svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ส่งสัญญาณน้ำเหนือเพิ่ม "กรมชลประทาน"ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา

"อธิบดีกรมชลประทาน" เผยจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา หลังน้ำเหนือเพิ่ม เร่งระบายน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก

 

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 65  "นายประพิศ จันทร์มา" อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานจะมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำให้สอดคล้องตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)ออกประกาศ โดยล่าสุด ณ  วันที่ 31 ส.ค. 2565  ได้มีประกาศกอนช.ฉบับที่ 35/2565  ลงวันที่ 31 ส.ค. 2565  เรื่องเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา   ภายหลังกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักระหว่างวันที่ 3-8 ก.ย. 2565 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

   

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

 

โดยคาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีน้ำ C2 จังหวัดนครสวรรค์อยู่ในเกณฑ์ 2,000-2,200 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที จะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มอยู่ในเกณฑ์ 1,800-2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที  จากวันที่  30 ส.ค.ปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่อัตรา 1,649 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยกรมชลฯจะทยอยปรับให้ไปอยู่ที่ 1,800 ลบ.ม.ต่อวินาทีในวันที่ 1  ก.ย. 65  ทั้งนี้ได้มีการประสานกับจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดในการ
แจ้งเตือนประชาชน

 

"ในการระบายน้ำในขณะนี้จะใช้การระบายผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก  ซึ่งมีศักยภาพการระบายอยู่ที่ 3,500  ลบ.ม.ต่อวินาที ปัจจุบันระบายอยู่ที่ 1,678 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงมีช่องว่างการระบายน้ำออกทะเลอยู่อีกมากและเป็นเส้นทางที่ตรงและเร็วที่สุด กรมชลฯจะยังไม่มีการระบายน้ำผ่านไปทางแม่น้ำบางปะกงหรือแม่น้ำท่าจีน  ยกเว้นเพื่ออุปโภค บริโภคและรักษาระบบนิเวศน์เท่านั้น" 

ส่งสัญญาณน้ำเหนือเพิ่ม \"กรมชลประทาน\"ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา

นอกจากนั้น ได้ให้สำนักชลประทานทุกพื้นที่ประสานกับเกษตรกรเพื่อให้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ครบรอบการผลิตให้ทันต่อช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) และข้อห่วงใยของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ให้บริหารสถานการณ์ไม่ให้มีผลกระทบต่อเกษตรกรหรือมีผลกระทบให้น้อยที่สุด" นายประพิศ  กล่าว

 

สำหรับในพื้นที่น้ำท่วมขังจากปริมาณฝนตกชุกในพื้นที่ต่างๆนั้น ได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล ระดมเครื่องสูบน้ำ  เครื่องผลักดันน้ำเพื่อช่วยเกษตรกร และประชาชนที่ประสบน้ำท่วมขัง เช่น สำนักชลประทานที่  4 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำท่วมขังในชุมชนและพื้นที่การเกษตรใน ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา จ.ตาก  

 

ส่งสัญญาณน้ำเหนือเพิ่ม \"กรมชลประทาน\"ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา

 

สำนักชลประทานที่ 12  ได้เร่งสูบน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่นาข้าวของเกษตรกร ในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี อ.เมืองอ่างทอง และที่จังหวัดปราจีนบุรี สำนักชลประทานที่ 9  ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2  เครื่อง สูบน้ำท่วมขังบริเวณโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หลังจากฝนตกต่อเนื่องส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้นเข้าท่วมพื้นที่  ขณะที่สำนักชลประทานที่ 11 ปทุมธานีได้มีการตรวจสอบความพร้อมในการใช้งานของสถานีสูบน้ำ และให้พร่องน้ำในคลองสาขาเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนในระยะต่อไป

 

"นายทวีศักดิ์ ธนเดโชชัย" รองอธิบดีกรมชลฯในฐานะโฆษกกรม เปิดเผยว่า  ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกสะสมในบริเวณจังหวัดลำปาง แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์  ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาต่อเนื่อง   

 

ส่งสัญญาณน้ำเหนือเพิ่ม \"กรมชลประทาน\"ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา

โดย  ณ  วันที่ 31 ส.ค. 65 มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี(C2) จังหวัดนครสวรรค์ 1,846 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ  3.65 เมตร   ก่อนที่จะไหลๆไปร่วมกับปริมาณน้ำที่มาจากสะแกกรังและลำน้ำสาขาสู่เขื่อนเจ้าพระยา  ทั้งนี้กรมชลฯจะมีการทยอยปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไปจนถึงเกณฑ์ 1,800 ลบ.ม.ต่อวินาทีในช่วง 11.00 น. ของวันที่ 1  ก.ย. 65   ซึ่งจะกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำในพื้นที่อ.เสนา  ต.ลาดชิด จ.ท่าดินแดง อ.ผักไห่จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีระดับน้ำสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 20 เซนติเมตร