svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ทั่วไทย

ใจหาย ประชากร "พะยูน" ตรัง ลดฮวบ หญ้าทะเลตาย ส่งสัญญาณถึงเวลาเร่งแก้วิกฤต ก่อนสายเกินไป

เปิดผลบินสำรวจเบื้องต้น ปีนี้ พบพะยูน ทะเลตรัง เหลือเพียง 36 ตัว คู่แม่ลูกเพียง 1 คู่ จากปีที่ผ่านมาพบพะยูน 194 ตัว แม่ลูก 12 คู่ ส่งสัญญาณวิกฤต ด้าน มูลนิธิอันดามัน จี้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ หลังประชากร "เจ้าหมูน้ำ" ตรัง ลดฮวบ-หญ้าทะเลตาย ชี้ ควรเร่งหาสาเหตุควบคู่ฟื้นฟู ก่อนสายเกินไป

สถานการณ์ "พะยูน" ทะเลตรัง น่าเป็นห่วง โดยล่าสุด ชาวบ้านในพื้นที่ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง พบพะยูน เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี เกยตื้นในสภาพร่างกายซูบผอมอย่างมาก เมื่อนำซากไปผ่าพิสูจน์พบว่า ทางเดินอาหารมีพยาธิตัวกลมเต็มท้องในกระเพาะ ลำไส้พบเนื้องอกเนื้อตาย และยังพบพยาธิตัวกลมพยาธิใบไม้ และในลำไส้ใหญ่พบไมโครพลาสติกปะปนเล็กน้อย โดยในกระเพาะพบว่ามีหญ้าทะเลชนิดหญ้าใบมะกรูด หญ้าเข็ม (ซึ่งหญ้าเข็มจะพบในระดับน้ำลึกกว่าหญ้ามะกรูด) แต่มีอยู่น้อย 
เครดิตภาพ เพจเฟซบุ๊ก : ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ
โดยในปี 2567 นี้ผ่านมาไม่ครบ 3 เดือน แต่มีพะยูนในทะเลตรังเกยตื้นตายแล้วเป็นตัวที่ 4 ซึ่งทั้งหมดที่ตายพบมีอาการป่วยและร่างกายซูบผอม คาดสาเหตุหลักเกิดจากปัญหาสภาพระบบนิเวศในทะเลที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง พื้นดินปกคลุมด้วยตะกอนดิน หญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูนทั่วทะเลตรังเสื่อมโทรมหนัก รวมไม่ต่ำกว่า 30,000 ไร่ ซึ่งผลทำให้พะยูนและสัตว์ทะเล กุ้ง หอย ปู ปลาหายไป จนชาวบ้านไม่มีแหล่งหากินบริเวณใกล้ชายฝั่งเหมือนที่ผ่านๆมา 

หน่วยงาน-ตัวแทนเครือข่ายในพื้นที่ เร่งหาสาเหตุหญ้าทะเลเสื่อมโทรม
ใจหาย ประชากร \"พะยูน\" ตรัง ลดฮวบ หญ้าทะเลตาย ส่งสัญญาณถึงเวลาเร่งแก้วิกฤต ก่อนสายเกินไป
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ส่ง คณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก ด้านสมุทรศาสตร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ ได้ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วนตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงสัปดาห์นี้ เพื่อหาสาเหตุของการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล และนำมาออกมาตรการแก้ไขหรือฟื้นฟูหญ้าทะเลโดยเร็วที่สุด 
ใจหาย ประชากร \"พะยูน\" ตรัง ลดฮวบ หญ้าทะเลตาย ส่งสัญญาณถึงเวลาเร่งแก้วิกฤต ก่อนสายเกินไป
โดยคณะทำงานได้แบ่งการทำงานทั้งภาคพื้นดินในการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลหน้าดินบริเวณแหล่งหญ้า ติดตามการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่จังหวัดตรัง (Line Transect, เก็บตัวอย่างดินตะกอน) เก็บข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์กายภาพในพื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรม เก็บตัวอย่างการปนเปื้อนของโลหะหนัก (Heavy metals) และ มลสารอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน(Persistent Organic Pollutants) ในตะกอนดินและหญ้าทะเล 

เปิดผลบินสำรวจเบื้องต้น 
ใจหาย ประชากร \"พะยูน\" ตรัง ลดฮวบ หญ้าทะเลตาย ส่งสัญญาณถึงเวลาเร่งแก้วิกฤต ก่อนสายเกินไป
นอกจากคณะทำงานลงพื้นที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเลแล้ว ยังมีการสำรวจด้วยโดรนและการบินสำรวจพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ด้วยเครื่องบินปีกตรึง 2 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect และ Hot spot ร่วมกับนักบินอาสาสมัคร นาย Eduardo Angelo Loigorri และวิธีการสำรวจทางเรือ บริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และบริเวณแนวหญ้าทะเลใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดตรัง 
ใจหาย ประชากร \"พะยูน\" ตรัง ลดฮวบ หญ้าทะเลตาย ส่งสัญญาณถึงเวลาเร่งแก้วิกฤต ก่อนสายเกินไป
เบื้องต้น เจอพะยูนเพียง 36 ตัว พบพะยูนคู่แม่-ลูก จำนวน 1 คู่ โลมาหลังโหนก 6 ตัว พบโลมาคู่แม่-ลูก 2 คู่ และเต่าทะเล 38 ตัว ผลการตรวจสุขภาพประเมินสุขภาพจากการสังเกตด้วยสายตา พบว่าพะยูนแสดงพฤติกรรมว่ายน้ำหาอาหารบนแนวหญ้าทะเล นอกจากนี้ ยังพบพะยูนคู่แม่-ลูก ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์เพศของตัวสัตว์ โดยโลมาหลังโหนกพบว่าสุขภาพโดยรวมสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีบาดแผลหรือร่องรอยที่เกิดจากการถูกเครื่องมือประมงหรือขยะทะเลพันรัด รวมถึง เต่าทะเล สุขภาพโดยรวมไม่พบพฤติกรรมที่แสดงความผิดปกติ 
ใจหาย ประชากร \"พะยูน\" ตรัง ลดฮวบ หญ้าทะเลตาย ส่งสัญญาณถึงเวลาเร่งแก้วิกฤต ก่อนสายเกินไป
ส่วนข้อมูลและภาพถ่ายจากการสำรวจครั้งนี้นำไปคำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของสัตว์ทะเลหายากในบริเวณพื้นที่จังหวัดตรังต่อไป 

โดยสรุป การสำรวจประชากรพะยูนในปีนี้พบพะยูนลดลงอย่างน่าใจหาย เหลือเพียงประมาณ 36 ตัวเท่านั้น พบคู่แม่ลูกเพียง 1 คู่ โดยในปี 2566 พบพะยูน 194 ตัว คู่แม่ลูกถึง 12 คู่ เชื่อว่าพะยูนทะเลตรังกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตอย่างหนัก มีโอกาสจะสูญพันธุ์ไปจากทะเลตรังในอนาคตอันใกล้นี้ 

ปัญหาโลกร้อน
หญ้าทะเลตาย เครดิตภาพจากเฟซบุ๊ก : Thon Thamrongnawasawat
ทั้งนี้ ทางด้านนักวิชาการให้น้ำหนักกับเรื่องปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ แต่ในขณะที่ชาวบ้าน เครือข่ายประมงพื้นบ้าน นักวิชาการในพื้นที่ และเครือข่ายภาคประชาสังคมให้น้ำหนักกับจุดเริ่มต้นจากการทับถมของตะกอนทรายจากการขุดลอกร่องน้ำกันตัง โดยกรมหนึ่ง เพื่อการเดินเรือที่ตะกอนดินเข้ามาทับถมแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณเกาะลิบง และขณะนี้แม้จะหยุดขุดไปแล้ว แต่ผลกระทบยังคงมีมาต่อเนื่อง ตามด้วยปัญหาโลกร้อนที่คืบคลานเข้ามา เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อระบบนิเวศทางทะเลตรังตามมาจนถึงปัจจุบันนี้ จนส่งผลต่อพะยูนขาดแหล่งอาหารในที่สุด

มูลนิธิอันดามัน จี้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้วิกฤต
นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง
ทีมข่าวได้ไปพูดคุยกับ นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง หนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ที่แต่งตั้งโดยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) 

โดย นายภาคภูมิ บอกว่า พะยูนตัวล่าสุดที่ชาวบ้านพบเกยตื้นตายมีสภาพผอม มีเพรียงเกาะตามลำตัวจำนวนมาก แสดงอาการชัดเจนว่าป่วยและขาดอาหาร การที่หญ้าทะเลในทะเลตรังเสื่อมโทรมทุกพื้นที่รวมกว่า 30,000 ไร่ เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้อาหารพะยูนขาดแคลน เพราะทะเลตรังมีพะยูนจำนวนมาก พะยูนจึงอยู่ในภาวะวิกฤติหนัก ซึ่งมีสัญญาณมาตั้งแต่ประมาณ 3-4 ปีมาแล้ว เพราะมีการพบพะยูนเกยตื้นตายจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย และสาเหตุหลักเกิดจากภาวะการขาดแคลนอาหารที่มาจากความไม่สมดุลทางระบบนิเวศ

ล่าสุด ทาง "กรมทะเล" ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ เพื่อร่วมกันหาสาเหตุหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งตอนนี้ทุกฝ่ายจะต้องเร่งมือทำงาน มัวแต่หาสาเหตุอย่างเดียวไม่ได้ จะไม่ทันการณ์ พะยูนจะตายหมด
ใจหาย ประชากร \"พะยูน\" ตรัง ลดฮวบ หญ้าทะเลตาย ส่งสัญญาณถึงเวลาเร่งแก้วิกฤต ก่อนสายเกินไป
โดยทุกฝ่ายต้องจริงจังในการร่วมมือกันทำงาน ปัจจุบันภาระตกอยู่กับกรม ทช. ซึ่งในภาวะวิกฤตตอนนี้หน่วยงานเดียวทำงานไม่พอ ยังมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งดูแลอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงถิ่นพะยูนอาศัยอยู่ จะต้องร่วมกันทำงาน นอกจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรจะลงมาดำเนินการด้วยตัวเอง เพื่อให้กระทรวงเป็นหน่วยบูรณาการ เพราะลำพังกรม ทช. แม้จะพยายามแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดทั้งเรื่องคน และงบประมาณ จึงต้องดำเนินการในระดับนโยบาย 

"เรื่องนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรจะมีข้อสั่งการ และต้องเร่งกู้วิกฤตในครั้งนี้โดยเร็ว เพราะต้องอาศัยทั้งคน ความรู้ งบประมาณ และต้องการความเร็วในการทำงาน หากมัวแต่หาสาเหตุเพียงเรื่องเดียว พะยูนคงตายหมด ควรทำด้านการฟื้นฟูควบคู่กันไปด้วย" นายภาคภูมิ กล่าว


ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง บอกอีกว่า จากการบินสำรวจพะยูนล่าสุด ของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง พบพะยูนรวมฝูงน้อยลง โดยพบพะยูนทั้งหมด 36 ตัว พบคู่แม่ลูก 1 คู่ ซึ่งปีที่ผ่านมาบินสำรวจพบพะยูน 194 ตัว คู่แม่ลูก 12 คู่ โดยปีนี้ประชากรลดฮวบเสี่ยงสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้เนื่องจากขาดอาหารคือ หญ้าทะเล 

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า ในวันที่ 13 มี.ค. นี้ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมทีมนักวิยาศาสตร์ทางทะเล จะลงพื้นที่จังหวัดตรังด่วนอีกครั้ง เพื่อสำรวจสถานการณ์ตลอดจนสาเหตุของหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ตลอดจนจำนวนพะยูนและสัตว์ทะเลหายากที่ลดจำนวนลง โดยจะออกเดินทางจากท่าเรือปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เพื่อทำการสำรวจหลายพื้นที่ อาทิ เขตอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลเกาะลิบง เกาะมุกด์ และแหลมหยงหลำ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นต้น

ทำความรู้จัก "พะยูน" หรือ "หมูน้ำ"

ใจหาย ประชากร \"พะยูน\" ตรัง ลดฮวบ หญ้าทะเลตาย ส่งสัญญาณถึงเวลาเร่งแก้วิกฤต ก่อนสายเกินไป
จากข้อมูลในเว็บไซต์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระบุว่า พะยูน เป็นสัตว์สงวนแห่งท้องทะเล มีรายละเอียดดังนี้

ชื่อเรียก : หมูน้ำ หมูดุด ดูหยง เงือก วัวทะเล และดูกอง
ขนาดแรกเกิด : 1-1.5 ม. / หนักประมาณ 20 กก.
ลำตัว : รูปกระสวยคล้ายโลมา , สีเทาอมชมพู หรือน้ำตาลเทา
หายใจ : ทุก 1-2 นาที
อาหาร : หญ้าทะเล

ส่วน ในเว็บไซต์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุถึงความสำคัญของเจ้าหมูน้ำ ว่า พะยูนกินพืชเป็นอาหาร โดยเฉพาะ "หญ้าทะเล" ชนิดต่างๆ ตามแนวชายฝั่ง และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ไม่ห่างจากบริเวณที่มีแหล่งหญ้าทะเลหนาแน่น และกว้างใหญ่เพียงพอ จึงถือได้ว่าพะยูนเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศหญ้าทะเลได้เป็นอย่างดี 

อีกทั้ง "หญ้าทะเล" ยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก เป็นทั้งออกซิเจน แหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย ที่วางไข่และหลบซ่อนศัตรู ช่วยลดมลพิษในทะเล ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่งได้ดี ในบริเวณที่มีหญ้าทะเลขึ้นอยู่ จึงจัดเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเลไทยอีกด้วย 

ของเสียจากพะยูน กลายเป็นปุ๋ยที่มีคุณค่า

การที่พะยูนกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร จึงปล่อยของเสียออกมาเป็นปุ๋ยที่มีคุณค่า เป็นอาหารแก่สัตว์น้ำขนาดเล็ก และปลาขนาดใหญ่ สอดคล้องกับ นักวิจัยจาก James Cook University ในออสเตรเลีย ที่พบว่า เมล็ดหญ้าทะเลที่ผ่านระบบย่อยอาหารของสัตว์อย่าง พะยูนและเต่าทะเล งอกเร็วกว่าและมีอัตราการงอกที่สูงกว่าเมล็ดที่หลุดมาจากต้น

จากสถานการณ์ของ "พะยูน" และหญ้าทะเล ทะเลตรัง ดังที่กล่าวมาข้างต้น คงต้องจับตาดูกันต่อว่า จะมีการฝ่าวิกฤตนี้อย่างไร...


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก :
เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 
ศูนย์ข้อมูลกลางด้านทรัพยากรทางทะเล
คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง