svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"ศึกเลือกตั้ง66"จับตาการบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมือง

เตรียมรับมือกับ การบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมือง ในการ"เลือกตั้ง66" ที่กำลังจะมาถึง โดย "สำนักนวัตกรรมประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า"

การบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมือง หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Political Disinformation" คือ การจงใจสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด และนำข้อมูลดังกล่าวออกเผยแพร่เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง


ตัวอย่างของการบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมืองที่โลกจดจำมากที่สุด คือ กรณีที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ใน social media ว่าตัวเองชนะการเลือกตั้ง (ทั้งๆ ที่ผลการการเลือกตั้งคือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นผู้ชนะ)

 

ผลจากโพสต์ดังกล่าว นำไปสู่เหตุการณ์ที่มีผู้ประท้วงฝ่ายสนับสนุน"นายโดนัลด์ ทรัมป์" บุกไปที่อาคารรัฐสภาและก่อความรุนแรง เพื่อกดดันสภาคองเกรสไม่ให้รับรองชัยชนะของ"นายโจ ไบเดน"

 

โดยทั่วไป ข้อมูลถูกบิดเบือนได้ด้วยรูปแบบและวิธีการมากมาย เช่น สร้างเรื่องราวแบบเปลี่ยนขาวเป็นดำ เท็จปนจริง นำเสนอความจริงเพียงด้านเดียว ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ (หรือทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก) ฯลฯ เพื่อทำให้เกิดการรับรู้ที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน 

แต่ในทางการเมือง การบิดเบือนข้อมูล ไม่ได้มุ่งแค่ให้เกิดการรับรู้ที่ผิดพลาด หรือ เกิดความเข้าใจผิด เท่านั้น ความมุ่งหวังหลังจากที่การบิดเบือนข้อมูล นำไปสู่ การรับรู้หรือความเข้าใจที่ผิดพลาดแล้ว คือ "ปฏิบัติการ" บางอย่าง ที่ส่งผลโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อ "ผลลัพธ์" ในทางการเมือง


ตัวอย่างที่ (เกือบ) จะเป็นเรื่องปกติในการแข่งขันทางการเมือง คือ บรรดาพฤติกรรมการใช้ข้อมูลบิดเบือนในการใส่ร้ายป้ายสี discredit ด้อยค่า โจมตีคู่แข่งในการเลือกตั้ง หรือในทางกลับกัน อาจจะเป็นการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองให้ "ดีเกินจริง"  รวมถึงการบิดเบือนข้อมูลเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง "สำคัญผิดในคะแนนนิยม” ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การทำโพลเข้าข้างตัวเอง


ในการเมืองไทย (และการเมืองทั่วโลก) การบิดเบือนข้อมูลทางการเมืองลักษณะนี้มีอยู่ในการเลือกตั้ง (ภายหลังการเลือกตั้ง เช่น ในการอภิปรายต่างๆ ในสภา) ทุกครั้ง แต่ไม่ได้น่ากลัวมากนัก (แม้ว่าจริงๆ แล้ว ก็น่ากลัวอยู่) เนื่องจากโดยทั่วไปจะมีความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายที่เป็น "ยาแรง" ในการกำกับควบคุมพฤติกรรมเหล่านี้อยู่บ้างแล้ว พูดอีกอย่าง คือ พอจะจัดการกับการบิดเบือนข้อมูลแบบตรงไปตรงมาพวกนี้ให้อยู่ในร่องในรอยได้พอสมควร

แต่การบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมืองที่น่ากังวลมากกว่า คือ การบิดเบือนข้อมูลที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่ร้าวลึก แบ่งแยกผู้คนเป็นฝักฝ่าย และอาจถึงขั้นใช้ความรุนแรงเข้าประหัตถ์ประหารกัน ผลลัพธ์ของการบิดเบือนข้อมูลแบบนี้ ไม่ใช่ แค่ประชาชนได้นักการเมืองไม่ดี รัฐสภาที่ไม่เห็นหัวประชาชน หรือ รัฐบาลที่ไม่ได้เรื่องเท่านั้น แต่อาจถึงขั้นกลายเป็น "ความล่มสลายของระบอบการปกครอง (แบบประชาธิปไตย)


บทเรียนความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยในช่วงเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นตัวอย่างของการใช้ข้อมูล ที่เข้าข่ายเป็น "การบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมือง" ในหลายต่อหลายเหตุการณ์ 
ตัวอย่างต่อไปนี้ มิได้ "ฟันธง" ว่าเป็นการบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมืองทั้งหมด (หากจะทำให้ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์เกิดความไม่สบายใจ) แต่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะสำคัญประการหนึ่งของการบิดเบือนข้อมูลท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ร้าวลึกว่า ในทุกเหตุการณ์ความขัดแย้ง จะมีชุดข้อมูลที่ถูกเรียกว่า “ความจริง” มากกว่า 1 ชุดข้อมูลเสมอ


ในช่วงต้นๆ ของความขัดแย้ง เมื่อเกิดการออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ของอดีตนายกฯ ทักษิณ โดยมวลชนที่เราเรียกกันติดปากในเวลาต่อมาว่า "คนเสื้อเหลือง" นั้น ข้อมูลที่ถูกผลิตออกมาเพื่ออธิบายถึงการทำงานทางการเมืองการบริหารของรัฐบาลทักษิณ ก็มีหลากหลาย เช่น


ถ้าเป็นข้อมูลจากฝ่ายรัฐบาล นโยบายและการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาล คือ การแก้ปัญหาของประชาชนในแบบที่ไม่เคยมีรัฐบาลในอดีตชุดใดๆ เคยทำได้มาก่อน จนถึงวันนี้ พรรคเพื่อไทยที่กำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ที่ใกล้จะมาถึง ก็ยังหยิบมาพูดถึง และเรียกมันว่า "ไทยรักไทยโมเดล"” ด้วยความภาคภูมิใจ


ในขณะที่ฝ่ายคนที่ออกมาขับไล่รัฐบาลทักษิณ นโยบายและการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาล คือ ปัญหาระยะยาวของประเทศชาติ และเป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะคนมากกว่าผลประโยชน์ของชาติและประชาชน 

 

เบาๆ หน่อย นโยบายทั้งหลายจะถูกเรียกว่า "นโยบายประชานิยม" หนักขึ้นมาอีกนิด การดำเนินการต่างๆ จะถูกมองเป็น “ผลประโยชน์ทับซ้อน” และที่หนักขึ้นจนกลายเป็นตัวเร่งเร้าอารมณ์ของผู้คน คือ การเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า "โกง" หรือ "ขายชาติ"


ต่อมา เมื่อความขัดแย้งดำเนินต่อไปและไม่มีทีท่าจะยุติลงได้ง่าย มันก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา นั่นคือ "รัฐประหาร 19 กันยายน 2549”

 

บทเรียนจากรัฐประหารครั้งนั้นในแง่ข้อมูล เราจะพบว่า เหตุผลหนึ่งที่คณะผู้ก่อการฯ ในขณะนั้นอ้างถึง คือ ความกังวลว่า จะมีการปะทะกันอย่างรุนแรงของประชาชนสองฝ่าย คณะรัฐประหารจำเป็นต้องออกมาป้องกันเหตุ


จะเห็นว่า ข้อมูล ณ ขณะนั้น เราทราบว่า ผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีการนัดหมายชุมนุมใหญ่ ในขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนรัฐบาลก็มีการนัดหมายแสดงพลังเช่นกัน แต่เรายังไม่รู้หรอกว่า มวลชนสองกลุ่มจะปะทะกันไหม รุนแรงเพียงใด แต่คณะรัฐประหารได้นำไปเป็นเหตุผลหนึ่งของการเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง เสียแล้ว


ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงปฏิกิริยาของผู้คนที่สะท้อนออกมาหลังการรัฐประหารก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ฝ่ายหนึ่งชื่นชมยินดี มอบดอกไม้ให้ทหาร อีกฝ่ายหนึ่งออกมาคัดค้านในรูปแบบต่างๆ ทั้งอารยะขัดขืน อดอาหาร ชุมนุมต่อต้าน แม้กระทั่งขับรถ taxi ชนรถถังก็มี 


ข้ามมาถึงความขัดแย้งทางการเมืองหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่สะท้อนผ่านการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่
จะเห็นว่า ประเด็นความขัดแย้งเริ่มปรากฏชัดในประเด็นที่อ่อนไหวซึมลึกยิ่งกว่าในยุค "เหลือง-แดง"


การปะทะกันของข้อมูล ไม่ใช่ การรับรู้ต่อเหตุการณ์/สถานการณ์ ณ ห้วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นการปะทะกันระหว่างข้อมูลของคนหลากหลาย "รุ่น" (generation)


ระดับของข้อมูลที่ฝังอยู่ในผู้คน ไม่ใช่ ระดับรับรู้ รับทราบ หรือเข้าใจ เสียแล้ว แต่หลายเรื่อง เป็นระดับผลลัพธ์ (ทางการเมือง) ในระดับความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ หรือกระทั่งความศรัทธา 


ดังที่เราได้เห็นปรากฏการณ์ความสนใจในการแสวงหาข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ เกิดความพยายามถอดรื้อตีความใหม่ ไปถึงขั้นที่มีการเรียกกันในหมู่พวกเขาว่า "ตาสว่าง" ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะได้เห็นความพยายามปกป้องความรู้ความเข้าใจที่มีต่อข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ชุดเดิมอย่างแข็งขัน และพร้อมที่จะห้ำหั่นแบบเอาเป็นเอาตายหากใครจะมาถอดรื้อความคิดความเชื่อของพวกเรา


สิ่งที่น่ากังวลใจมากที่สุดอีกประการก็คือ ความพยายามในการนำเอาการตีความทางกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้ข้อมูลความจริงที่มีหลากหลายชุด กลายเป็น "ความจริง" เพียงชุดเดียว ชนิด "ผูกพันทุกองค์กร ไม่มีใครล่วงละเมิดได้"


ตัวอย่างการตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นับเป็นตัวอย่างของการนำเครื่องมือทางกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือด้านข้อมูลข่าวสารที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ใครจะเชื่อว่ากฎหมายข้อเดียวกัน จะสามารถถูกตีความได้หลากหลายแนวทาง


การตีความกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องไม่ดี และน่ากังวล แต่การใช้มันเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมืองต่างหากที่น่าสะพรึงกลัวยิ่ง


ในการเลือกตั้งใหญ่ 2566 นี้ เราอาจจะยังไม่รู้แน่ชัดว่า เราจะต้องเผชิญกับการบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมืองแบบใดบ้าง แต่ที่รู้แน่ๆ คือ รูปแบบและวิธีการบิดเบือนข้อมูลนั้น นับวันจะยิ่งแยบยลและมุ่งผลลัพธ์ชนิดเอาเป็นเอาตายมากขึ้นเรื่อยๆ 


การที่มีกลุ่มคน (เช่น Cofact) ลุกขึ้นมาช่วยกันสร้างความตระหนักรู้และร่วมมือกันตรวจสอบข้อมูลเท็จ (misinformation) และข้อมูลบิดเบือน (disinformation) ในช่วงเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน และต้องช่วยกันเปิดพื้นที่ และสร้างเครื่องมือลักษณะนี้ขึ้นมาอีกมากๆ