22 เมษายน 2568 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงในห้วงที่ผ่านมา
เริ่มต้นจากกรณีลอบยิงผู้นำศาสนา ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส นายอับดุลรอนิง ลาเต๊ะ อายุ 60 ปี ซึ่งมีกลุ่มขบวนการฝ่ายตรงข้าม พยายามบิดเบือนข้อมูลให้เข้าใจว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ยืนยันชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัย ของพี่น้องประชาชน ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ที่นำไปสู่การละเมิดกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชน หน้าที่หลักของหน่วยงานด้านความมั่นคง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ การควบคุมพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรง พร้อมทั้งดำเนินการตามกฎหมาย อย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำผิด เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน
พลโท ไพศาล กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย ของเดือนเมษายน 2568 นั้น มีความเป็นไปได้สูงที่ทุกเหตุการณ์จะมีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากพฤติกรรมของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในแต่ละกรณี ล้วนมีเป้าหมายไปยังพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นกรณีลอบยิง อุสตาซ เหตุระเบิดบริเวณสถานีตำรวจภูธรโคกเคียน หรือการลอบยิงสามเณร ระหว่างเดินทางออกไปบิณฑบาต ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงความพยายาม ในการสร้างความหวาดกลัว และทำลายความสันติสุขของสังคมในวงกว้าง
โดยมาตรการดูแลความปลอดภัย ของพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงใช้แนวคิด “Right to Self-Determination” หรือสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง เป็นหลักในการเคลื่อนไหว โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 4 ประการ คือ สภาพอาณานิคม, ความขัดแย้งด้วยอาวุธ, การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและกว้างขวาง รวมถึงการแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่ม ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกนำมาใช้เป็นเหตุผล ในการสร้างความชอบธรรมต่อการกระทำของตน
ในอดีต การก่อเหตุความรุนแรง มักมุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ถืออาวุธ เช่น ทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง แต่ในปัจจุบัน กลุ่มผู้ก่อเหตุได้เปลี่ยนเป้าหมาย ไปยังกลุ่มที่อ่อนแอกว่า เช่น ผู้นำศาสนา เด็ก และอุสตาซ รวมถึงพี่น้องชาวไทยพุทธและสามเณร ซึ่งในอดีตเคยตกเป็นเป้าหมายมาแล้ว
พลโท ไพศาล กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของฝ่ายตรงข้าม ในการยกระดับการก่อเหตุ เพื่อสร้างแรงกดดันและบ่อนทำลายความสันติสุขในพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนเข้าใจถึงกลไก ของขบวนการดังกล่าว และร่วมมือกับภาครัฐในการเฝ้าระวัง และปกป้องชุมชนของตนเองอย่างใกล้ชิด
ส่วนกระแสที่มองว่า เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจมีจุดประสงค์ เพื่อกดดันรัฐบาลให้มีการจัดตั้งคณะเจรจาสันติสุขนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า การแต่งตั้งคณะเจรจาฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในพื้นที่โดยตรง แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมา กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีแนวโน้ม จะสร้างสถานการณ์ขึ้นมา เพื่อหวังผลในการต่อรองหรือแสดงอิทธิพลต่อกระบวนการพูดคุย
ทั้งนี้ การพูดคุยสันติสุขควรเป็นไปตามกระบวนการอย่างสงบ และจะต้องไม่มีเหตุความรุนแรงในพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงไม่ควรใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือกลุ่มเปราะบาง เป็นเครื่องต่อรองในการเจรจา เพราะสิ่งเหล่านี้จะยิ่งบั่นทอนความไว้วางใจ และขัดขวางโอกาสในการสร้างสันติสุขอย่างแท้จริง
ส่วนเหตุการณ์ลอบยิงสามเณรที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เป็นการสร้างสถานการณ์ ที่มีการวางแผนอย่างเร่งด่วนจากกลุ่มผู้ก่อเหตุ ซึ่งพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเปราะบาง หากไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ก็จะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มเป้าหมาย
ในส่วนมาตรการตอบโต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดประชุมเพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง เช่น ครู พระ ผู้นำศาสนา และชุมชนไทยพุทธ พร้อมจัดตั้ง "ศูนย์บังคับการทางยุทธวิธี" ในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ เช่น พื้นที่รอยต่ออำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา กับอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี, อำเภอแว้ง และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมสถานการณ์และดูแลความปลอดภัยของประชาชน
ส่วนการปฏิบัติงานในขณะนี้นั้น เจ้าหน้าที่รัฐกำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนในคดีต่าง ๆ โดยรวบรวมพยานหลักฐานและบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อจัดการกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ที่ถูกหล่อหลอมจากการปลูกฝังแนวคิดสุดโต่ง ซึ่งทำลายความสันติสุขในพื้นที่ และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 ขอให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงทบทวนพฤติกรรม ว่ามีสิ่งไหนอีกที่ยังไม่ได้รับ ในฐานะพลเมืองของไทย และไม่อยากให้เอาเรื่องราวในอดีตมาทำลายปัจจุบัน อยากให้ทุกคนหันหน้ามาคุยกัน และร่วมกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราต่อไป