svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ทั่วไทย

ไขข้อข้องใจ! แก๊สธรรมชาติ "NGV" ติดไฟได้ไหม

ทำความรู้จักแก๊ส "NGV" ติดไฟได้ไหม? ทำความร้อนสูง 1,960 องศา ได้กลิ่นรั่ว ต้องหยุดรถทันที ควรนั้นนำรถเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ตามรอบและระยะเวลาที่กำหนด

4 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวพาไปทำความรู้จัก แก๊สธรรมชาติ "NGV" หรือ Natural Gas Vehicles ถูกนำมาใช้งานในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 80 ปี โดยแก๊สธรรมชาติ NGV นี้มีอีกชื่อหนึ่ง คือ CNG หรือ Compressed Natural Gas ได้รับความนิยมในกลุ่มรถยนต์ รถบรรทุก และรถโดยสารจำนวนมาก เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าการใช้พลังงานน้ำมัน 

 

 

คุณสมบัติของแก๊สธรรมชาติ NGV


แก๊สธรรมชาติ NGV มีแรงดันค่อนข้างสูงคิดเป็น 240 เท่า เมื่อเทียบกับความดันอากาศปกติทั่วไป ทำให้การจัดเก็บจะต้องทำอย่างระมัดระวังโดยใช้ถังเหล็กกล้าที่มีความหนา 8 มิลลิเมตร และทนทานสูง รวมไปถึงแก๊สชนิดนี้ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่โดยปกติแล้วจะมีเติมกลิ่นลงไปเพื่อให้ตรวจสอบการรั่วไหลได้ง่ายมากขึ้น 

 

คุณสมบัติอีกอย่างของแก๊สธรรมชาติ NGV อยู่ตรงที่มันมีความเบากว่าอากาศ เนื่องจากมีส่วนประกอบหลักเป็นมีเทน (Methane หรือ CH₄) ซึ่งเป็นแก๊สที่มีโครงสร้างโมเลกุลขนาดเล็ก ประกอบด้วยอะตอมของคาร์บอน 1 อะตอมและไฮโดรเจน 4 อะตอม 
 

กรณีที่แก๊สธรรมชาติ  NGV เกิดการรั่วไหล แก๊สจะกระจายตัวออกไปในอากาศแทนที่จะสะสมอยู่บริเวณพื้นดิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นที่จัดเก็บแก๊ส

หากเป็นพื้นที่ปิดแก๊สจะเกิดการสะสม และรวมตัวอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ปริมาณมาก 

แม้ว่าอุณหภูมิที่ก๊าซ  NGV จะลุกติดไฟในอากาศเองได้เมื่อมีความเข้มข้นของเชื้อเพลิงพอ และอยู่ที่อุณหภูมิ 650 องศาเซลเซียส แต่หากมีประกายไฟหรือความร้อนจากแหล่งอื่น เป็นตัวจุดประกายความร้อนแก๊ส  NGV

สามารถสร้างความร้อนได้สูงถึง 1,960 องศาเซลเซียส หรือ 3,560 องศาฟาเรนไฮต์ ในสภาวะการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ

ความแตกต่างระหว่างแก๊ส "NGV" กับ "LPG"


แก๊สธรรมชาติ NGV อยู่ในสถานะแก๊สมีส่วนประกอบหลักเป็นมีเทน CH₄ สกัดมาจากแหล่งแก๊สใต้ดินหรือจากการสกัดแก๊สธรรมชาติจากน้ำมันดิบ ในขณะที่แก๊ส LPG นั้นอยู่ในสถานะของเหลวความดัน 7 บาร์ ถูกอัดในถังแรงดันต่ำ 

 

แก๊ส LPG มีชื่อเรียกที่คุ้นหูว่า "แก๊สหุงต้ม" ส่วนประกอบหลักเป็นโพรเพน (C₃H₈) และบิวเทน (C₄H₁₀) แก๊สทั้งสองชนิดนี้นิยมใช้ในรถที่แตกต่างกัน

 

โดยแก๊ส NGV นิยมใช้กับรถบรรทุก รถโดยสาร เนื่องจากมีความเหมาะสมสำหรับการใช้งานในระยะยาวและการเดินทางไกล

 

ส่วนแก๊ส LPG นิยมใช้ในรถยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็ก รวมไปถึงใช้ในครัวเรือน เช่น เตาแก๊สหุงต้ม

 


ข้อกำหนดการติดตั้งแก๊สธรรมชาติ NGV 

 

 

ข้อกำหนดอ้างอิงจากประกาศกรมขนส่งทางบกเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการติดตั้ง และการออกหนังสือรับรองการติดตั้งเครื่องอุปกรณ์และควบของรถที่ใช้การขนส่งที่ใช้แก๊สธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พ.ศ. 2565

 

 

รายละเอียดบางส่วนระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามใช้ถังหรือเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบที่หมดอายุ ไม่มีเครื่องหมายหรือรายละเอียดที่อ่านไม่ออก หรือมีการแก้ไข ตำแหน่งของถังจะต้องวางในพื้นที่ปลอดภัยจากการกระแทก กรณีเป็นตำแหน่งไม่ปลอดภัยจากการกระแทก จะต้องติดตั้งอุปกรณ์หรือเครื่องป้องกันการกระแทกหัวถัง และท่อน้ำแก๊ส

 


นอกจากนี้ยังมีการระบุรายละเอียดว่าการติดตั้งถัง อุปกรณ์หรือเครื่องป้องกันการกระแทกหัวถัง และส่วนควบต้องติดตั้งให้มองเห็นเครื่องหมายและรายละเอียดตามมาตรฐานกำหนด โดยไม่ต้องรื้อถอนส่วนประกอบใด ๆ เมื่อมีการตรวจสอบและทดสอบความปลอดภัย


ข้อแนะนำรถยนต์ที่ติดตั้งแก๊สธรรมชาติ NGV 

เมื่อได้กลิ่นแก๊สหรือเห็นว่าแก๊สรั่ว ให้หยุดรถทันทีแล้วดับเครื่องยนต์ และรีบปิดวาล์วที่หัวถัง ห้ามทำอะไรที่อาจทำให้เกิดประกายไฟ เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ หากพบการรั่วไหลหยุดให้เปลี่ยนระบบแก๊ส เปลี่ยนมาใช้น้ำมันแทน แล้วลองสตาร์ทเครื่องยนต์อีกครั้ง และเพื่อความปลอดภัย ควรนั้นนำรถเข้าศูนย์บริการ เพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ตามรอบและระยะเวลาที่กำหนด 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
www.eppo.go.th/ind.../th/petroleum/gas/ngv/about-ngv
www.pttplc.com/.../Our.../Gasunit/Pttngv/Pttngv.aspx
https://inspect.dlt.go.th 
www.doeb.go.th/knowledge/knowledge_article_gas6.htm