svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าวทั่วไทย

"คลองลัดโพธิ์" พร่องน้ำ พร้อมรับมือน้ำเหนือ-น้ำหนุน

"คลองลัดโพธิ์" พร่องน้ำ เตรียมรับมือน้ำเหนือ-น้ำหนุน เผย 28 ก.ย.-2 ต.ค. นี้ น้ำเยอะ แต่ไม่ต้องตกใจมาก เจ้าพระยายังรับได้ ห่วงแค่ฝนตกเพิ่ม

จากกรณีที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรปราการ ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางว่า ด้วยกรมชลประทาน ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ก ษ 0328/ว 11164 ลงวันที่ 25 ก.ย. 2567 แจ้งว่า ในวันที่ 23 ก.ย.2567 ร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ บริเวณเกาะไหลำสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงได้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคกลาง และอ่าวไทย 

ขณะที่ มีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้ และลมฝ่ายตะวันออก บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่วนภาคกลาง และภาคใต้มีฝนตกหนักบางพื้นที่

\"คลองลัดโพธิ์\" พร่องน้ำ พร้อมรับมือน้ำเหนือ-น้ำหนุน

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำ 1-7 วันข้างหน้า โดยในวันที่ 28 ก.ย.2567 ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองฯ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 2,000-2,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำ Sidelow ประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมกับคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 2,350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบกรมชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง ในอัตรา 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

โดยจะมีการระบายเพิ่มขึ้นแบบชั้นบันได ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำ มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันอีกประมาณ 1.00-1.50 เมตร ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักให้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา(แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่วันที่28 ก.ย.67 เป็นต้นไป 

และ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมป้องกัน รับมือ และลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น จึงขอให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ เช่น งานก่อสร้างเชื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

\"คลองลัดโพธิ์\" พร่องน้ำ พร้อมรับมือน้ำเหนือ-น้ำหนุน

ล่าสุด วันนี้ (27 ก.ย.2567) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นประตูน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินมีความยาวราว 600 เมตร ให้ใช้ระบายน้ำที่หลาก และน้ำที่ท่วมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ระบายลงสู่ทะเลทันที ในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตรก่อน ซึ่งใช้เวลามากจนถึงเวลาน้ำลง ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมือง เช่น กรุงเทพมหานครได้ 

โดยในส่วนการเฝ้าระวังผลกระทบจากมวลน้ำของภาคเหนือ และอาจจะมีน้ำทะเลหนุนนั้น ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยทางประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ ได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำ จำนวน 4 บาน ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา โดยในวันนี้ยังไม่ได้เปิดการระบายน้ำ เนื่องจากน้ำทะเลได้หนุนขึ้น คาดว่าในช่วงค่ำเวลาน้ำลงจะเปิดประตูระบายน้ำได้ และพร้อมรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงสู่ทะเล 

\"คลองลัดโพธิ์\" พร่องน้ำ พร้อมรับมือน้ำเหนือ-น้ำหนุน

ด้านนาย ศุภศักดิ์ เขียวพุ่ม หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการชลประทานสมุทรปราการ กล่าวว่า สถานการณ์เตรียมรับมวลน้ำเหนือ ในส่วนของประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ ได้เตรียมระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม เป็นต้นมา ขณะนี้ ได้ระบายน้ำครบทั้ง 4 บาน เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 15% หรือ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงน้ำลง 

สำหรับน้ำเหนือ เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะว่าช่วงนี้ น้ำเหนือที่จะลงมาที่เขื่อนภูมิพล ส่วนน้ำเหนือที่ลงมาต่อเนื่องกัน จะมีปริมาณปกติ คือ ขณะนี้จนถึงปัจจุบัน 1,000 กว่าลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งศักยภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาจะสามารถรับได้ถึง 3,500ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทิ ดังนั้น น้ำเหนือจะไม่มีปัญหา ซึ่งในพื้นที่ก็จะมีปัญหาเรื่องการเฝ้าระวังในพื้นที่เป็นเกณฑ์ แล้วก็มีเรื่องของน้ำทะเลหนุน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของพื้นที่ ไม่ต้องตกใจมาก เฝ้าระวังเรื่องฝนตกในพื้นที่อย่างเดียว 

\"คลองลัดโพธิ์\" พร่องน้ำ พร้อมรับมือน้ำเหนือ-น้ำหนุน

อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดฝนตกหนักเต็มที่ 3 วัน หรือ 200 มม. อันนี้ต้องเตรียมอพยพเป็นเรื่องปกติ โดยในวันที่ 28 ก.ย.67 ถึงวันที่ 2 ต.ค.67 ที่คาดว่าน้ำจะเยอะ และน้ำทะเลขึ้นสูง ในปกติจะมีน้ำทะเลหนุนและไหลขึ้นมาตามท่อ ถ้าเป็นไปได้ควรจะบล็อกท่อในช่วงน้ำทะเลขึ้น ส่วนในเรื่องของเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง ทางราชการจะมีการแจ้งเตือนให้อยู่แล้ว ซึ่งในปัจจุบันไม่มีผลกระทบกับในเหตุการณ์ที่จะมาถึงอีกไม่กี่วัน