นครปฐม เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 ที่เรียนจำกลางนครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม นายขวัญไชย สันติภารภพ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครปฐม พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางนครปฐม ให้การต้อนรับ คณะกระทรวงยุติธรรมประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยชิบะ นำโดย คุณมาริโกะ ซูซูกิ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยและฝึกอบรม กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น คุณซาโอริ อิดะ เจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนาพฤตินิสัย กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น ศาสตราจารย์ฮิโรโกะ โกตะ มหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่น คุณยูซูเกะ ซูซูกิ เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในการเยี่ยมชมกิจการเรือนจำกลางนครปฐม
นายขวัญไชย เผยว่า กรมราชทัณฑ์ ได้รับการประสานจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ว่าคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่น มีกำหนดการเดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบยุติธรรมทางอาญาด้านผู้กระทำผิดหญิง และขอเข้าศึกษาดูงานในเรือนจำและทัณฑสถานของไทย ในการนี้ได้เข้าเยี่ยมชมกิจการเรือนจำกลางนครปฐม พร้อมทั้งพบปะพูดคุย และนำเสนอประสบการณ์ด้านการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง รับฟังภาพรวมและภารกิจของกรมราชทัณฑ์ เข้าศึกษาดูงานภายในเรือนจำกลางนครปฐม แดนหญิง และแดนชาย นอกจากนี้ ได้ร่วมฝึกทำอาหารไทย ได้แก่ ยำส้มโอ และน้ำพริกปลาทู โดยมีอาจารย์สุทธิพงษ์ สุริยะ หรือ “อาจารย์ขาบ” ฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขาบสไตล์ จำกัด คอนเซ็ปต์ดีไซเนอร์แถวหน้าในวงการอาหารของประเทศไทย “นำ Local สู่ เลอค่า” มาเป็นวิทยากรฝึกอบรม สร้างความประทับใจให้แก่คณะศึกษาดูงานเป็นอย่างมาก
ศาสตราจารย์ฮิโรโกะ โกตะ กล่าวว่า ก่อนที่ได้มาเยี่ยมชมดูงานในครั้งนี้ มีจินตนาการณ์ว่าทัณฑสถานของไทยมีนักโทษจำนวนมาก และตามจำนวนตัวเลขที่ทราบก็ถือว่ามากตามที่เข้าใจ แต่ว่ามีหลายสิ่งที่ประเทศไทยมี แต่ที่ประเทศญี่ปุ่นไม่มี ทำให้รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก สิ่งแรกคือ ทางเรือนจำกลางนครปฐม มีทางเลือกหลากหลาย กิจกรรมโปรแกรมต่างๆ ให้ผู้ต้องโทษสามารถเลือกได้ เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นแล้ว ผู้ต้องขังมีโอกาสที่จะเลือกทำอะไรด้วยตัวเองน้อยมาก ซึ่งในโลกของความเป็นจริงจะต้องเริ่มจากการตัดสินใจด้วยตัวเองก่อน และปฏิบัติสิ่งนั้นถึงแม้ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาบางทีก็สำเร็จ และอาจจะไม่สำเร็จก็ตาม
"อีกประการหนึ่งคือ ที่เรือนจำญี่ปุ่นได้ตัดโอกาสผู้ต้องโทษในการตัดสินใจด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก แต่ที่ประเทศไทยแตกต่างกัน การที่ให้ผู้ต้องโทษสามารถตัดสินใจด้วยตัวเอง จะส่งผลแรงจูงใจที่จะทำให้เค้าทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ ทำให้พวกเค้าเหล่านั้นได้รับโอกาส ได้รับคำขอบคุณ ที่ตัวเองได้สร้างประโยชน์ เช่นสิ่งที่ตัวเองทำ สิ่งที่ตัวเองผลิต มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำไม่ว่าจะเป็นของกิน ขนม กาแฟ ที่มีโอกาสทำให้คนอื่นได้รับประทาน คือคำขอบคุณทำให้เค้ารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า นอกจากนี้ยังให้มีการเยี่ยมผ่านระบบออนไลน์ในกรณีที่ญาติอาศัยในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล รวมถึงมีการฝึกอาชีพผู้ต้องโทษทำให้มีเงินปันผล เตรียมพร้อมที่จะกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้"ศาสตราจารย์ฮิโรโกะ โกตะ กล่าว