ความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาร่วมศตวรรษ แต่เรามักถือว่าความขัดแย้งรุนแรงถึงตายได้ปะทุขึ้นในวันปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 19 ปีแล้ว ความขัดแย้งยังยืดเยื้อ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7000 คน
ดังนั้น ผมจึงถือว่าวันที่ 4 มกรา เป็นวันวิปโยค ส่วนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นั้น ควรถือเป็นวันฤกษ์ดีที่จะนำสันติสุขสู่ชายแดนใต้ เพราะเป็นวันที่ตัวแทนรัฐบาลไทย ตัวแทนบีอาร์เอ็น (แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี) ได้ร่วมลงนามในเอกสารชื่อ "ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ" (General Consensus on Peace Dialogue Process)
โดยรัฐบาลมาเลเซียร่วมลงนามในฐานะผู้อำนวยความสะดวก แต่อนิจจา พูดคุยสันติภาพมานาน อีกหนึ่งเดือนก็จะครบสิบปีแล้ว ยังไม่เห็นความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร มีแต่ความคืบหน้าเล็ก ๆ น้อย ๆ และการถอยหลังกลับมาตั้งต้นใหม่ แต่เอาเถอะ ลองมาทบทวนกันดูว่า 10 ปีแห่งการรอคอยสันติภาพ มีเหตุการณ์ผ่านไปอะไรบ้าง (ในการเขียนบทความนี้ ผมได้รับความอนุเคราะห์จาก ฆอซาลี อาแว ศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้ มหาวิทยาลัยมหิดล)
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มอ. ปัตตานีให้สถิติการเกิดเหตุการณ์รุนแรงตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2564 ดังนี้
เราเคยหวังว่าความรุนแรงที่ค่อย ๆ ลดลงจากจำนวน 1791 ครั้งในปี 2556 เหลือเพียง 335 ครั้งในปี 2564 นั้น จะลดลงต่อไปจนเกือบเป็นศูนย์ แต่ที่ไหนได้
ปรากฏว่าในปี 2564 ความรุนแรงกลับเพิ่มขึ้นเป็น 481 ครั้ง เหมือนกับจะเตือนว่า สันติภาพจักได้มาด้วยการพูดคุยและการแก้ไขปัญหาโดยการมีส่วนร่วม มิใช่โดยการกระทำของฝ่ายความมั่นคงหรือฝ่ายผู้เห็นต่าง ฝ่ายเดียว หากเชื่อเช่นนี้ ก็ต้องพูดคุยกันด้วยความจริงใจ การออกตัวว่ายังอยู่ในระยะการสร้างความไว้วางใจ และกำลังเริ่มพูดคุยในเนื้อหาสำคัญ ที่ใช้ศัพท์ว่า "ในประเด็นสารัตถะ" นั้น ควรเลิกออกตัวได้ และควรพูดคุยกันเพื่อหวังผลที่เป็นรูปธรรมเสียที
การพูดคุยสันติภาพอย่างไม่เป็นทางการได้ดำเนินมาก่อนการปล้นปืนปี 2547 ด้วยซ้ำ แต่ถ้านับตั้งแต่การมีข้อตกลงทางการโดยมีรัฐบาลมาเลเซียช่วยอำนวยความสะดวก ก็ถือว่าปี 2556 เป็นจุดเริ่มต้น ก่อนการรัฐประหารปี 2557 ทางการยังใช้คำว่า "พูดคุยสันติภาพ" แต่พอรัฐประหาร มีกุนซือแนะนำว่า ใช้คำว่าสันติสุขดีกว่า เพื่อให้ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องภายใน แต่ในภาษาอังกฤษคงใช้คำว่า peace ตามเดิม ในที่นี้ขอใช้คำว่าการพูดคุยสันติภาพ ส่วนใครชอบใช้ตามราชการว่าสันติสุขก็ไม่เป็นไร
การพูดคุยอาจแบ่งเป็นสองช่วงเวลา คือก่อนรัฐประหารและหลังจากนั้น ก่อนรัฐประหาร รัฐบาลคุยกับ "แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ บีอาร์เอ็น" แล้วมาคุยกับ "มารา ปาตานี" ก่อนจะเปลี่ยนกลับมาคุยกับ บีอาร์เอ็น ใหม่ ส่วนหัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกก็เปลี่ยนไป ตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซีย ตัวแสดงของการพูดคุยสรุปได้เป็นตารางต่อไปนี้
กระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขชายแดนใต้ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
28 กุมภาพันธ์ 2556 คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 เรื่อง การจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการ พูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
26 พฤศจิกายน 2557 หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร พลเอก อักษรา เกิดผล พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์
พลเอกวัลลภ รักเสนาะหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่าง Ustaz Hassan Toib Barisan Revolusi Nasional (BRN) Ustaz Shukri HariMara Patani Ustaz Shukri HariMara Patani Ustaz Anas Abdul RahmanBarisan Revolusi Nasional (BRN) Ustaz Anas Abdul Rahman Barisan Revolusi Nasional (BRN)
หัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวก Dato’ Sri Ahmad Zamzamin bin Hashim Tan Sri Abdul Rahim bin Mohd. Noor Tan Sri Rahim Noor &Tan Sri Dato'Zulkifli Zainal Abidin
เมื่อเริ่มต้นพูดคุยในปี 2556 บีอาร์เอ็นยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ เป็นภาษามลายู ซึ่งมีสำนวนแปลเป็นไทยหลายสำนวน ขอยกสำนวนแปลจาก http://www.deepsouthwatch.org/dsj/4198 มาอ้างดังนี้
บทบาทของบีอาร์เอ็นจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้
ต่อการเจรจาสันติภาพที่จะถึงนี้ การพูดคุยก็จะยังคงดำเนินต่อไปภายใต้เงื่อนไข 5 ข้อดังนี้
1.รัฐสยาม (รัฐไทย) ต้องให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา ไม่ใช่ (เพียง) ผู้อำนวยความสะดวก
2.ต้องเป็นการพูดคุยระหว่างชาวมลายูปาตานีที่นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็น กับฝ่ายสยาม
3.ในระหว่างการพูดคุยจะต้องมีผู้สังเกตการณ์จากประชาคมอาเซียน โอไอซี (องค์การการประชุมอิสลาม) และเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชน)
4.รัฐสยามต้องปล่อยนักโทษที่ถูกคุมขังและยกเลิกหมายจับทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
5.รัฐสยามจะต้องยอมรับว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรเพื่อการปลดปล่อยปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน
ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นทำให้ฝ่ายรัฐบาลอึ้งไป คงเป็นเพราะรู้สึกว่าคลุมเครือ และอาจมีบางแง่มุมที่ไม่อยากยอมรับ ในที่สุด คณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลรับที่จะให้มีการคุยกันในประเด็นข้อเสนอ 5 ประเด็น แต่ยังไม่รับหลักการของข้อเสนอ ก็เกิดการรัฐประหารขึ้น
สำหรับการพูดคุยระหว่างปี 2558 ถึงปี 2561 พลตรีสิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลได้บันทึกไว้ในหนังสือชื่อ "กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต.: ความท้าทายของการต่อสู้ทางความคิดตามเส้นทางสันติวิธี ในทัศนะของผู้ปฏิบัติงานจริง" หมายความว่าแนวทางสันติวิธีเป็นการต่อสู้ทางความคิด สู้กับสายเหยี่ยวที่มีทั้งในราชการไทย และในขบวนการของผู้เห็นต่าง หมุดหมายที่ได้บรรลุผลตามที่พลตรีสิทธิได้เขียนไว้ในหนังสือมีดังนี้
ปี 2558 กลุ่มขบวนการ 6 กลุ่มตอบรับเข้าร่วมการพูดคุย
ปี 2559 จัดตั้งคณะทำงานทางเทคนิคร่วม
ปี 2560 บรรลุข้อตกลงเรื่อง TOR (term of reference หรือข้อกำหนดทางเทคนิคของการพูดคุย)
ปี 2561 เห็นชอบให้มีพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง ที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส
ตามที่เป็นข่าว นายกรัฐมนตรีไม่เห็นชอบที่จะมีการลงนามในเอกสารจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย โดยเกรงว่าจะหมายถึงการให้การยอมรับต่อขบวนการของผู้เห็นต่าง ข้อตกลงเป็นอันพับไป หลังจากความพยายามอย่างหนักของการต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธี การล้มกระดานตอนท้ายดูเหมือนจะเป็นความสามารถพิเศษของนายกรัฐมนตรี ดังตัวอย่างการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ และต่อมาในการคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม กระบวนการพูดคุยฯ จึงไปเริ่มต้นใหม่ ลืมเรื่องพื้นที่ปลอดภัยที่เตรียมการมาเสียดิบดี
มีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาล แต่ในไม่ช้า คณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างตัดสินใจไม่คุยกับหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาล รัฐบาลเลยถือเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนทั้งหัวหน้าคณะพูดคุย และเปลี่ยนคู่สนทนากลับมาเป็นบีอาร์เอ็นเหมือนตอนเริ่มต้น
ในส่วนของหัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวก มีการเปลี่ยนตัวตามการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อ นาจิบ ราซัก เป็นนายกรัฐมนตรี เขาแต่งตั้ง Ahmad Zamzamin เป็นผู้อำนวยความสะดวก เมื่อมาฮาดีร์โทฮามัด เป็นนายกรัฐมนตรี เขาแต่งตั้ง Rahim Noor เมื่อ อันวาร์ อิบราฮิม เป็นนายกรัฐมนตรี เขาแต่งตั้งอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด Zulkifli Zainal Abidin เป็นผู้อำนวยความสะดวก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566
ในระหว่างการพูดคุยอย่างเป็นทางการ มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการที่ดูเหมือนว่ามีองค์กรหนึ่งที่คอยอำนวยความสะดวกคือ Centre for Humanitarian Dialogue หรือ HD Centre ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเจนีวา HD Centre ทำงานด้านสันติภาพโดยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยและใช้วิธีทางการทูตแบบไม่ออกหน้าออกตา
เมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2560 ขณะที่ตัวแทนรัฐบาลคุยอยู่กับมาราปาตานี ได้มีการพูดคุยระหว่างตัวแทนบีอาร์เอ็นกับตัวแทนรัฐบาลที่กรุงเบอร์ลิน และมีข้อตกลงที่ใช้ชื่อว่าการริเริ่มเบอร์ลิน ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 ต่อมาตลอดปี 2561-2562 HD Center ได้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยระหว่างตัวแทนบีอาร์เอ็นกับตัวแทนรัฐบาล เช่นการประชุมที่กรุงจาการ์ตาในเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งได้บรรลุข้อตกลง 3 ข้อ คือ
1) การใช้โรดแมปที่เป็นผลจากการเจรจาในปี 2561-2562 ที่ผ่านมา
2) การมีผู้สังเกตการณ์การประชุมจากประชาคมระหว่างประเทศ และ
3) การใช้ TOR ที่ตกลงกันไว้ระหว่างรัฐบาลกับ มารา ปาตานี ต่อไป
ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก บีอาร์เอ็นได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว โดยจะไม่ใช้ความรุนแรงยกเว้นเมื่อถูกโจมตีก่อน
นอกจากนี้ยังประกาศที่จะไม่ทำร้ายเด็กและผู้หญิง อย่างไรก็ดี ฝ่ายรัฐบาลไม่ให้ความสนใจแก่การประกาศหยุดยิงของบีอาร์เอ็น โดยอ้างว่าการกระทำของฝ่ายความมั่นคงต้องดำเนินไปตามกฎหมาย
ในการประชุมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2565 ตัวแทนรัฐบาลและบีอาร์เอ็นเห็นชอบที่จะพูดคุยกันในประเด็นสารัตถะ 3 ประเด็น คือ
1) การลดความรุนแรง
2) ตัวแทนบีอาร์เอ็นสามารถปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย และ
3) การแสวงหาทางออกทางการเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนชาวปาตานี ภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของไทยตามกรอบรัฐธรรมนูญ
ผลประการหนึ่งของการพูดคุยคือ รัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นตกลงหยุดปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ปาตานีในช่วงเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมระหว่างวันที่ 3 เมษายน ถึง 14 พฤษภาคม 2565
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 นิมะตุลเลาะ บิน เสรี โฆษกของบีอาร์เอ็น แถลงข่าวโดยนำเสนอแถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 โดยมีสาระสำคัญว่า คณะทำงานของรัฐบาลและของบีอาร์เอ็นกำลังร่าง "โรดแมป" หรือแผนสันติภาพเพื่อยุติการสู้รบที่มีมาตั้งแต่ปี 2547 ร่างโรดแมปดังกล่าวเสนอ "การยุติความเป็นปรปักษ์ของทั้งสองฝ่ายบนเงื่อนไขการรับประกันความปลอดภัยและและคุ้มกันทางกฎหมาย เพื่อให้ตัวแทนบีอาร์เอ็นกลับภูมิลำเนาเพื่อปรึกษาหารือกับประชาชนและตรวจสอบความเป็นอยู่ของประชาชนที่ทนทุกข์ทรมานมายาวนาน"
แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นยังระบุว่า "ชาวปาตานีร่วมกับบีอาร์เอ็นจะจับมือกัน เพื่อบรรลุถึงเป้าหมาย การปกครองแบบกระจายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยและรัฐสภาพิเศษสำหรับชาวปาตานี"
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะประสานงานระดับพื้นที่เพื่อหารือแนวทางสร้างสันติสุข พร้อมแถลงความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนแนวโน้มของการพูดคุยสันติสุขในอนาคต
โดยยืนยันการจัดทำโรดแมปเพื่อกำหนดทิศทางที่ควรจะเป็น ก่อนแสวงหาทางออกตามโรดแมปต่อไป และกล่าวว่าการพูดคุยเพื่อสันติสุขครั้งต่อไปจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ในการประชุมครั้งนี้ หัวหน้าคณะพูดคุยฯได้รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อประเด็นสารัตถะทั้ง 3 ประเด็น (การลดความรุนแรง, การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่, การแสวงหาทางออกทางการเมือง) เพื่อให้การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นผลเป็นรูปธรรมในอนาคตต่อไป
การที่อันวาร์ อิบราฮิม ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียนั้น ทำให้เกิดความหวังต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้มากขึ้น ด้วยนายกรัฐมนตรีอันวาร์ เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีความเข้าใจประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งมีการกล่าวขานว่าเป็นนักการเมืองเลือดนักสู้เพื่อประชาชน นับว่าเป็นโอกาสแก่ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายบีอาร์เอ็น กระบวนการพูดคุยต่อจากนี้จะมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ดี การที่ตัน ศรี ซูลกิฟลี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่นั้น ยังไม่สามารถประเมินวิธีการทำงานได้ คงจะต้องให้เวลาสำหรับศึกษาและเรียนรู้กระบวนการสักระยะหนึ่งก่อน
ผมมีความเห็นว่า ประเด็นสารัตถะทั้ง 3 ประเด็น จะว่ายากก็ใช่ เพราะต้องมีรายละเอียดทั้งในหลักการและในทางปฏิบัติอยู่มาก แต่ไม่ยากจนเกินไป ขอแต่เพียงทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายบีอาร์เอ็นมีปณิธานทางการเมือง ที่จะยุติการสู้รบภายใน 1 ปี ซึ่งจะเป็นการยุติความรุนแรงที่ยืดเยื้อมา ภายใน 20 ปีให้จงได้ โดยมีข้อเสนอดังนี้
1) ในประเด็นการลดความรุนแรง ขอให้ทั้งสองฝ่ายประกาศหยุดยิงโดยเร็ว ทั้งนี้ ในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา การหยุดยิงได้ผลพอสมควรและมีกลไกเบื้องต้นของการตรวจสอบแล้ว (ในช่วงการระบาดของโควิด-19 บีอาร์เอ็นประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว น่าเสียดายที่ฝ่ายรัฐบาลทำนิ่งเฉย) โดยมีข้อตกลงที่ชัดเจนในเรื่องการตรวจสอบ ซึ่งเป็นกลไกที่คงไม่สมบูรณ์ในตอนต้น แต่อาจปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ที่สำคัญ การหยุดยิงจะช่วยลดการเสียชีวิตลงได้
2) ในประเด็นการอนุญาตให้ผู้นำบีอาร์เอ็นเข้ามาดำเนินการทางการเมืองอย่างปลอดภัยในประเทศ แน่นอนว่าต้องไม่มาก่อเหตุรุนแรงอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่สำหรับเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ถ้ามีการหยุดยิงจริง ก็ควรออกกฎหมายยกโทษเก่าให้ เหมือนกับการยกโทษให้ผู้ต่อสู้กับรัฐสมัยคอมมิวนิสต์ ให้ได้รับนิรโทษกรรมในทางปฏิบัติ กลับมาเป็น "ผู้พัฒนาชาติไทย"
3) การแก้ไขปัญหาทางการเมืองเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา แต่หลักการคือ การมีความเป็นเอกเทศ (autonomy มิใช่เอกราช) ในกรอบของการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะเป็นแบบสก็อตแลนด์ หรือแบบอาเจห์ หรือแบบทิเบต หรือแบบไทย ๆ นี่แหละ แต่ก็ต้องคำนึงถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน
โดยเฉพาะสิทธิของชนกลุ่มน้อย ในอันที่จะรักษาอัตลักษณ์ของตน และมีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะคนกลุ่มน้อยอย่างมีศักดิ์ศรีขอให้การพูดคุยสันติสุขรอบต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์มีความคืบหน้า ขอให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งให้ความสำคัญแก่สันติภาพในชายแดนใต้ และมีปณิธานที่จะแก้ไขปัญหา โดยไม่ปล่อยให้ชะตากรรมของผู้คนในชายแดนภาคใต้ตกอยู่ในมือของสายเหยี่ยวอยู่เรื่อยไป นี่คือการต่อสู้ในแนวทางสันติวิธี จะเรียกว่าเพื่อสันติสุข หรือเพื่อสันติภาพก็ได้