10 ตุลาคม 2567 ที่ห้องประชุมชั้น 5 อาคารรัฐสีมาคุณากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อ.เมือง จ.นครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับสถานีตำรวจภูธรโพธิ์กลาง ได้จัดกิจกรรมเสวนา ให้ความรู้ ในหัวข้อ “SUT รู้ทันกลลวง คอลเซ็นเตอร์ ภัยร้ายใกล้ตัว” นำโดย พ.ต.อ.วีณวัฒน์ ศรีแย้ม ผกก.สภ.โพธิ์กลาง และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวน สภ.โพธิ์กลาง ซึ่งมาบรรยายให้ความรู้แก่ผู้ร่วมฟังเสวนา ทั้งในห้องประชุม และการไลฟ์สดผ่านเพจเฟสบุ๊ค “Suranaree University of Technology” และเพจ “มทส. ที่รัก” มีคณาจารย์ และนักเรียน นักศึกษา ร่วมฟังเสาวนากันเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ โทรศัพท์มาใช้อุบายหลอกนักศึกษา ให้ไปเช่าหอพักกักตัว แล้วหลอกให้ผู้ปกครองโอนเงินให้นักศึกษา ก่อนที่นักศึกษาจะโอนเงินให้มิจฉาชีพ ซึ่งมีนักศึกษา มทส.ตกเป็นเหยื่อกว่า 200 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่า มีนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่น ทั้งในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และในพื้นที่ภาคเหนือ ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในลักษณะนี้ด้วยอีกหลายร้อยราย
นายอรรถวุฒิ ภูคำวงษ์ ที่ปรึกษาหอพัก มทส. เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ส.ค. – 30 ก.ย. 67 มีนักศึกษา มทส.ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพกว่า 200 ราย ซึ่งพฤติกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ครั้งนี้ จะทำงานกันเป็นทีม โดยลำดับเหตุการณ์คือ
1.ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ โทรศัพท์หาผู้เสียหาย ทำเป็นว่ามีหมายเลขบัตรประชาชน ไปเกี่ยวข้องคดีต่างๆ อาชิ ไปติดตั้งอินเตอร์เนตบ้านไม่ชำระเงินที่ต่างหวัด เว็บพนันออนไลน์ เว็บสื่อลามกอนาจาร เเล้วเเต่มิจฉาชีพจะสร้างสถานการณ์ข่มขู่ ให้เหยื่อเกิดความหวาดกลัว เกี่ยวกับคดีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
2.หลังจากเหยื่อหลงเชื่อมิจฉาชีพ กลุ่มนี้จะให้เหยื่อไปหาสถานที่เงียบๆ คนเดียวสนทนาโดยไม่ให้มีบุคคลที่ 3 อยู่ด้วย และสั่งห้ามบอกใครเด็ดขาด ออกกลอุบายให้เหยื่อไปเช่าห้องพักกักตัวเองเพื่อพูดคุยคดีความ เหยื่อบางรายกักตัวเอง 7 วัน โดยมิจฉาชีพจะใช้จิตวิทยาพูดคุมเหยื่อผ่านออนไลน์ พร้อมห้ามบอกใครว่าพักอยู่ที่ไหน
3.หลังจากเหยื่อดำเนินการต่างๆ เสร็จ เริ่มทำตามแผนโดยให้เหยื่อโอนค่าการดำเนินคดีก่อน และควบคุมเหยื่อผ่านออนไลน์ตลอดเวลา 24 ชม. ซึ่งมิจฉาชีพจะทำหน้าที่เข้าเวรเปลี่ยนกันควบคุมเหยื่อทางออนไลน์ หลังจากนั้นจะให้เหยื่อหลอกลวงผู้ปกครองสร้างสถานการณ์ต่างๆ ในการหาเงินมาให้ เช่น ให้เหยื่อถ่ายรูปปัจจุบัน แล้วตกแต่งภาพผ่านเเอปต่างๆ ว่า เหยื่อโดนทำร้ายร่างกาย หรือให้เหยื่อพิมพ์ข้อความว่า ถูกจับตัวหรือหายตัวออกจากหอ แล้วส่งไปให้ผู้ปกครอง พร้อมสั่งให้เหยื่อพิมพ์ข่มขู่ผู้ปกครองตนเองเพื่อให้ได้เงิน
หากผู้ปกครองคนไหนหลงเชื่อก็จะโอนให้เหยื่ออย่างรวดเร็ว เพราะมิจฉาชีพใช้เหยื่อเป็นเครื่องมือ ในการติดต่อผู้ปกครอง ไม่ได้ให้ติดต่อตนเอง เพราะถ้าผู้ปกครองโอนโดยตรง ก็จะเกิดข้อสงสัยของปลายทางว่า เลขบัญชีใครอาจจะไม่โอน เลยต้องใช้บัญชีเหยื่อเป็นเครื่องมือ และให้เหยื่อโอนเงินให้กลุ่มมิจฉาชีพอีกที
4.หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะโทรหาผู้ปกครอง โดยได้เบอร์จากเหยื่อนั้นเอง ข่มขู่ว่าลูกติดพนันออนไลน์ ให้นำเงินมาใช้หนี้ หรือถูกจับเรียกค่าไถ่บ้าง แล้วเเต่จะสร้างสถานการณ์ หากผู้ปกครองหลงเชื่อขาดสติ ก็จะเสียทรัพย์ทันที
เหตุการณ์ใกล้ตัวกลยุทธของมิจฉาชีพทุกวันนี้ เปลี่ยนเเปลงมีทุกรูปแบบ เคสนักศึกษาล่าสุดนี้ ดีที่ไปช่วยได้ทันเหตุการณ์ รู้ที่พักของเหยื่อที่ถูกหลอกไปเช่าอยู่ เเจ้งผู้ปกครองและคนรอบข้างได้ทันการณ์ห้ามโอน แต่ก็มีการเสียทรัพย์จำนวนหนึ่ง เคสนี้เสียเงิน 33,000 บาท แต่มีบางเคสที่ไปเช่ารีสอร์ต ซึ่งอยู่ห่างไกลมหาวิทยาลัย ทำให้ติดต่อไม่ได้ และมีนักศึกษารายหนึ่งที่ถูกหลอกเสียเงินมากที่สุดมากถึง 5 แสนบาท
ขณะที่เมื่อวันที่ 27 ก.ย.67 วันเดียว มีเคสนักศึกษา มทส.ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ 3 ราย เสียเงินไปกว่า 6.9 แสนบาท ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า ถ้ารวมความเสียหายของเหยื่อทั้งหมดกว่า 200 คน จะมากกว่า 3 ล้านบาท
5.มิจฉาชีพมีการให้เหยื่อตายใจโอนเงินให้ค่าเช่าห้องพัก เพื่อถ่วงเวลาให้เหยื่ออยู่กักตัวเองต่อ และหาเเนวทางให้เหยื่อโกหกหลอกให้ผู้ปกครองโอนเงินให้ได้มากที่สุด และจะอ้างว่าทำเรื่องทางคดียังไม่เสร็จ เงินก็คือเงินเหยื่อที่โอนให้จำนวนก่อนหน้านี้
ซึ่งหลังจากนี้ทางหอพักมหาวิทยาลัยฯ จะมีการแจ้งข่าวสาร เตือนนักศึกษาหลากหลายช่องทาง เช่น ติดประกาศตามหอพัก, ติดตามประตูห้องน้ำในหอพักทุกห้อง, แจ้งเตือนผ่านกลุ่มไลน์หอพัก และกลุ่มไลน์ผู้ปกครอง และแจ้งเตือนและขอความอนุเคราะห์ให้หอพักเครือข่าย มทส.และหอพักรอบมหาวิทยาลัย สอดส่องดูแลเด็กในหอพักอย่างใกล้ชิด
ด้าน พ.ต.อ.วีณวัฒน์ ศรีแย้ม ผกก.สภ.โพธิ์กลาง กล่าวว่า กรณีนี้มีนักศึกษา มทส.ตกเป็นเหยื่อกว่า 200 ราย โดยบางส่วนจะเป็นการหลอกให้ซื้อของออนไลน์ แล้วได้ของไม่ตรงปก แต่ที่สูญเสียเงินมากๆ จะเป็นกลุ่มที่ถูกมิจฉาชีพปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งว่านักศึกษาเกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ เช่นคดีพนันออนไลน์ ซึ่งวัยรุ่นหลายคนอาจจะเคยเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่มิจฉาชีพขู่ว่า จะถูกดำเนินคดีข้อหาหนักหลายข้อ เช่นคดีการฟอกเงิน โยงกับพ่อค้ายาเสพติด เพื่อให้เหยื่อเกิดความหวาดกลัว แล้วอ้างว่าจะสามารถช่วยเคลียร์ดีให้ได้ แต่ต้องทำตามที่บอก ทำให้นักศึกษาหลงเชื่อโอนเงินไปให้มิจฉาชีพจำนวนมาก
ตนยืนยันว่า ความผิดลักษณะนี้เป็นความผิดเล็กน้อย ไม่ต้องกลัว แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีนโยบายโทรศัพท์มาแจ้งข้อกล่าวหา แต่จะมีการออกหมายเรียกให้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาเท่านั้น หรือถ้าสงสัยก็ขอให้กล้าเข้ามาหาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.ใกล้เคียง อาจจะนำเบอร์โทรศัพท์ หรือแคปหน้าจอของผู้ที่โทรศัพท์หามาที่ สภ. เพราะทุก สภ.จะสามารถตรวจสอบให้ได้ว่าคนที่โทรศัพท์มา เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงหรือปลอม อย่าเพิ่งหลงเชื่อโอนเงินไปเป็นอันขาด เพราะถ้าโอนเงินไปแล้วจะไม่มีโอกาสได้เงินคืนแน่นอน