วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 อดีตที่ผ่านมา "วัว" ถือว่าเป็นสัตว์พื้นบ้านที่แต่ละครอบครัวเลี้ยงไว้ เพื่อใช้แรงงานในการทำนา ทั้งไถนา นวดข้าว เมื่อเสร็จฤดูเก็บเกี่ยว "วัว" ว่างเว้นจากการทำนา ชาวนาจึงนำวัว มาทำกิจกรรม จนเกิดการละเล่นพื้นบ้านขึ้นเรียกว่า "วัวลาน"
"วัวลาน" หรือ "วัวระดอก" ถือว่าเป็น การละเล่นพื้นบ้านในภาคกลางของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี กาญจนบุรี โดยใช้วัวพันธุ์ไทย และมักจะเล่นในเวลากลางคืน เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ทำงานในตอนกลางวัน การเล่นวัวลานใช้วัวที่มีอายุประมาณ 5-9 ปี วัวแต่ละตัวจะมีเครื่องประดับวัวที่สวยงามสถานที่เล่นวัวลาน นิยมเล่นกันในผืนนาที่ร้างไม่มีการทำนา หรือที่บริเวณกว้างและเรียบ
การเล่น "วัวลาน" ได้มีวิวัฒนาการมาจากการใช้วัวนวดข้าว โดยชาวนาจะผูกวัวเรียงเป็นแถวหน้ากระดานไว้กับเสากลางลานบ้าน วัวที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลาง ไม่ต้องใช้กำลังและฝีเท้ามาก เพราะอยู่ในช่วงหมุนรอบสั้นวนเป็นรอบ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าข้าวจะหลุดออกจากรวงข้าวหมด แต่วัวตัวที่อยู่นอกสุดอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลาง ระยะทางที่ต้องหมุนจะยาวกว่า จึงต้องเลือกวัวตัวที่มีกำลังและฝีเท้าดีด้วยเหตุนี้ วัวหมุนรอบและเหยียบย่ำจนเมล็ดข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าว ดังนั้นจากการใช้วัวนวดข้าวเปลือก จนเกิดการละเล่นพื้นบ้านวัวลาน
วิธีการเล่นวัวลาน
การเล่น "วัวลาน" ในอดีตนิยมเล่นในงานวัด เพื่อหารายได้ให้ทางวัด และในท้องนา โดยจะเริ่มเล่นกันในช่วงค่ำ เนื่องจากเป็นช่วงที่ชาวนาว่างเว้นจากการทำนา แต่ปัจจุบัน มีการจัดสถานที่แข่งวัวลาน ตามที่เจ้าภาพเป็นคนกำหนด
เจ้าของวัว จะนำวัวของตัวเอง มารวมกันแล้วต้อนขึ้นรถบรรทุก เพื่อบรรทุกวัวไปยังสถานที่เล่นวัวลาน ตามที่นัดหมาย ที่เรียกกันว่า "ลานวัว" ระหว่างทางก็จะมีการโห่ร้องอย่างสนุกสาน เพื่อให้เกิดความครึกครื้น วัวอยู่ตรงกลางรถ คนจะอยู่ที่ท้ายรถ และด้านบนของหัวรถ เมื่อไปถึงลานวัวเป็นเวลาที่พลบค่ำ เจ้าของวัว จะนำวัวลงจากรถบรรทุกนำไปผูกไว้ยัง "ราวผูกวัว" ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้จัดให้มีการเล่นวัวลาน ซึ่งก็จะอยู่ติดกับ "ลานวัว"
สำหรับสถานที่เล่นวัวลาน คือ ผืนนาที่ร้าง หรือลานโล่ง เนื้อที่ประมาณ 350-400 เมตร โดยมีจุดศูนย์กลางที่ให้วัววิ่ง จะมีเสา ซึ่งเป็นหลักให้วัววิ่ง เรียกว่า "เสาเกียด"
ส่วนวิธีการเล่นวัวลาน นั้น วัวทั้งหมดจะวิ่งเป็นวงกลมรอบๆลาน โดยมี "เสาเกียด" ที่เป็นไม้ปักไว้กลางลาน มีศูนย์กลางและเชือกพรวนไปตามแนวรัศมีของลานเป็นวงกลม แล้วนำวัวตัวผู้มาผูกติดเป็นรัศมีออกไป และมีราวสำหรับพักวัว
การแข่งขันวัวลาน จะมีสองกลุ่ม ทั้งหมดมี 19 ตัว เรียกว่า "วัวนอก" กับ "วัวคาน" ซึ่งเป็น วัวที่มาร่วมเล่นด้วยโดยไม่แข่งขัน โดยที่วัวตัวในสุดจะเป็นวัวที่ตัวใหญ่ที่สุด และขนาดตัวของวัวก็จะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ
วัวคานจะมี 18 ตัว (ตัวที่ 18 เรียกว่า วัวรอง) โดยนำวัวคาน 18 ตัว มาผูก แล้วก็จะมีการต่อรองราคา (เพราะความเห็นไม่ตรงกัน) ของผู้ชมและเจ้าของ เมื่อการต่อรองเสร็จสิ้น ก็จะนำวัวนอก (ตัวที่ 19) มาผูกวิ่งเป็นวงนอกสุด (ซึ่งมีระยะการวิ่งไกลมาก) หลังจากนั้นก็ปล่อยให้มันวิ่งรอบ "เสาเกียด" แล้วเจ้าของก็ใช้เหล็กแหลมทิ่มแทงวัว เพื่อกระตุ้นพลัง
การแข่งขันจะมี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายวัวรอง (ตัวที่ 18) และฝ่ายวัวนอก (ตัวที่ 19) ฝ่ายวัวรอง จะผูกวัวไว้ตามเชือกพรวนตามรัศมีของบานประมาณ 17-20 ตัว ตามแต่ตกลง แต่ต้องคัดเลือกวัวฝีเท้าดีประมาณ 3 ตัว ไว้รอบนอกคอยวิ่งกันมิให้วัวนอก ของอีกฝ่ายหนึ่งที่จะนำมาผูกวิ่งแซงได้
ฝ่าย "วัวนอก" จะนำวัวที่มีฝีเท้าดีที่สุดมาผูกทับกับวัวรอง เพื่อจะได้แข่งขันกันว่าวัวใครมีฝีเท้าดีกว่ากัน และเมื่อปล่อยวัวแล้ว ถ้าวัวนอก (ตัวที่ 19) วิ่งแซงวัวรอง (ตัวที่ 18) ได้และสามารถลากวัวรองไปได้อย่างไม่เป็นขบวน ทำให้วัวรองดิ้นหลุดจากระดับแถว แสดงว่าวัวนอกชนะ
แต่ถ้า "วัวรอง" สามารถวิ่งแซง "วัวนอก" และลากวัวนอก ไปจนทำให้ดิ้นออกมาจากรัศมีแถวได้ ก็ถือว่าวัวรองชนะ ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแซงกันได้ก็ถือว่าเสมอกัน
การเล่นวัวลาน ในอดีตนิยมเล่นในงานวัด เพื่อหารายได้ให้ทางวัด แต่ปัจจุบัน การเล่น "วัวลาน" อยู่ที่ผู้จัดงาน จะเป็นคนกำหนดสถานที่ จากประเพณีพื้นบ้านที่ยาวนาน กลายเป็นการแข่งขันเพื่อการพนัน มีผู้อิทธิพลท้องถิ่น ผลประโยชน์เงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องนำไปสู่ความขัดแย้งทะเลาะวิวาท จนเกิดการสูญเสียชีวิต