต่แพทย์และทาง สพฉ. จะประเมินอาการว่าเข้าข่ายเบิก UCEP ได้หรือไม่ 

เปิดคำถามคาใจ หากโรงพยาบาลต้นสังกัดไม่สามารถรับตัวไปรักษาต่อได้ ต้องทำอย่างไร
ในกรณีที่โรงพยาบาลต้นสังกัดสิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเกิดความขัดข้อง ไม่สามารถรับตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อได้ เคสนี้ทางศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. จะแจ้งไปยังกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินการตามเงื่อนไขของกองทุนนั้น ๆ ต่อไป
 

อีกข้อคาใจ UCEP Plus คืออะไร
         
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปรับเกณฑ์ใหม่ UCEP Plus กรณีโควิด 19 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่ปรับลดระดับโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยผู้ป่วยโควิดที่จะใช้สิทธิ UCEP Plus ต้องอยู่ในกรณีฉุกเฉินวิกฤต (ผู้ป่วยสีแดง) เท่านั้น

อาการแบบไหนเข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉิน UCEP Plus

สำหรับผู้ป่วยโควิดเข้าเกณฑ์ UCEP Plus ต้องมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นบวก ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

1. ภาวะหัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า ซึมลง (เมื่อเทียบกับระดับความรู้สึกเดิม) หรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยก

2. มีอาการไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส มากกว่า 24 ชั่วโมง หรือหายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่ หรือออกซิเจนในเลือดเมื่อแรกรับน้อยกว่า 94% หรือมีระดับออกซิเจนลดต่ำลงกว่าภาวะปกติ 3% เมื่อออกแรง หรือโรคประจำตัวเปลี่ยนแปลงรุนแรง หรือจำเป็นต้องรับการติดตามใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือในเด็กมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือกินอาหารน้อยลง หรือผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงตามดุลยพินิจของแพทย์

3. มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย คือ เหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น 
            

  • อายุมากกว่า 60 ปี 
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ 
  • ​​ไตเรื้อรัง 
  • ​​​โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด
  • ​​​​โรคหลอดเลือดสมอง 
  • ​เบาหวานที่คุมไม่ได้ 
  • ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม 
  • หญิงตั้งครรภ์ 
  • ​​​​​​​ตับแข็ง 
  • ​​​​​​​ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร 
  • หรืออื่น ๆ ตามดุลยพินิจของผู้คัดแยก

เราคนไทย-จะใช้สิทธิ UCEP Plus ได้อย่างไร
ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว ถือเป็นกรณีฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) สามารถรักษาฟรีทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน


นับเป็นสิทธิประโยชน์ดี ๆ ในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินและวิกฤตจริง ๆ อย่าลืมว่าเราสามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ ดังนั้น หากเกิดอาการเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือ โทร.1669 สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เลย

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565