18 มกราคม 2567 จากกรณีเหตุโรงานพลุระเบิด วานนี้ (17 ม.ค.) ที่หมู่ 3 ต.ศาลาขาว อ.เมืองสุพรรณบุรี สร้างความเสียเป็นวงกว้าง พบผู้เสียชีวิต 23 ราย หนึ่งในผู้เสียชีวิต คือ นางแสงเดือน ปรางค์จันทร์ เจ้าของโรงงาน โดยโรงงานแห่งนี้มีคนงาน ประมาณ 30 คน เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเข้าตรวจสอบ
สำหรับรายชื่อ ผู้เสียชีวิต 23 ราย ดังนี้
1. น.ส.น้ำฝน เกิดนอก
2. นางพเยาว์ บุญกล่อม
3. นางบุญเกื้อ ทองสัมธิ์ฤทธิ์
4. นายทวีศักดิ์ ทองสัมธิ์ฤทธิ์
5. นางรัชนี พันธุ์ต้น
6. นายรุ่งโรจน์ อุ่นน้อย
7. นางนึก บุญกล่อม
8. นายธงชัย กำเนินนนท์
9. น.ส.พรทิพย์ พันธุ์แตง
10. นายธนากร วัชรพิมสมิตร
11. นางเตือนใจ ยิ้มแย้ม
12. นายสำราญ สายทอง
13. นายสมควร แจ้งวิถี
14. นายสุชาดา พันธุ์เผือก
15. นางภัสสร เล็กพอใจ
16. นางสมปอง นาคพิทักษ์
17. นายโสพล สวยค้าข้าว
18. นางแสงเดือน ปานจันทร์
19. น.ส.วรัญญา ศรีเหรา
20. นางสุณี ขวัญอ่อน
21. นางรำไพ สวยค้าข้าว
22. นายวิชาญ บุญศรีวงศ์
23. นายมานพ จาดพันธ์อินทร์
ทั้งนี้ โรงงานพลุแห่งนี้ ได้รับใบอนุญาตให้ทำและค้าซึ่งดอกไม้เพลิง ออกโดยนายทะเบียนท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 66 สิ้นอายุ 23 ส.ค. 67 โดยเคยเกิดเหตุระเบิดไฟลุกไหม้แล้วครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนพ.ย. 65 มีคนงานถูกไฟคลอกเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 3 ราย ก่อนจะกลับมาเปิดทำการผลิตพลุอีกและจนเกิดเหตุระเบิดขึ้นในครั้งนี้
ขณะที่ นายบุญนำ บุญกล่อม อายุ 32 ปี อยู่บ้านหมู่ 10 ต.ศาลาขาว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ครอบครัวของตนเองได้เสียชีวิตจากเหตุการณ์พลุระเบิดมากถึง 6 คน ด้วยกัน ประกอบด้วยแม่ และภรรยา รวมทั้งญาติๆ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับว่า พูดไม่ออก แต่ก็ต้องมีชีวิตเพื่อสู้ต่อไป สำหรับแม่และภรรยา รวมทั้งญาติๆ ที่เสียชีวิตรวม 6 คนนั้น ทำให้ขณะนี้ครอบครัวของตนเองเหลืออยู่เพียง 4 ชีวิต คือพ่อ ตนเอง และลูกอีก 2 คน นอกจากนี้ครอบครัวของญาติๆ ก็ยังเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ด้าน นายเหมือน บุญกล่อม อายุ 71 ปี กล่าวว่า เหตุโรงงานพลุระเบิด จนทำให้ครอบครัวของตนเองต้องเสียชีวิตถึง 6 คน รวมทั้งภรรยาของตนเองด้วย ซึ่งหลังเกิดเหตุก็ต้องใช้ชีวิตต่อสู้กันต่อไป ที่ผ่านมาก็คิดเสมอว่า สักวันหนึ่งคงต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ส่วนการทำงานแบบนี้ ก็คงต้องเลิกทำ เพราะอันตรายเกินไป อนาคตก็คงต้องเลี้ยงหลานๆ ที่เหลืออีก 2 ชีวิต ให้เติบโตกันต่อไป เพราะหลานกำลังเรียนอยู่ ป.2 และ ป.3 แม่ของหลานก็เสียชีวิตในครั้งนี้ด้วย ส่วนศพของเมียและญาติๆ ที่เสียชีวิต ช่วงสายของวันนี้ (18 ม.ค. ) ก็จะเดินทางไปรับศพ เพื่อนำกลับมาทำพิธีทางศาสนา
ขณะที่ นางบังอร พันธุ์ต้น อายุ 56 ปี เปิดเผยว่า ญาติทั้ง 6 ชีวิต ที่ต้องสูญเสียไปนั้น ต้องทำงานอยู่ที่โรงงานแห่งนี้ หากไม่ทำก็จะไม่มีรายได้
นายกฯสั่งตรงหน่วยงานเกี่ยวข้องดูแล-กันเกิดซ้ำอีก
ด้าน "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ยังคงปฏิบัติภารกิจในกรอบ WEF ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตช์เซอร์แลนด์ เปิดเผยถึง เหตุโรงงานพลุระเบิด ที่จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยได้แสดงเสียใจต่อเหตุการณ์จนมีผู้เสียชีวิต 23 ราย พร้อมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สำรวจการจัดตั้งโรงงาน ระบบความปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุขดูแลประชาชนในพื้นที่โดยรอบหากได้รับผลกระทบจากวัตถุเคมีผลิตพลุที่ระเบิด
ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูสภาพอากาศที่กระทบ และสภาพแวดล้อมต่างๆ รวมถึงกระทรวงแรงงาน ที่เยียวยาญาตผู้เสียชีวิตด้วย รวมถึงสั่งการให้เข้มงวดตรวจสอบโรงงานประเภทที่มีวัตถุอันตรายทั่วประเทศ ให้มีความมั่นใจว่า จะต้องไม่มีเหตุการณ์เกิดซ้ำซ้อนในทุกกรณี
"สส.สุพรรณฯ"วอนรัฐถอดบทเรียนอย่าทำเป็นวัวหายล้อมคอก
ด้าน นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า จากการหารือในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงเหตุโรงงานพลุระเบิดที่ จ.สุพรรณบุรี โดยเรียกร้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งถอดบทเรียนป้องกัน เพิ่มความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการ โดยไม่ประมาท
"เพราะพลุเสมือนอาวุธสงครามชนิดหนึ่ง ควรหมั่นตรวจสอบเป็นระยะ เพื่อไม่ให้เป็นเหตุการณ์ วัวหายล้อมคอก หลังเคยเกิดเหตุพลุระเบิดมาแล้ว ทั้งที่อำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และบ้านมูโนะ จ.นราธิวาส พร้อมขอบคุณทุกหน่วยงาน ที่เร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ" นายณัฐวุฒิ กล่าว
สภาทนายความส่งทีมช่วยปรึกษาด้านกฎหมาย
ขณะที่ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ส่วนตัวขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ตนได้มอบหมายให้ นายอรรถพร อัมพวา กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 7 และ นายภัทราวุฒิ พันธ์รัศมี ประธานสภาทนายความจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมทีมทนายความอาสา จ.สุพรรณบุรี ลงพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย กับประชาชนทุกคนที่ได้รับความเสียหาย จากเหตุการณ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ลักษณะทำนองเดียวกัน ได้เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ที่ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายนับร้อยหลังคาเรือน ซึ่งประชาชนจำนวน 564 ครอบครัวได้ร้องขอให้สภาทนายความเข้าช่วยเหลือดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหาย จากเจ้าของโรงงานเก็บพลุและผู้ก่อเหตุ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล จ.นราธิวาส