จากอุทกภัยในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งหลังน้ำลด ปรากฏว่าพบดินโคลนทับถมจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการฟื้นฟู ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
4 ตุลาคม 2567 รศ.ชูโชค อายุรพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เวลาที่ฝนตกและน้ำในแม่น้ำไหลมาเร็วและแรง ก็จะนำเอาหน้าดินที่มีการเปิดเอาไว้ในลุ่มแม่น้ำสายที่อยู่ฝั่งของประเทศเมียนมา ซึ่งในบริเวณนั้นมีการทำพืชเชิงเดี่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องทำการเปิดหน้าดินอยู่ตลอด เมื่อน้ำหลากก็นำเอา ตะกอน ดินและทรายมาพร้อมกับมวลน้ำจำนวนมหาศาล น้ำไหลไปไหน สิ่งเหล่านี้ก็จะไหลตามไปด้วย
หลังจากที่น้ำเข้าไปในพื้นที่ชุมชนความเร็วในการไหลของน้ำก็จะลดลง เมื่อไหลช้าการตกตะกอนก็จะมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น น้ำที่ผิวถนนกับภายในบ้านความเร็วของการไหลจะแตกต่างกัน ในบ้านจะไหลช้ากว่าทำให้ดินโคลนเข้าไปอยู่ในบ้านมากกว่า
ซึ่งในปีต่อไปก็อาจจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ที่จำนวนโคลนจะเข้าไปในพื้นที่ชุมชน เนื่องจากหากยังมีการเปิดผิวดินเพื่อทำการเกษตรเชิงเดียวอยู่ที่ลุ่มน้ำแม่สาย น้ำก็จะนำเอาสิ่งเหล่านี้มาอยู่ดี ทำให้หลังจากนี้ต้องมีการวางแผนพิจารณาในการใช้ที่ดิน เพราะว่าในตอนนี้ลำน้ำแม่สายถูกขวางอยู่ จากสิ่งปลูกสร้าง ทั้งฝั่งของไทยและฝั่งของเมียนมา หากเป็นแบบนี้ต่อไปในอนาคตน้ำก็จะท่วมหนักและท่วมถี่มากยิ่งขึ้น แต่แนวทางในการแก้ไขปัญหาตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่ระดับประเทศ เนื่องจากต้องมีการพูดคุยกับฝั่งของประเทศเมียนมา หากทำไม่พร้อมกันทั้งประเทศก็จะมีปัญหาตามมาในภายหลังได้
รศ.ชูโชค เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่อำเภอแม่สายก็ถูกน้ำเข้าท่วมอยู่แล้วทุกปี แต่ในปีนี้มันมีปัจจัยที่เป็นดินโคลนเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งทำความสะอาดและฟื้นฟูได้ยาก ใช้เวลาดำเนินการนาน รวมถึงเงินในการที่ชาวบ้านจะนำมาฟื้นฟู เชื่อได้ว่าอุทกภัยในครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ หรือชาวบ้านตัดสินใจได้ว่าจะประกอบธุรกิจในพื้นที่สุ่มเสี่ยงอย่างนี้ต่อไปหรือไม่