นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรฮิบนอล (Rohypnol) หรือชื่อทางเคมี คือ flunitrazepam เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกฤทธิ์บรรเทาอาการวิตกกังวล สงบประสาท ทำให้นอนหลับง่าย สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ คลายกล้ามเนื้อ ต้านการชัก และกดระบบการหายใจ ในทางการแพทย์ใช้เป็นยานอนหลับ ยานำสลบ และสงบประสาทก่อนทำการผ่าตัด ออกฤทธิ์เร็ว หากรับประทานหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จะทำให้นอนหลับภายในเวลา 20-30 นาที ออกฤทธิ์นานประมาณ 8-12 ชั่วโมง
ในปัจจุบัน มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ออกฤทธิ์กดประสาทมากขึ้น เพื่อให้ผู้ดื่มไม่มีแรงและจำอะไรไม่ได้ ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน หรืออาจโดนล่วงละเมิดทางเพศได้ หรือที่เป็นกระแสในสังคมออนไลน์ที่มาจากต่างประเทศ ว่าการอมยาโรฮิบนอล (Rohypnol) แล้วลิ้นเป็นสีฟ้าจากการติดสีที่เคลือบเม็ดยา
เป็นความตั้งใจของผู้เสพที่ต้องการให้ยาค่อยๆ ดูดซึม เพื่อให้เกิดอาการมึนเมา ถือเป็นการใช้ยาในทางที่ผิด ไม่ได้จะใช้เพื่อให้นอนหลับ แต่เพื่อให้เกิดความเมา ผู้เสพอาจขาดสติ และทำสิ่งที่เป็นอันตรายโดยไม่รู้ตัว ก่อเหตุรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ การอมยาร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถเสริมฤทธิ์ กดการหายใจ และทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการลักลอบซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย ดังนี้ ผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุก 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท สำหรับการมีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จะต้องขอรับ "ใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุ ออกฤทธิ์" ด้วย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า โรฮิบนอล (Rohypnol) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ยาชนิดนี้อยู่ในความควบคุมของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผู้มีสิทธิสั่งจ่ายยา ต้องเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตว์แพทย์ เท่านั้น ห้ามมิให้จำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป เนื่องจากอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย หรือทำให้เกิดอาการติดยาได้หากไม่ระมัดระวังการใช้ ซึ่งการใช้ โรฮิบนอล (Rohypnol) ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดภาวะพึ่งพายาได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อหยุดยา
จะทำให้เกิดอาการถอนยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก สั่น เป็นต้น และควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เตือนภัยกลุ่มผู้ที่คิดจะใช้ โรฮิบนอล (Rohypnol) ไปในทางที่ผิดโดยไม่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในเรื่องการรักษาพยาบาลจะมีความผิดตามกฎหมาย และให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เน้นย้ำให้หมั่นสังเกตลิ้นของคนในครอบครัว และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มมีสีที่ผิดปกติ
ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานีและโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี