25 พฤศจิกายน 2566 ภายหลังคลิปคนหน้าเหมือน "เสี่ยแป้ง นาโหนด" นายเชาวลิต ทองด้วง อายุ 37 ปี นักโทษแหกคุกหลบหนี เรือนจำนครศรีธรรมราช ระหว่างการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ได้อัดคลิประบายหมดเปลือกอ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม จนถูกศาลสั่งจำคุกในที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีการแฉรายชื่อคนร่วมกระทำผิดตั้งแต่ตำรวจ อัยการ และนักการเมืองท้องถิ่น แต่ทั้งหมดกลับไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด ตามข่าวที่เสนอไปก่อนหน้านี้
ล่าสุดผู้สื่อข่าว "เนชั่นออนไลน์" ได้พูดคุยกับ แหล่งข่าวอัยการท่านหนึ่ง (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) เปิดเผยถึงการสั่งฟ้องคดีดังกล่าว ว่า ขณะนั้นคดีของนายแป้งที่เข้ามานั้นเป็นคดี เมื่อปี 2562 คดีพยายามฆ่าตำรวจ ภาค 8 เหตุเกิด สภ.นาขยาด จ.พัทลุง และคดีพยายามฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าตำรวจทางหลวงพัทลุง เหตุเกิด สภ.เมืองพัทลุง
ขณะนั้นกระบวนการของคดีของ นายเชาวลิต ทองด้วง สำนวนคดีเข้าสู่อัยการจังหวัดพัทลุงและเข้าสู่อัยการภาค 9 เนื่องจากเป็นคดีสำคัญ ซึ่งอัยการท่านนี้ขณะนั้นทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาคดีนี้
ก่อนหน้านั้นตลอดกระบวนการอัยการตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงรองอธิบดีภาค 9 มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แต่อัยการผู้ทำคดีนี้เล่าว่าหลังอ่านสำนวนแล้วเกิดข้อขัดแย้งจึงสั่งสอบสวนเพิ่มเติมเนื่องจากมีข้อเท็จจริงในสำนวนที่พิรุธหลายข้อ โดยพบว่า
ตำรวจนายที่ถูกอุ้มในขณะนั้น ไม่ยอมชี้ตัวผู้ต้องหา เมื่อเราสืบประวัติลึกลงไปอีกพบว่า ตำรวจ ภาค 8 นายนี้ เคยจับนายเชาวลิต หรือ "เสี่ยแป้ง" เมื่อปี 2560 คดีฆ่าผู้อื่น เหตุเกิด สภ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช แต่ไม่ยอมชี้ตัวผู้ต้องหา ทั้งที่เคยเห็นหน้าและรู้จักกัน
อัยการท่านนี้จึงมองว่า มีข้อพิรุธที่เหมือนเตรียมการกันมาก่อน เพื่อที่จะไม่ชี้ตัว จึงตัดสินใจสั่งฟ้องผู้ต้องหาคือ เสี่ยแป้ง และ นายจรวด ส่วนผู้ต้องหารายอื่นๆ ไม่มีพยานหลักฐานที่สามารถโยงถึงตัวจึงสั่งไม่ฟ้อง
อย่างไรก็ตาม อัยการท่านนี้ ยังบอกอีกว่า ตลอดอายุราชการที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ความมั่นคง ตนสั่งไม่ฟ้องคดีมากกว่าสั่งฟ้อง เนื่องจากมองว่า การสั่งไม่ฟ้องนั้นหากพยานหลักฐานไม่เพียงพอเราสามารถหาหลักฐานใหม่ เพื่อสั่งฟ้องในภายหลังได้ แต่หากมีความเห็นสั่งฟ้องแล้วนั้นพยานหลักฐานต้องแน่นพอที่จะให้ศาลพิจารณาลงโทษเท่านั้น ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นการฟอกตัวให้กับผู้ต้องหาหากที่สุดแล้วศาลพิจารณาว่าไม่มีความผิด
ชมคลิป คนหน้าคล้าย "เสี่ยแป้ง นาโหลด" อ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม