05 ตุลาคม 2567 นายกสมาคมสหพันธ์ปางช้างไทย ระบุยังมีช้างดุอีก 7 เชือกถูกขังในคอก ยืนจมน้ำนานกว่า 30 ชั่วโมง เจออุปสรรคทีมงานเสี่ยงดำน้ำปลดกลอนประตู แต่เจอโคลน เผยปางช้างกว่า 80 แห่งได้รับผลกระทบน้ำท่วม แต่เตรียมแผนอพยพไปที่ปลอดภัยแล้ว ตั้งคำถามทำไม Elephant Nature Park ไม่มีแผนอพยพช้าง
ขณะที่ปางช้างแม่แตง แนะทบทวนการเลี้ยงช้างแบบขังคอก เศร้าพบช้างหนีน้ำท่วมล้ม ไป1 เชือก ด้านมูลนิธิเพื่อนช้าง เตือนไม่ใส่โซ่ช้าง อันตรายต่อชีวิตทั้งช้างและคน
นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสมาพันธ์ช้างไทย เปิดเผยถึงการปฎิบัติภารกิจในการช่วยเหลือช้างที่ติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ภายใน Elephant Nature Park ตำบลกึ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นของนางสาวแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิช้างและสิ่งแวดล้อม ว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือช้างออกมาได้หลายสิบเชือกให้ไปอยู่ในพื้นที่บนบกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีช้างอีกจำนวนหนึ่งที่ยังติดค้างอยู่ในคอก ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือออกมาได้ โดยทางทีมงานช่วยเหลือ ประเมินว่า หลายเชือกอยู่ในภาวะอ่อนแรง น่าเป็นห่วง เพราะจมน้ำเป็นเวลานานกว่า 30 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ช้างที่จมน้ำอยู่ในคอกจะรอดหรือไม่รอดอยู่ที่ปริมาณน้ำฝนในคืนวันนี้ว่าจะเติมเข้ามาหรือไม่ ตอนนี้ได้พยายามติดต่อทางอำเภอเวียงแหง ว่าจะมีมวลน้ำเข้ามาอีกหรือไม่ ซึ่งหากว่าไม่มีก็จะเป็นบุญของช้างที่อาจจะรอดชีวิต โดยตอนนี้สภาพช้างไม่ได้แข็งแรง แต่ก็ขอชื่นชมทีมงานที่นำเรือยางเข้าไปช่วยเหลือปลอดภัยท่ามกลางกระแสน้ำที่สูง และน้ำแรงมาก
การปฎิบัติภารกิจของทีมช่วยเหลือทุกฝ่ายดำเนินการไปด้วยความลำบาก โดยอุปสรรคอยู่ที่ระดับความลึก และช้างแทบทุกเชือกอยู่ในคอก ซึ่งทีมงานไม่มีผัง และสภาพของคอกเป็นอย่างไร
“ทีมที่เข้าช่วยไม่รู้ว่าประตูคอกอยู่ด้านไหน และเมื่อทีมงานเข้าไปช่วยเหลือไม่รู้ว่าจะเปิดประตูอย่างไร ตัวกลอนอยู่ใต้น้ำ ทีมงานได้ตัดสินใจดำน้ำ ซึ่งถือว่าอันตรายมาก เมื่อดำลงไปเจอกลอนประตู แต่ก็ไม่มีแรงดันประตู เพราะประตูจมอยู่ในโคลน แม้ว่าทีมงานที่ไปจะมีทักษะที่จะดูแลช้าง แต่ทางกายภาพ เราไปด้วยมือเปล่าไม่มีอุปกรณ์เข้าไป ทำให้ช่วยช้างได้ล่าช้างทีละเชือก ” นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย กล่าว
จากการพูดคุยกับทางผู้บริหารของทาง Elephant Nature Park เขาได้ให้รายชื่อช้างจำนวน 40-50 เชือก ที่มีทีมงานได้ช่วยออกมาแล้ว ยังตกค้างอีก 20 เชือก ที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีปัญหาพิการ เช่น ช้างตาบอด ช้างหูหนวก ช้างเหยียบกับระเบิด ประมาณกว่า 10 เชือก และอีกกลุ่ม 7 เชือก คือ ช้างดุ หรือช้างตัวผู้ ที่มนุษย์จะจับสัมผัสไม่ได้ หรือไม่เคยสื่อสารกับควาญช้าง จึงเป็นเรื่องที่ต้องเกาะติดสถานการณ์โดยทางผู้บริหารบอกว่าต้องเสี่ยง แลกกันระหว่างน้ำจะลดก็อาจจะรอด แต่หากน้ำเพิ่มก็จะลำบาก ก็จะมีการช่วยช้างในกลุ่มที่ช่วยได้ก่อน
นอกจากนี้ ทีมงานได้มีการหารือแผนสำรองกับทางสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง กรณีช้างดุที่อยู่ในคอก กรณีที่จำเป็นต้องเปิดกลอนประตูที่คอกให้ช่วยตัวเองออกมาได้ และให้ขึ้นฝั่งด้วยตัวเอง ช้างเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยาซึมในการควบคุม ก่อนที่จะให้ควาญช้างทำการมัดช้างในพื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งต้องมาลุ้นว่าช้างที่ดุในคอก 7 เชือกจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจากสภาพที่มืดไม่มีไฟ ณ เวลา 23.00 น. จึงได้หารือกันว่าจะพักการปฎิบัติภารกิจไว้ก่อน
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีปางช้างกว่า 80 แห่ง ในจำนวนนี้ประมาณ 38 แห่งอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และปางทุกแห่งต่างประสบกับปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน แต่ทุกปางก็ได้มีการวางแผนงานในการอพยพช้างไปอยู่ในที่ปลอดภัยก่อนที่น้ำจะท่วม ยกเว้นที่ Elephant Nature Park ทำไมถึงไม่มีการอพยพ และเป็นแห่งเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ใช้ระบบขังคอก ขณะที่ปางอื่นๆ ใช้ระบบมัดย้าย ซึ่งในภาวะวิกฤติเช่นนี้ เป็นเรื่องยากในการที่จะเคลื่อนย้ายช้างเหล่านี้
ปกติแล้วช้างมีสัญชาติญานที่ดี เมื่อเกิดภัยใกล้ตัว และจะเอาตัวรอดได้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ต้องขอให้ทางกองสวัสดิภาพสัตว์ และสัตว์แพทย์บริการเข้ามาตรวจสอบ เพราะทางสมาคมฯมองว่าไม่ควรเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ และช้างต้องมาล้มจากน้ำท่วม
นางวาสนา ทองสุข ผู้บริหารปางช้างแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางปางช้างแม่แตงได้อพยพช้างกว่า 50 เชือก ไปไว้ในที่ปลอดภัย ทันทีที่มีการแจ้งเตือนล่วงน้ำว่าปริมาณน้ำในแม่แตงจะสูงและอาจท่วมพื้นที่ได้ แต่กรณีที่มีภาพของช้างจมน้ำถูกเผยแพร่ออกไปนั้น ทำให้ประชาชน หรือคนรักช้างเข้าใจผิดว่า ทุกปางประสบปัญหา
แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ปางช้าง 37 แห่งปลอดภัย มีเพียง 1 แห่งเท่านั้น ที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายช้างออก และไม่มีการวางแผนว่าจะอพยพช้างดุที่ถูกขังในคอกอย่างไร แต่กลับปล่อยให้ช้างจมน้ำ และแช่น้ำนานเป็นเวลาเกือบ 2 วันแล้ว
กรณีที่เกิดขึ้น ต้องให้ทางผู้ประกอบการดังกล่าว ทบทวนวิธีการเลี้ยงช้างใหม่ เพราะในครั้งนี้ก็รู้สึกเศร้าใจที่มีช้างถูกน้ำพัดล้มไป 1 เชือก และช้างที่ยืนจมน้ำนานๆ มีโอกาสที่จะหมดแรงได้ และหากว่าเชือกไหนที่ได้รับบาดเจ็บจนมีบาดแผล ก็อาจจะหมดแรงจมไปกับน้ำได้
ด้านนางสาวโซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า การที่ไม่ใส่โซ่ช้าง ช้างอยู่ในคอกที่กั้นหากควาญไม่ใกล้ชิดกับช้าง เมื่อมีเหตุ ต้องรีบย้ายช้างเพื่อความปลอดภัย ช้างไม่ฟังควาญ จะย้ายก็ย้ายไม่ได้ ลำบากยิ่ง แม้ช้างที่คุ้นเคยกับควาญก็อาจตกใจ ไม่เชื่อควาญอีก มีโซ่ยังช่วยกันดึง ช่วยกันรั้งพาไปได้ อันตรายต่อชีวิต ทั้งช้าง ทั้งคน
ชมคลิป