8 มกราคม 2567 เพจเฟซบุ๊ก "Health Performance Team" ของ นายพีรภัทร ศิริเรือง ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัย Portsmouth สหราชอณาจักร และนักไตรกีฬา IRONMAN 9
โดยเจ้าของโพสต์ ระบุข้อความว่า
"วิจัย PM2.5 พังทั้งเลือด พังทั้งค่าปอด จับคนมาวิ่งในสภาวะฝุ่นขึ้นสูง เป็นที่ทราบกันอยู่ว่า PM 2.5 เป็นอุปสรรคในการออกกำลังกายอย่างมาก ทั้งหายใจที่ลำบากและมีอาการเจ็บคอ รวมถึงภาวะเลือดออกทางจมูก หรือจนกระทั่งเกิดการติดเชื้อทางเดินระบบหายใจ"
"แต่มีน้อยมากที่จะจับคนเป็นๆ มาทดลองให้เผชิญกับฝุ่น PM2.5 แบบจริงจัง ด้วยการเก็บค่า VO2max เพื่อดูการพัฒนาของสมรรถภาพปอด และเก็บค่าเลือดเพื่อดูการทำงานของเม็ดเลือดขาว-เม็ดเลือดแดง
ผู้ทำการวิจัยต้องการเทียบร่างกาย ระหว่างสภาพอากาศที่มีค่า PM อยู่ที่ 83.44 µg/m³ สนามวิ่งอยู่ชานเมืองไม่ติดถนนใหญ่ และ 102.33 µg/m³ สนามวิ่งติดถนนใหญ่ ตลอด 14 สัปดาห์ของการทดลอง"
โดยผู้เข้าร่วมวิจัยถูกมอบหมายให้ออกกำลังกาย เป็นระยะเวลา 40 นาที ความถี่ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ประกอบไปด้วย
1. 5 นาที วอร์มอัพ
2. 30 นาที วิ่งที่ความหนักแบบ Sub-Maximum
3. 5 นาที คูลดาวน์
นอกจากนี้ "เมื่อเผชิญกับสภาวะ PM ที่มีค่าสูง (102.33 µg/m³) ระดับเม็ดเลือดขาวมีการเพิ่มขึ้นถึง 1.39 ไมโครลิตร (x 10³/µl) และสภาวะฝุ่น PM ที่ 83.44 µg/m³ ค่าเม็ดเลือดขาวของผู้ทดสอบมีการเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 0.92 ไมโครลิตร (x 10³/µl)"
"ฝุ่นเยอะสุขภาพปอดไม่พัฒนา และในส่วนค่าปอดจากการวัด VO2max สามารถสรุปได้ว่า ความจุปอดสูงสุดที่หายใจออกอย่างเร็วและแรง (FVC) มีการพัฒนาขึ้นในสภาวะที่มีค่า PM2.5 ที่ 83.44 µg/m³ แต่ไม่มีการพัฒนาเมื่ออยู่ในสภาวะที่ฝุ่นสูง (102.33 µg/m³) ว่ากันว่าตัวฝุ่น PM2.5 ที่สูงสามารถเข้าไปสะสมในถุงลมปอดและอาจก่อให้เกิด ภาวะพังผืดในปอด (Fibrosis) ส่งผลให้ความยืดหยุ่นของปอดลดลง และความสามารถในการรองรับอากาศที่เข้าสู่ปอดแย่ขึ้นมาก"