ที่สุดของสายมู กับ พิธีนวราตรี และงานแห่ประเพณี เนื่องใน “วันวิชัยทัสมิ” ประจำปี 2565 เป็นงานประจำปีของ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) มีขึ้นทุกปี ในปีนี้ ในช่วง 1-9 ค่ำเดือน 11 ของทุกๆ ปี หรือประมาณ เดือนตุลาคม จะมี พิธีนวราตรี เพื่อบูชาพระแม่อุมาเทวี ครั้งยิ่งใหญ่ เป็นพิธีที่เก่าแก่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพระเวท มีพิธีบูชารวม 10 วัน 10 คืน พร้อมกันทั่วโลก รวมไปถึง วัดแขก สีลม แห่งนี้ด้วยค่ะ โดยในปีนี้ พิธีนวราตรี 2565 จะจัดขึ้นระหว่างที่ ตรงกับวันที่ 25 กันยายน จนถึง 7 ตุลาคมนี้
และไฮไลท์สำคัญ ในวันสุดท้ายของงาน จะมีการอัญเชิญองค์เทวรูปพระแม่อุมาเทวี และเทวรูปองค์อื่นๆ ออกมาแห่บนถนนสีลม โดยขบวนแห่จะตั้งขบวนที่บริเวณหน้าวัดพระศรีมหาอุมาเทวี ฝั่งถนนปั้น โดยแต่ละปีจะมีผู้ศรัทธาเข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนหลายพันคน
“พิธีนวราตรี” Navaratri เป็นเทศกาลบูชาพระแม่ทุรคา และพระแม่ปารวตีในภาคปางต่าง ๆ เก้าปาง เป็นเทศกาลสำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งในรอบปีตามปฏิทินฮินดู รวมไปถึงชาวอินเดียโพ้นทะเลที่อยู่ตามประเทศต่างๆ ของโลกก็ร่วมจัดงานเฉลิมฉลองกัน รวมถึงในไทยเองด้วย ซึ่งคำว่า นวราตรี ก็แปลตรงตัวได้ว่า "เก้าคืน" ในภาษาสันสกฤต แต่จัดจริงเป็นเวลา 10 วัน วันที่สิบมักจะเรียกว่าเป็นวันวิชยาทศมี หรือ "ทศหรา" ซึ่งเป็นวันที่สำคัญสุดของเทศกาลนี้
เทศกาลนี้จะจัดขึ้น 2 ครั้งต่อปี แต่ “นวราตรี” ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจะเป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับการบูชาพระแม่ทุรคา ซึ่งแม้จะจัดกันทั้งประเทศ แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ภูมิภาค
เปิดตำนานของ “นวราตรี”
ที่มาของ นวราตรี นั้นมีอยู่หลากหลายแตกต่างกันออกไปมาก โดยหลักแบ่งได้เป็น 3 ตำนาน ดังนี้
• แถบอินเดียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่าพระแม่ทุรคาทรงปราบอสูรร้ายชื่อมหิษาสูร และนำความสงบสุขกลับคืนสู่มวลมนุษย์
• บางส่วนในอินเดียใต้ เชื่อว่าเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระแม่ทุรคาหรือบางทีก็พระแม่กาลี ตามแนวคิดศักติว่า เทวีมาหาตมยัม (Devi Mahatmyam) คือพลังสูงสุดในจักรวาลอันมีรูปเป็นหญิง
• แถบตะวันออก เช่น พิหาร โอริสสา เบงกอลตะวันตก อัสสัม นับว่าเทศกาลนวราตรีเป็นเทศกาลเดียวกับทุรคาบูชา ซึ่งใกล้เคียงกับที่ชาวไทยคุ้นเคยที่สุด ตำนานของเทศกาลนี้คือ มหิษาสูรเป็นอสูรดุร้ายที่ได้รับพรจากพระพรหมว่า บุรุษทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นเทวดา มนุษย์หรืออสูรก็ไม่อาจสังหารตนได้ ด้วยความกำเริบในอำนาจจึงออกสร้างความวุ่นวายไปทั่ว ในที่สุดปวงเทพก็อัญเชิญพระแม่ทุรคามาปราบ มหิษาสูรจึงต้องถูกสังหารด้วยสตรีเพศที่ตนเองเคยมองข้ามนั่นเอง
งานนี้จัดถึง 9 คืน การจะจัดงานโดยไม่มีความแตกต่างเลยก็ดูกระไรอยู่ ฉะนั้นแต่ละคืนชาวฮินดูก็จะบูชาเทวีทุรคาทั้งเก้าปาง หรือ นวทุรคา ดังต่อไปนี้
1. ปางไศลบุตรี (shailputri) ปางพระปารวตี ผู้เป็นธิดาของพระหิมวัต ผู้เป็นใหญ่ปกครองภูเขาหิมาลัย
2. ปางพรหมจาริณี (bramcharini) ปางที่พระอุมาออกบำเพ็ญตบะเพื่อบูชาพระศิวะ กระทั่งเป็นที่พอพระทัย จึงวิวาห์ด้วย
3. ปางจันทราฆัณฐ์ (chandraghanta) ปางของพระทุรคาที่ทรงปราบอสูร ฆัณฑาและนำสันติสุขกลับคืนมาสู่โลก
4. ปางกูษมัณฑา (kushmanda) ปางที่มีรัศมีเปล่งปลั่งในสถานะผู้สร้างสรรค์จักรวาล
5. ปางสกันธ์มาตา (skandmata) ปางอุ้มพระสกันธ (ขันธกุมาร) ไว้บนตัก แสดงถึงความรักของมารดาที่มีต่อบุตร
6. ปางกาตยะยานี (kaatyayani) ปาง 4 กร แห่งการทำลายมารร้ายในจิตใจ ประทานสุขภาพที่แข็งแรงแก่สาวก
7. ปางกาลราตรี (kaalratri) ปางที่มีผิวดำ หมายถึงการทำลายซึ่งอวิชชา ความโง่เขลาผู้อยู่เหนือการเวลา
8. ปางมหาเคารี (mahagauri) ปางประทานพรให้สาวกประสบแต่ความสุขสวัสดิ์มงคล
9. ปางสิทธิธาตรี (siddhidatri) ปางประทานโอกาสให้เหล่าเทพ ฤาษี สิทธา เทวดา คนธรรพ์ อสูร ยักษ์ สาวกที่เข้าเฝ้า
ที่มา : พราหมณ์พิธี พราหมณ์ชาคริต สอนวงษา
ทั้งนี้ การบูชาในแต่ละพื้นที่ก็อาจแตกต่างกันออกไป และไม่จำกัดว่าจะบูชาแค่พระแม่ทุรคาเท่านั้นก็ได้ อาจรวมถึงเทพและเทวีองค์อื่น ๆ ด้วย เช่น พระแม่ลักษมี พระคเณศ พระแม่สรัสวตี เป็นต้น นอกจากการบูชาเทวีแล้ว ชาวฮินดูยังฉลองด้วยการเต้น ดันดิยาราส (Dandiya-raas) หรือรำกระทบไม้ โดยถือไม้สั้นๆ คนละคู่ ตีกระทบกันเป็นวงด้วย
เปิดที่มา “นวราตรี” คืออะไร
นวราตรี หรือ ดูเซร่า เป็นพิธีการเก่าแก่สืบเนื่องยาวนานมาตั้งแต่สมัยพระเวท เป็นเทศกาลสำคัญของชาวฮินดู ที่ร่วมกัน บูชา พระแม่อุมาเทวี (พระแม่ทุรคา) ในปางต่าง ๆ ทั้ง 9 ปางอย่างยิ่งใหญ่ เป็นเวลา 9 วัน
ช่วงสำคัญอยู่ที่วันสุดท้ายของงาน คณะพราหมณ์จะอัญเชิญเทวรูป พระแม่อุมาเทวี (พระแม่มารีอัมมัน) และเทวรูปองค์อื่น ๆ ออกมาแห่บนถนนสีลม ไปรอบ ๆ เมือง
เป็นขบวนแห่ยิ่งใหญ่ มีผู้ศรัทธาเข้าร่วมงานกว่าพันคนเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตั้งขบวนที่บริเวณหน้า วัดพระศรีมหาอุมาเทวี ฝั่งถนนปั้น
ผู้มาร่วมงานจะเตรียม น้ำมะพร้าว ไว้ชำระล้างพื้นถนนให้สะอาด ขณะขบวนแห่เทวรูปพระอุมาเทวีผ่านไป
ในประเทศไทย จะมีการจัดงานขึ้นที่ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม), วัดวิษณุ, วัดเทพมณเฑียร และวัดหรือโบสถ์ฮินดูทั่วประเทศ
เฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ 9 วัน 9 คืน แด่องค์พระแม่อุมาเทวี
พระแม่อุมาเทวี ทรงเป็นมารดาแห่ง พระพิฆเนศ เป็นชายาแห่ง พระศิวะ มหาเทพผู้ทำลายโลก 1 ใน 3 แห่ง
พระแม่อุมาจึงนับว่าเป็น 1 ใน 3 แห่ง พระตรีศักติ หมายถึงพระแม่ทั้งสาม ได้แก่ พระแม่อุมา พระแม่ลักษมี พระแม่สรัสวตี ด้วย
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี เป็นเทวสถานในลัทธิศักติ นับถือเทวีเป็นหลัก เมื่อยามที่พระองค์เสวยร่างเป็น พระแม่อุมา เจ้าแห่งความเมตตากรุณา ผู้คนนิยมไปกราบไหว้ขอพรเรื่องความรักและขอบุตร
ทุก ๆ ปี ในช่วงวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 11 รวม 9 วัน 9 คืน จะเป็นช่วงเทศกาล นวราตรี หรือ ดูเซร่า ชาวฮินดูเชื่อว่า ช่วงเวลานี้พระแม่และขบวนเทพจะเสด็จมายังโลกเพื่อประทานพรให้กับมนุษย์
ผู้ศรัทธาจะละเว้นการทานเนื้อสัตว์ 9 วัน 9 คืน เพื่อบูชาองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี (ในภาคพระแม่มหาทุรคา) ที่ทรงต่อสู้กับ อสูรควาย (มหิงสาสูร) เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน จนเอาชนะได้ในวันที่ 10 จึงมีพิธีแห่ฉลองยิ่งใหญ่ และรอรับความเป็นสิริมงคลจากองค์เทพ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา
นวราตรีในประเทศไทย
ในปีนี้ วันที่ 5 ตุลาคม 2565 เป็น วันวิชัยทัสมิ จะมีขบวนแห่ เคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ในเวลา 19:30 น. มีทั้งหมด 8 ขบวน
1. ขบวนคนทรงองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี
2. ขบวนคนทรงองค์พระขันทกุมาร
3. ขบวนคนทรงองค์พระแม่กาลี
4. ขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศวร
5. ขบวนราชรถองค์พระขันทกุมาร
6. ขบวนราชรถองค์พระกฤษณะ
7. ขบวนราชรถองค์พระกัตตวรายัน
8. ขบวนราชรถองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี
ซึ่งก่อนเคลื่อนขบวนราชรถคันใหญ่ขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี จะมีพิธีทุบมะพร้าว โดยสานุศิษย์จะปามะพร้าวลงบนพื้น ผลไม้แห่งพระเจ้า ที่ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์ สะอาด
ชาวฮินดู เชื่อสืบต่อกันมาว่า การทุบมะพร้าวเบื้องหน้าพระพักตร์ของเทวรูปที่นับถือ เป็นการแสดงถึงการทำลายหรือละทิ้งอัตตาของตนเอง แด่พระผู้เป็นเจ้า
ผู้มาร่วมงานจะแต่งกายชุดสีขาว หรือชุดส่าหรีแบบอินเดีย พร้อมดอกไม้สีเหลือง สีแดง และมีการตั้งโต๊ะบูชาองค์เทพต่าง ๆ ในเส้นทางที่ขบวนผ่าน เพื่อรอรับพรจากจากพระแม่อุมาเทวี
เปิดบทสวด “ขอพรพระแม่อุมา”
"โอม...โรคานนะเศษานะปะหัมสิ ดุษฏา รุษฏา ตุ กามาน สะกะลานะภีษะฏาน ตะวามาศรีตานาม นะ วิปันนะรานาม ตะวามาศรีตา หยา ศระยะตาม ปะระยานติ"
เปิดกำหนดการ งานพิธีนวราตรี และงานแห่ประเพณี ปี 2565
ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม)
วันอาทิตย์ ที่ 25 กันยายน 2565
พิธีบูชาองค์พระพิฆเนศวร (บรมครู) พิธีบูชาเทพประจำแผ่นดิน, เทพแห่งดาวนพเคราะห์ทั้งเก้า พิธีบูชาเพื่อขออนุญาตต่อองค์มหาเทวี และมหาเทพทั้งหลายที่ประดิษฐานภายในวัด เพื่อเริ่มงานพิธีนวราตรี ประจำปี 2565
-พิธีเช้า 9:00 น. พิธีเย็น 16:00 น.
วันจันทร์ ที่ 26 กันยายน 2565 เริ่มงานพิธีนวราตรี ประจำปี 2565
- พิธีเช้า 09:00 น. บูชาองค์พระแม่มหาทุรคา พิธีเย็น 16:00 บูชาองค์พระแม่มหาทุรคา อัญเชิญธงสิงห์ขึ้นเสา 18.30 น.
วันอังคาร ที่ 27 กันยายน 2565 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาทุรคา
- พิธีเช้า 09:00 น. พิธีบูชาโฮมัม 17:00 น. พิธีบูชาใหญ่ 19:30 น.
วันพุธ ที่ 28 กันยายน 2565 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาทุรคา
- พิธีเช้า 09:00 น. พิธีบูชาโฮมัม 17:00 น. พิธีบูชาใหญ่ 19:30 น.
วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน 2565 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมี
- พิธีเช้า 09:00 น. พิธีบูชาโฮมัม 17:00 น. พิธีบูชาใหญ่ 19:30 น.
วันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมี
- พิธีเช้า 09:00 น. พิธีบูชาโฮมัม 17:00 น. พิธีบูชาใหญ่ 19:30 น.
วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2565 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมี
- พิธีเช้า 09:00 น. พิธีบูชาโฮมัม 17:00 น. พิธีบูชาใหญ่ 19:30 น.
วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม 2565 พิธีอภิเษกสมรสขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพ
- พิธีเช้า 09:00 น. (พิธีอภิเษกสมรส) พิธีบูชาโฮมัม 17:00 น. พิธีบูชาใหญ่ 19:30 น. (พิธีบูชาพระแม่นั่งชิงช้า)
วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2565 พิธีบูชาพระแม่ปางบูชาองค์พระศิวะ
- พิธีเช้า 09:00 น. พิธีบูชาโฮมัม 17:00 น. พิธีบูชาใหญ่ 19:30 น.
วันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2565 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาสรัสวดี
- พิธีเช้า 09:00 น. พิธีบูชาโฮมัม 17:00 น. พิธีบูชาใหญ่ 19:30 น.
วันพุธที่ 5 ตุลาคม 2565 งานแห่ประเพณี เนื่องในวันวิชัยทัสมิ ประจำปี 2565
โดยขบวนแห่เริ่มเคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ในเวลาประมาณ 19:30 น. เป็นต้นไป
วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม 2565 พิธีเชิญธงสิงห์ลงและอาบน้ำคณะพราหมณ์คณะคนทรง
17:30 น. หลังจากเสร็จพิธี คณะพราหมณ์จะผูกข้อมือด้วยสายสิญจน์ที่ทำพิธีมาแล้วให้แก่สานุศิษย์ทุกท่านฟรี
สอบถามเพิ่มเติมโทร 097 315 9569
ของไหว้ที่จำเป็น มีรายละเอียดระบุไว้ดังนี้
1. กำยานหรือธูปหอม 9 ดอกหากเป็นกลิ่นกุหลาบได้ยิ่งดี
2. ดอกไม้ที่มีสีแดง 9 ดอก เช่น ดอกกุหลาบแดง ดอกชบาแดง เยอบีร่าแดงเพราะสีแดงเป็นสีประจำตัวของแม่ทุรคา
3. ผลไม้ 9 ผลอาทิเช่น กล้วย ชมพู่ แอปเปิ้ล สาลี่ เป็นต้น
4. น้ำนม 1 ถ้วย น้ำเปล่า 1 ถ้วย
5. เทียนแดง 1 คู่
จากนั้นก็ท่องคาถาเอ่ยพระนามของพระแม่ว่า เจ อัมบรี มา ทั้งหมด 108 จบ เมื่อกล่าวเสร็จก็สามารถขอพรรับพลังได้ตามอัธยาศัย พิธีนี้สามารถทำได้ตลอดทั้งคืนวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ไปจนถึงรุ่งเช้า พระเทวีทุรคาจะรักษาให้ปลอดภัยมีชัยชนะ
ข้อมูลโดย : อ.มดดำ ยิปซีคาราวาน
How To บูชา นวราตรี
การบูชาพระเทวีในเทศกาลนวราตรี บางคนอาจจะอยู่ต่างจังหวัด ไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมพิธีที่ทางเทวสถานต่าง ๆ ได้ ก็ถือวาระมงคลนี้ อัญเชิญพระแม่ มาประทับที่บ้านของท่าน เพื่อให้พระองค์ประทานพระพรให้แก่ท่านและครอบครัว ทีมข่าว เนชั่นออนไลน์ จึงขอสรุปขั้นตอนมาฝากทุกคน สามารถปฏิบัติหรือทำตามรายละเอียดต่อไปนี้ได้เลย
1.ทำความสะอาดทั้งห้องพักในทุกส่วนของบ้านให้เหมาะสมต่อการอัญเชิญพระแม่ ถ้ามีห้องพระแยก ใช้ห้องพระเป็นมณฑลพิธีบูชาได้เลย จากนั้นตั้งวางรูปภาพ รูปเคารพพระแม่
2.หาโต๊ะ1ตัว เท่าโต๊ะญี่ปุ่นเล็ก ๆ หรือจะเป็นพื้นที่ว่างบนหัวที่นอน หรือบริเวณหิ้งพระที่มีอยู่แล้ว จัดหาผ้าสีแดง หรือสีเหลืองวางปูรองเป็นแท่นที่ประทับ
3. อัญเชิญรูปเคารพ เทวรูป รูปภาพของพระแม่ที่ท่านบูชาอยู่วางประทับ ในที่ที่เตรียมไว้
4.วันที่ 29 ตุลาคม 2562 (วันแรกของนวราตรี) เป็นวันเริ่มการบูชาของท่าน ตลอดเก้าวันนี้ จะต้องทำการบูชาพระแม่ เตรียมดอกไม้ เครื่องหอม ผลไม้ตามสมควร ถวายการบูชาทุก ๆ 3 วันให้ทำการบูชา 1 ครั้ง หรือบูชาทุกวันก็ยิ่งดี แต่ไม่ควรเกินกว่ากำลังเรา
5.ทุก ๆ วันหลังเลิกงานกลับมาจากบ้านก็จุดประทีปถวายสักหนึ่งดวง (ย้ำว่าต้องอยู่บ้าน) แนะนำให้เป็นเทียนถ้วยเล็ก ๆ ถวายแด่พระแม่ตลอดเก้าวัน และไม่ต้องจุดทั้งวันทั้งคืน
6.สวดภาวนา ให้เริ่มจากบทบูชาพระคเณศก่อนเสมอ แล้วตามด้วยพระแม่ที่เราตั้งเป็นประธานในการบูชา ถ้าเป็นพระแม่ลักษมีก็ถวายมนต์พระแม่ลักษมีก่อน จากนั้นก็หลับตานึกถึงพระแม่องค์อื่น ๆ แล้วภาวนาบูชาพระองค์ในจิต หรือจะเปิดเพลงมนต์นยูทูปก็มีเยอะมากเลือกสรรกันเอาเอง แล้วอธิฐานขอพรกันตามสมควร สุดท้ายให้จบด้วยการแผ่เมตตาแด่สรรพสัตว์ทั้งปวงด้วยคำกล่าว “โอม ศานติ ศานติ” ก็เป็นอันจบพิธี
หมายเหตุ : จะเลือกบูชาเช้าก่อนทำงาน หรือเย็นหลังทำงาน ตามสะดวกได้เลย
ขอขอบคุณที่มา : พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี
"นวราตรี" อีกฉากสวยใน "คังคุไบ" เทศกาลชาวฮินดูที่สืบทอดกันมานาน
"Gangubai Kathiawadi" ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องเล่าในหนังสือ "Mafia Queen of Mumbai" ของ “ฮุสเซน ไซดี” (Hussain Zaidi) นักเขียนชาวอินเดียและอดีตนักข่าวสืบสวนสอบสวน ที่ตีแผ่ชีวิตสังคมโสเภณีในมุมไบและแน่นอนว่าตัวเอกของเรื่องนี้มีตัวตนจริง ๆ “คังคุไบ กาเฐียวาดี” เป็นโสเภนีระดับมาม่าที่อุทิศชีวิตเพื่อหญิงสาว 4,000 คนใน "กามธิปุระ" เมืองที่เต็มไปด้วยหญิงสาวโสเภณีจนถูกเรียกขานว่า นายหญิงแห่งกามธิปุระ (Madam of Kamathipura)
ฉากสุดอลังการนี้ ไม่พูดถึงคงไมได้ เพราะเป็นอีกหนึ่งฉากในเรื่อง ที่สะท้อนถึงที่สุดของอารยธรรมที่สืบต่อมายาวนานและบอกถึงความเป็นชาวอินเดียได้มากๆ กับการที่นางเอก จัดงานนวราตรีขึ้นในย่านที่อาศัยอยู่ บอกเลย องค์ประกอบภาพ สวยมากๆ ใครที่เคยชใลองกลับไปดูอีกครั้งและจะเห็นว่าสวยงามขนาดไหน
นวราตรี (Navratri) งานนี้เป็นเทศกาลบูชาพระแม่ทุรคา ที่ชาวฮินดูสืบทอดกันมาเนิ่นนาน ถือเป็นการบูช าและการเต้นรำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง
เปิดการตีความ ในภาษาสันสกฤตคำว่า นว (nava) หมายถึง เก้า และ ราตรี (ratri) หมายถึง กลางคืน เมื่อ นว รวมเข้ากับ ราตรี จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า “เก้าคืน” ซึ่งในช่วง “เก้าคืน” นี้จะมีการบูชาพระแม่ทุรคา (Durga) หรือศักติ (Shakti) ซึ่งหมายถึง พลังหรืออำนาจ ในเก้ารูปแบบ
เทศกาลนี้จะจัดขึ้น 2 ครั้งต่อปี ในช่วงต้นฤดูร้อน และต้นฤดูหนาว ซึ่งเป็นจุดแตกต่างกันทางภูมิอากาศ และพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีต่อโลกมนุษย์ สองช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับการบูชาพระแม่ทุรคา
ทั้งนี้ ในอินเดียมีการเฉลิมฉลองเทศกาลนวราตรีทั่วทั้งอินเดีย แต่อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค นอกจากการบูชาเทวีแล้ว ชาวฮินดูยังฉลองด้วยการเต้น ดันดิยาราส (Dandiya-raas) หรือรำกระทบไม้ โดยถือไม้สั้นๆ คนละคู่ ตีกระทบกันเป็นวง วนไปวนมา แม้ดูแล้วไม่มีท่าเต้นอะไร แต่คนเล่นเขาก็สนุกสนานกันมาก ซึ่งการเต้นนี้ก็อาจแตกต่างกันไปตามความนิยมในแต่ละที่ อีกด้วย ผู้ที่มาร่วมในพิธี “นวราตรี” ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ล้วนมีจิตศรัทธาเดียวกันเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับตนเอง
เทศกาลนวราตรี เป็นช่วงเวลาของการรักษาศีล ทำกายใจให้บริสุทธิ์ ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ สวดมนต์และปฏิบัติธรรม โดยช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับเทศกาลถือศีลกินเจของชาวจีนจึงมีคนไทยเชื้อสายจีนมาร่วมงานด้วย ซึ่งการปฏิบัติบูชานี้ ชาวฮินดูเชื่อว่าการบูชาพระแม่ทุรคา ปางหนึ่งของพระแม่อุมา อย่างสม่ำเสมอ พระองค์จะประทานพรด้านความกล้าหาญ ชนะศัตรูรอบทิศ รวมถึงดลให้มีบริวารมาก มีความยุติธรรม ตลอดจนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง นับเป็นประเพณีอันเก่าแก่แห่งการนับถือเพศหญิงเป็นใหญ่
ถือเป็นวันบูชาพระอุมาเทวีในปางทุรคาผู้ได้รับชัยชนะจากการปราบมหิงษาสูร เชื่อว่าใครบูชาพระองค์ในวันนี้จะได้ชัยชนะตลอดปี แต่เดิมจึงเป็นที่นิยมบูชากันมากในหมู่นักรบและกษัตริย์ ก่อนอัญเชิญพระองค์ไปลอยทะเลส่งเสด็จสู่สวรรค์ในวันสุดท้ายของเทศกาล “นวราตรี”
สำนักงานเขตบางรัก จึงได้ประกาศข่าว เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับทราบและหลีกเลี่ยงเส้นทาง ถนนสีลม, ถนนนาราธิวาสราชนครินทร์, ถนนสาทรเหนือ, ถนนสุรศักดิ์ ในช่วงวันและเวลาดังกล่าว
รายละเอียดเพิ่มเติม
ข้อมูล วัดพระศรีมหาอุมาเทวี วัดแขก สีลม วัดแขก สีลม ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ ความขลัง เปี่ยวด้วยมนต์เสน่ห์ ทำให้ที่นี่มีทั้งคนอินเดีย ที่นับถือศาสนาฮินดู รวมถึงประชาชนชาวไทยสายมู แวะเวียนไปสักการะไม่ขาดสาย โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงาม เป็นลักษณะศิลปะแบบอินเดียใต้ คือ สถาปัตยกรรมดราวิเดียน และผสมผสานกันระหว่างสมัยโจฬะและปาละในอินเดีย
• ที่อยู่ : 2 ถนนปั้น แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ
• พิกัด : https://goo.gl/maps/nG7XpW1VipfpUgk1A
• เปิดให้เข้าชม : 06.00-20.00 น.
• เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/HinduMeeting.HM
ขอขอบคุณที่มา :
อ้างอิง : Hindu Meeting (Fan Page), สำนักงานเขตบางรัก, horoscope.Trueid.net, ไทยรัฐออนไลน์, Thaiza.com, kinyupen.co / กรุงเทพธุรกิจ