วันที่ 11 ตุลาคม 2567 จากกรณีที่นางพรชนก พรหมโคกกลาง อายุ 44 ปี บุตรของนายประมูล วินทะชัย อายุ 75 ปี ซึ่งเป็นผู้สูงอายุและป่วยติดเตียง จะไปกดเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มาใช้จ่ายในครอบครัว แต่กดเงินไม่ได้เนื่องจาก เอ ที เอ็ม ของพ่อหมดอายุมาแล้ว 2 เดือน จึงเดินทางไปยังธนาคารออมสิน สาขาสี่แยกโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ซึ่งพ่อเปิดบัญชีไว้ แต่ธนาคารบอกว่า ไม่สามารถจะทำบัตร ATM ใหม่ให้ได้ เพราะเจ้าตัวต้องมาเซ็นด้วยตัวเอง ตนจึงบอกว่าพ่อนอนป่วยติดเตียงไม่สามารถเซ็น หรือพูดเป็นสำเนียงได้เลย ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าสิ่งที่จะทำได้ก็คือ ทายาทต้องไปยื่นเรื่องต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งออกมา จึงจะดำเนินการให้ได้
จากนั้นตนไปสอบเจ้าหน้าที่ที่ศาลทราบว่า ไม่สามารถยื่นเรื่องขอคำสั่งศาลด้วยตัวเองได้ จะต้องให้ทนายความเป็นคนยื่นเรื่อง และดำเนินการ รวมทั้งต้องนำทายาททุกคนมาร่วมลงชื่อด้วย ตนจึงได้บอกพี่น้องอีก 2 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 1 คน ทำงานอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต้องลางาน รีบซื้อตั๋วรถทัวร์ เดินทางกลับร้อยเอ็ด ใช้เวลากว่า 12 ชั่วโมง
แต่พอไปสอบถามทนายความ ทนายคนแรกบอกว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 6,000 บาท จึงยังไม่ตัดสินใจ ไปถามทนายคนที่ 2 จะมีค่าใช้จ่าย 8,000 บาท ตอนแรกคิดว่าจะตัดสินใจจ้างทนาย เพราะลำบากมากแล้ว แม้จะจ่ายไป 8,000 ยังเหลือบ้าง 2,000 บาท แต่คิดดูอีกที เราต้องควักเงินสดจ่ายทนายจำนวน 8,000 บาท และไม่รู้ว่าจะเบิกเงินหมื่นได้เมื่อไหร่ ได้จึงไม่ตกลง
ช่วงนั้นมีเพื่อนแนะนำว่าให้ไปที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ตนก็ได้เดินทางไปที่ศูนย์ดำรงธรรม ทางศูนย์ดำรงธรรมก็แจ้งให้ไปยื่นเรื่องกับยุติธรรมจังหวัด ตนก็ไปยุติธรรมจังหวัด สุดท้ายก็ต้องไปจบที่ศาล เรื่องที่เกิดขึ้นแค่พ่อเซ็นชื่อไม่ได้ ทำเอาลำบากทั้งครอบครัวมากขนาดนี้หรือ หรือจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกลับไปจ่ายค่าทนาย ถึง 8,000 บาท ท้ายที่สุดมีคนแนะนำลองไปขอความช่วยเหลือ จากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิ์ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ของคณะกรรมการอัยการภาคประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด โดยความร่วมมือของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมาย และการบังคับคดีจังหวัดร้อยเอ็ด
ก็ได้พบกับนายชานนท์ ลิขิตบัณฑูร ประธานคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสำนักงานอัยการภาค 4 และสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนจะประสานไปยัง พ.ต.ท.บุณถิ่น วันภักดี อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดร้อยเอ็ด มาร่วมรับฟังเพื่อหาทางช่วยเหลือ จากนั้นได้สอบถามๆไปยังทางธนาคารว่า จะมีทางออกแก่ประชาชนที่สะดวกรวดเร็วได้อย่างไรบ้าง
ต่อมานางปาริชาติ บุญมาศ ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาสี่แยกโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ได้นำเจ้าหน้าที่ธนาคารลงพื้นที่ร่วมกับคณะอัยการคุ้มครองสิทธิ์ไปยังบ้านของนายประมูล วินทะชัย พบว่านอนป่วยติดเตียงขยับร่างกายแขน ขา ลำบาก ลูกๆต้องคอยดูแลป้อนน้ำ อาหารให้
ผู้จัดการธนาคาร กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ พบว่าลูกค้ารายดังกล่าวมีบัตร เอทีเอ็ม ซึ่งปกติก็กดเงินได้เลย ทีนี้บัตรเอทีเอ็มดันหมดอายุ จึงกดเงินไม่ได้ ตามระเบียบถ้าจะทำบัตรใหม่ ต้องให้เจ้าตัวไปเซ็นที่ธนาคาร แต่เจ้าตัวเป็นผู้ป่วยติดเตียง และไม่สามารถเซ็นได้ ธนาคารจึงทำบัตรใหม่ให้ไม่ได้ เพราะมันเป็นระเบียบของธนาคาร จะต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล โดยทายาทต้องร้องไปยังศาลให้มีคำสั่งถึงธนาคาร จึงจะสามารถดำเนินการทางธุรกรรมให้ได้
ปัจจุบันทายาท ซึ่งเป็นบุตรไปยื่นเรื่องขอเป็นผู้ดูแล ผู้บริบาลให้กับคุณพ่อแล้ว ฉะนั้นเงินส่วนนี้ซึ่งเป็นเงินพึงมีพึงได้จากเงินผู้สูงอายุจากผู้พิการ ก็จะเข้าบัญชีผู้ดูแล และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาแล้ว ตอนนี้ผู้ป่วยไม่สามารถเขียนลายมือชื่อได้ จำเป็นต้องพิมพ์ลายนิ้วมือแทน เพื่อเสนอเรื่องอนุมัติโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ดูแลต่อไป
เรื่องราวที่เกิดขึ้นทำเอาครอบครัวและลูกๆ ที่อึดอัดมาหลายวันโล่งอก และขอบคุณทางอัยการคุ้มครองสิทธิ์และคณะ รวมทั้งผู้จัดการธนาคารอออมสิน สาขาสี่แยกโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ที่ให้การช่วยเหลือจนจบด้วยดี
ผู้จัดการธนาคารออมสิน กล่าวทิ้งท้ายว่า หากพี่น้องประชาชนท่านใดประสบปัญหาในลักษณะดังกล่าวสามารถแจ้งไปยังธนาคารออมสินทุกสาขาใกล้บ้านซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารจะออกไปให้บริการถึงที่ เพื่อลดภาระและแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป