18 กันยายน 2566 ความคืบหน้า ประเด็นร้อน พฤติกรรมสุด "เหิมเกริม" ขบวนการ "แก๊งมอดไม้พะยูง" ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่ส่อว่าจะมีการร่วมกับ จนท.รัฐ ที่ "ยิ่งแฉ ยิ่งเห็นภาพใหญ่" มีข้าราชการในพื้นที่ "ทุจริต" อาจมีเอี่ยว "ฟอกไม้" โดยใช้ช่องว่างกฎหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โดยเฉพาะจาก ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ที่ไม่ปฏิบัติตาม คำสั่งของกรมธนารักษ์ เกี่ยวกับการตัดไม้มีค่า แถมยังปรากฏภาพกลุ่มคน อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ ใช้สว่านเจาะดูแก่น "ไม้พะยูง" ภายใน รร.โคกกลางเหนือพิทยา อ.ห้วยเม็ก ซึ่งเมื่อหลังถูกจับตาหนัก "แก๊งมอดไม้" ที่ได้รับคำสั่งจาก นายทุนจีน ได้เบนหน้าไปตัดไม้มีค่าชนิดอื่น ๆ แทน ตามที่เสนอข่าวไปนั้น
ล่าสุด มีรายงานว่า เครือข่ายภาคประชาชน ได้ส่งข้อมูล การประเมินราคา "ไม้พะยูง" อีกแห่งหนึ่ง ให้กับฝ่ายความมั่นคง เพื่อส่งต่อไปยัง คณะทำงานตรวจสอบเชิงลึก และเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีตัด "ไม้พะยูง" ในโรงเรียน ซึ่งเป็นการรับแจ้งเป็นแห่งที่ 11ในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย.นี้ ที่มีการตัด "ไม้พะยูง" ในที่ราชพัสดุจำหน่าย โดยมีรายชื่อของ เจ้าหน้าที่ธนารักษ์คนเดิม ปรากฏอยู่ด้วย
แหล่งข่าวระบุว่า ข้อความในหนังสือดังกล่าว มีต้นทางจากสำนักงานพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กาฬสินธุ์ ลงวันที่ 11 ม.ค. 66 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคากลาง จำหน่าย "ไม้พะยูง" ในที่ราชพัสดุ โดยหนังสือฉบับดังกล่าว ส่งถึงผู้อำนวยการ รร.กมลาไสย เนื้อหาระบุว่า
ตามที่ รร.กมลาไสย ได้ดำเนินการตัดต้นไม้พะยูง ซึ่งโค่นล้ม เนื่องจากพายุฝนรุนแรง และตัดกิ่งไม้พะยูง เนื่องจากยื่นออกไปนอกบริเวณโรงเรียน สพม.กาฬสินธุ์พิจารณาแล้ว อนุญาตให้จำหน่ายไม้พะยูง ในที่ราชพัสดุได้ ตามที่ขออนุญาต พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ประเมินราคากลางต้นไม้ ในที่ราชพัสดุเพื่อประมูลขาย ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ จากการดูรายชื่อกรรมการ ประเมินราคากลางดังกล่าว 1 ใน 3 ยังมีชื่อของเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ คนที่เคยปรากฏชื่อ ในการเป็นกรรมการประเมินราคา "ไม้พะยูง" ในหลายโรงเรียนด้วย
นายนิยม กิติวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การปรากฏชื่อของ เจ้าหน้าที่ธนารักษ์คนดังกล่าว ซึ่งเคยปรากฏในคำสั่งหลายโรงเรียน ในฐานะกรรมการประเมินราคากลาง สวนทางกับคำชี้แจง ของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ทางวาจาและหนังสือชี้แจงว่า ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการประเมินราคาไม้พะยูงในโรงเรียน
ขณะที่มีหลักฐาน ทั้งเอกสารและภาพถ่าย ที่ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และชาวบ้าน รวมทั้งแหล่งข่าวยืนยันตัวบุคคล แต่คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังปฏิเสธอย่างเดียว ทำแค่ส่งเอกสารชี้แจง ซึ่งไม่ครอบคลุมอีกหลายกรณี ตามที่ภาคประชาชน เครือข่ายรักษ์ไม้พะยูง และทรัพยากรธรรมชาติ แจ้งเบาะแสเข้ามา
ทั้งนี้ เพราะมีหลักฐานและพยานแวดล้อม ยืนยันหลายคน “เรื่องที่เกิดขึ้นกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา เอฟซีไม้พะยูงและคนรักษ์ไม้พะยูงในโรงเรียน จึงตกอยู่ในอาการงุนงง ที่เรื่องยังไม่ขยับถึงไหน แม้แต่เดี๋ยวนี้ ทั้งเลขาธิการ สพฐ. และอธิบดีกรมธนารักษ์ ตลอดทั้ง ป.ป.ช., ป-ป-ท. และองค์กรอิสระยังปิดปากเงียบ ไม่มีรายงานชี้แจง ผลการตรวจสอบใด ๆ เกี่ยวกับคดีไม้พะยูงออกมาอีก
ชาวบ้าน รวมทั้งครู นักเรียน จึงฝากความหวัง ไว้กับคณะทำงานเชิงลึก ที่จะทำการตรวจสอบย้อนหลัง และเจ้าหน้าที่จุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ปัญหาตัดไม้พะยูงในโรงเรียน ที่ทาง จ.กาฬสินธุ์ กำลังดำเนินการอยู่
นอกจากนี้ ยังทราบว่า มีหลายคน อยากเรียกร้องไปถึง สตง.ให้ลงมาดูปัญหานี้ด้วย โดยเฉพาะตรวจสอบเส้นทางรับเงิน รายได้จากการขายไม้พะยูง ของสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เพราะดู ๆ แล้ว เรื่องนี้เชื่อว่า มีคนของรัฐเกี่ยวข้องหลายคน และคาดว่าจะมีอีกหลายแห่งทั้ง 4 เขตการศึกษาใน 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการตัดไม้พะยูง ในที่ราชพัสดุและในโรงเรียน พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่ชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง ซึ่งได้แจ้งเบาะแสเข้ามายังฝ่ายความมั่นคง ในรอบเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ รวมแล้ว 11 แห่ง ประกอบด้วย
(1) ลักลอบตัดที่สถานีเพาะชำกล้าไม้กาฬสินธุ์ 1 ต้น
(2) ลักลอบตัดก่อนขออนุญาตตัดที่โรงเรียนคำไฮวิทยา 22 ต้น
(3) ลักลอบตัดและขออนุญาตตัดที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคม 9 ต้น
(4) ลักลอบตัดที่โรงเรียนห้วยเม็กวิทยา 1 ต้น
(5) ลักลอบตัดที่สถานีวนวัฒนวิจัยกาฬสินธุ์ 1 ต้น
(6) ลักลอบตัดและขออนุญาตตัดที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ 3 ต้น
(7) ลักลอบตัดและขออนุญาตที่โรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว 6 ต้น
(8) ลักลอบตัดที่โรงเรียนชุมชนดอนยูงวิทยายน 1 ต้น
(9) ลักลอบตัดที่โรงเรียนบ้านสร้างแก้ว 1 ต้น
(10) ขออนุญาตตัดที่โรงเรียนหนองกุงไทย 7 ต้น
(11) ขออนุญาตตัดที่โรงเรียนกมลาไสย สังกัด สพม.กาฬสินธุ์
ซึ่งจุดที่ 11 นั้น ขณะนี้ยังไม่พบเอกสาร ระบุจำนวนต้น และราคาประเมินขาย ชาวบ้านจึงเรียกร้องคณะทำงานเชิงลึก และเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วย เพราะกลัวเงินแผ่นดินจะสูญหาย เนื่องจากไม่เห็นธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ รายงานเข้ามาเลย