svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ทั่วไทย

โคราช 10 อำเภอ เสี่ยงแล้งหนัก ประกาศงดทำนาปรัง

โคราชส่อวิกฤต ชลประทานจังหวัด ประกาศงดทำนาปรัง เหลือน้ำไว้ใช้ผลิตประปาเป็นหลัก เขื่อนลำตะคองน่าห่วง เหลือน้ำใช้ 28 %

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นำคณะตรวจติดตามสถานการณ์น้ำที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งอ่างเก็บน้ำลำแชะ เป็น 1 ใน 4 อ่างเก็บน้ำหลักของจังหวัดนครราชสีมา และเป็นหนึ่งในอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพในการสำรองน้ำ เพื่อสนับสนุนระบบประปาของการประปาส่วนภูมิภาคนครราชสีมา และการประปาภายในเขตเทศบาลนครราชสีมา 

ซึ่งการตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในครั้งนี้ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง หลังจากพบว่า ปีนี้ปริมาณน้ำภายในเขื่อน และอ่างเก็บน้ำสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา มีน้ำต้นทุนเก็บกักน้อยกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา จึงต้องวางแผนการจัดการน้ำล่วงหน้าอย่างรอบคอบมากขึ้น

โคราช 10 อำเภอ เสี่ยงแล้งหนัก ประกาศงดทำนาปรัง  

โดยล่าสุด ปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บน้ำลำแชะ อยู่ที่ 153.6 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น จากความจุทั้งหมดที่ 275 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุ 

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่า พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เป็น 1 ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงประสบกับปัญหาภัยแล้ง โดยมีประมาณ 10 อำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นชุมชนหนาแน่น อย่างเช่น เขตเทศบาลนครนครราชสีมา และพื้นที่รอบนอก ในขณะที่ปริมาณน้ำภายในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำสำคัญอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีการวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบและรัดกุมที่สุด

โคราช 10 อำเภอ เสี่ยงแล้งหนัก ประกาศงดทำนาปรัง

ด้าน นายสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ในฐานะรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำภายแหล่งน้ำดิบทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำที่ต้องเฝ้าระวัง และวางแผนการจัดการน้ำอย่างเข้มข้น โดยภาพรวมมีปริมาณน้ำอยู่ประมาณร้อยละ 55 อย่างเช่น อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ตอนนี้มีปริมาณน้ำภายในอ่างเพียงร้อยละ 33 แต่เป็นน้ำใช้การได้เพียงร้อยละ 28 เท่านั้น 

จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือให้เกษตรกรทั่วทั้งจังหวัด งดการปลูกข้าวนาปรัง ทั้งหมด เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภคเป็นหลัก และให้หันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน เพราะมีความเสี่ยงสูงที่ผลผลิตจะขาดน้ำและได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง