การยัดเยียดภาษาทางการเมืองที่บิดเบือนความจริงผ่านโซเชียลมีเดียแก่เด็กเล็กและเยาวชน ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กได้รับข้อมูลที่เกินความสามารถที่เด็กจะประมวลผลหรือแยกแยะได้เองแล้ว ยังส่งผลต่อการแสดงออกของเด็กในเชิงจินตนาการที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง
ต้องยอมรับว่า ทุกวงการแม้แต่แวดวงการเมือง พึ่งพาสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อหวังผลสู่เป้าหมายตามที่ตนต้องการ ไม่ว่าเป็นช่วงของการเลือกตั้ง "พรรคการเมือง" พยายามโฆษณาชวนเชื่อจนประสบความสำเร็จ อีกด้าน ยังใช้พลังโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือขยายเครือข่ายแนวความคิด หรือแม้แต่ การปลุกระดมนัดรวมตัวเคลื่อนไหว
ท่ามกลางคำถาม การใช้พลังโซเชียล โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองไทย จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้มากน้อยขนาดไหน
"พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร" ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ให้มุมมองผ่าน"เนชั่นทีวี"ไว้อย่างน่าสนใจ
1.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทำให้รูปแบบในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน การติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่าน หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว ถูกทดแทนด้วย โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย
ตัวอย่างการชุมนุมทางการเมืองที่ใช้โซเชียลมีเดียจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ที่เรียกกันว่า การปฏิวัติทางดิจิทัล (Digital revolution) ได้แก่ การประท้วงที่ ตูนิเซีย การประท้วงที่อียิปต์ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในตูนิเซียและการประท้วงในประเทศตะวันออกกลางอื่นๆหลายประเทศที่รู้จักกันในชื่อ Arab spring การปฏิวัติด้วยทวิตเตอร์(Twitter revolution) และ Facebook uprising เป็นต้น
2.การใช้โซเชียลมีเดียทางการเมืองทำให้นักการเมืองสามารถใช้ประโยชน์ทางการเมืองจากโซเชียลมีเดียอย่างน้อยที่สุด 4 ประการ คือ
2.1 สามารถทำให้รู้ถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งกันและกันในแบบ Real time
2.2 นักการเมืองสามารถแสดงตัวตนและท่าทีทางการเมืองผ่านโซ เชียลมีเดียได้อย่างไม่มีข้อจำกัดด้าน สถานที่ เวลา โดยไม่ต้องพึ่งพาสื่อกระแสหลัก
2.3 สามารถขยายความสัมพันธ์กับผู้คนจากโลกออนไลน์สู่โลกออฟไลน์ได้ง่ายขึ้นเป็นการลดช่องว่างระหว่างนักการเมืองกับคนทั่วไป
2.4นักการเมืองสามารถใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการหาเสียงทางการเมืองโดยอาศัยโซเชียลมีเดียผสมผสานกับกลไกทางการตลาดสร้างกระแสความนิยม(เทียม)ทางการเมือง(Political astroturf movement) อย่างได้ผล
สิ่งที่น่าเป็นกังวลต่อพ่อ แม่และผู้ปกครองคือ พรรคการเมืองได้สร้างคอนเทนต์ทางการเมืองที่ไม่สามารถควบคุมได้ผ่านโซเชียลมีเดียจนทำให้เด็กเล็กสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย การยัดเยียดภาษาทางการเมืองที่บิดเบือนความจริงผ่านโซเชียลมีเดียแก่เด็กเล็กและเยาวชน ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กได้รับข้อมูลที่เกินความสามารถที่เด็กจะประมวลผลหรือแยกแยะได้เองแล้ว ยังส่งผลต่อการแสดงออกของเด็กในเชิงจินตนาการที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นการใช้ความได้เปรียบของโซเชียลมีเดียล้างสมองเด็กด้วยภาษาทางการเมืองนั่นเอง
3.ศักยภาพของโซเชียลมีเดียยังสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการ เคลื่อนไหวทางการเมืองใน ลักษณะของการชุมนุมทางการเมือง เช่น การนัดหมายชุมนุม การเผยแพร่ข่าวสารทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม การตอบโต้การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการเผยแพร่ความเคลื่อนไหวจากตัวเองทั้งในแบบภาพ เสียง มีม ข้อความและถ่ายทอดสด ซึ่งสามารถทำได้สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพกว่าการใช้สื่อแบบเดิม
4.การชุมนุมในทางการเมืองจึงมีการใช้โซเชียลมีเดียควบคู่กันไปด้วยเสมอ ที่สำคัญคือโซเชียลมีเดียถูกเซ็นเซอร์และถูกปิดกั้นการสื่อสารได้ยากหากไม่ถึงจุดวิกฤตจริงๆ ดังนั้นโซเชียลมีเดียจึงเป็นสื่อหลายวัตถุประสงค์บนแพลตฟอร์มเดียว(Multimodal)
5. ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน การชุมนุมทางการเมืองโดยทั่วไปทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆมักประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการที่ทำให้การชุมนุมเป็นไปอย่างราบรื่น สามารถดึงดูดผู้คนในการเข้าร่วมชุมนุมได้แก่
5.1 ฐานที่ตั้งของการชุมนุม (Domestic infrastructure) มีทำเลที่เอื้ออำนวย ทำให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสะดวกในแต่ละวัน การเข้าถึงง่าย การจัดส่งอาหารและน้ำสะดวก มีเครื่องอำนวยความสะดวกตามควรและสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้รวดเร็ว
5.2พื้นที่การชุมนุมต้องสามารถปรับเปลี่ยนให้รองรับรูปแบบของการชุมนุมอื่นๆที่อาจพัฒนาขึ้นตามสถานการณ์ได้(Action infrastructure)
5.3 สถานที่ชุมนุม นอกจากจะเป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์แล้ว การชุมนุมยังต้องสามารถสื่อสารให้ผู้คนได้เห็นถึงกิจกรรมของการชุมนุมและจูงใจให้เข้าร่วมชุมนุม ทั้งจากผู้คนที่ผ่านไปมา กองเชียร์ที่สนับสนุน รวมทั้งผู้ที่ต่อต้านการชุมนุมให้ได้เห็นถึงการแสดงออกต่อกิจกรรมการชุมนุมนั้นด้วย
5.4 การชุมนุมทุกการชุมนุมจะต้องมีกระบวนการในการตัดสินใจ(Governance infrastructure) เพื่อให้การชุมนุมขับเคลื่อนไปตามเป้าหมายและปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และไม่ให้ผู้ชุมนุมแตกแถวจนควบคุมไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันต้องอาศัยโซเชียลมีเดียและเครื่องมือสื่อสารอื่นๆนอกจากปัจจัย 4 ข้อข้างต้น เพราะการชุมนุมในแต่ละสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงนาทีต่อนาที เครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่อ่อนไหวเช่นในช่วงเวลาของการปราบปราม การต้องการประกาศการเคลื่อนไหวต่อสาธารณะ การเคลื่อนย้ายผู้คน รวมทั้งการสลายการชุมนุม เป็นต้น
6. การชุมนุมที่มีประสิทธิภาพและหวังผลการเปลี่ยนแปลงนอกจากปัจจัย ข้างต้นแล้ว "ผู้นำ" ในการชุมนุมเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จของการชุมนุมในหลายประเทศตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาจึงล้วนแต่มีการนำโดยบุคคลผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก บ่มเพาะความน่าเชื่อถือมาเป็นเวลานาน เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปและมีเจตนาแน่วแน่ที่ทำเพื่อส่วนรวม
7.การนัดหมายการชุมนุมในระยะหลังโดยการใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อมักเป็นลักษณะของการชุมนุมแบบ "ไร้ผู้นำ" สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับการชุมนุมแบบไร้ผู้นำโดยใช้โซเชียลมีเดียคือ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนไม่น้อยเป็นบุคคลที่ไร้ตัวตน(Invisible audience) ไม่สามารถตรวจสอบตัวตนได้ แม้มีการติดต่อระหว่างกันแบบหลวมๆผ่านโซเชียลมีเดีย(Weak ties) การติดต่อกันบนโซเชียลมีเดียนอกกลุ่มคนรู้จักจึง เป็นเพียงการส่งข่าวสารระหว่างกันแต่ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันอันเนื่องจากความไร้ตัวตนไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นพอที่จะโน้มน้าวคนนอกกลุ่มให้เข้ามารวมกันได้มากพอเพื่อหวังผลทางใดทางหนึ่งเท่ากับการชุมนุมแบบมีผู้นำที่เป็นที่รู้จักและมีตัวตนจริงๆ
8. โซเชียลมีเดียคือพื้นที่ของ "ความไม่แน่นอน" ยากที่จะพยากรณ์ผลลัพธ์ และสามารถนำไปสู่ "ความแปรปรวน" (Turbulence) ได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง
แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะช่วยให้กระแสการรับรู้ทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถรวมกลุ่มกันในลักษณะที่ไม่เป็นทางการได้จำนวนมากก็ตาม แต่การชุมนุมทางการเมืองแบบไร้ผู้นำผ่านโซเชียลมีเดียอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควรและอาจส่งผลทางลบด้วยเหตุผลดังนี้
8.1 การเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ที่ยังไม่มีวัฒนธรรมของการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนและยากต่อการกำหนดความเห็นชอบร่วมกันในการตัดสินใจต่อท่าทีการชุมนุม ต่างจากการชุมนุมรูปแบบเดิมที่มีวัฒนธรรมและโครงสร้างของการชุมนุมที่รับรู้กันมาอย่างยาวนาน
8.2 การชุมนุมทางการเมืองแบบไร้ผู้นำแม้ว่าจะมีการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียด้วยความฉับไวและยากที่จะเด็ดหัวผู้นำเพื่อทำให้การชุมนุมอ่อนแอ แต่การขาดผู้นำจะทำให้การดำเนินการใดๆทางกลยุทธ์เกี่ยวกับการชุมนุมทำได้โดยยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมด้วยกันเองในสถานการณ์คับขัน
8.3 การชุมนุมในลักษณะการไร้ผู้นำแม้ว่าจะทำให้คนทั่วไปสามารถส่งเสียงท้าทายต่ออำนาจรัฐได้ในระดับหนึ่ง แต่การชุมนุมลักษณะนี้ไม่มีพลังและความน่าเชื่อถือมากพอที่จะทำให้สั่นคลอนอำนาจที่เข้มแข็งได้ หากไร้การบริหารจัดการแทนที่การชุมนุมจะประสบความสำเร็จแต่กลับนำไปสู่ความวุ่นวายหรือการจลาจล ดังเช่น การประท้วงที่สามเหลี่ยมดินแดงเมื่อสามปีก่อนซึ่งไม่ได้มรรคผลใดเลยนอกจากความเสียหายต่อทรัพย์สินส่วนรวมและทำลายภาพลักษณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมเองหรือแม้แต่การชุมนุมในฝรั่งเศสในปัจจุบันซึ่งได้ลุกลามเลยขอบเขตของการชุมนุมด้วยความสงบและกลายเป็นการจลาจลอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้การใช้กำลังกดดันใดๆผ่านโซเชียลมีเดียและการชุมนุมเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างกฎหมายในทางปฏิบัติมักเป็นไปได้ยากเว้นแต่ใช้สภาเป็นเวทีขับเคลื่อน
การชุมนุมที่ประสบความสำเร็จและสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินนั้น ไม่อาจเป็นไปได้เลยหากขาดผู้นำที่มีลักษณะที่กล่าวมาแล้วรวมทั้งพลังสนับสนุนจากประชาชนที่มากพอจากปัจจัยของการถูกกดขี่ข่มเหงและความเกลียดชังต่อผู้มีอำนาจ ซึ่งประเทศไทย ยังไม่อยู่ในเงื่อนไขในระดับที่ทำให้ผู้คนต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันเหมือนอย่างในบางประเทศ
การใช้โซเชียลมีเดียทางการเมืองจึงเป็นการแสดงออกเพื่อส่งสัญญาณถึงผู้มีอำนาจมากกว่าจะส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงใดๆหากระดับของความชิงชังของผู้คนในสังคมหนึ่งยังไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือได้