12 กันยายน 2566 ความคืบหน้า ประเด็นร้อน ขบวนการ "แก๊งมอดไม้พะยูง" ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่มีพฤติกรรม "เหิมเกริม" หนัก ร่วมกับ จนท.รัฐ ที่ "ยิ่งแฉ ยิ่งเห็นภาพใหญ่" มีข้าราชการในพื้นที่ "ทุจริต" อาจมีเอี่ยว "ฟอกไม้" โดยใช้ช่องว่างกฎหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โดยเฉพาะจาก ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ที่ไม่ปฏิบัติตาม คำสั่งของกรมธนารักษ์ เกี่ยวกับการตัดไม้มีค่า แถมยังปรากฏภาพกลุ่มคน อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ ใช้สว่านเจาะดูแก่น "ไม้พะยูง" ภายใน รร.โคกกลางเหนือพิทยา อ.ห้วยเม็ก ซึ่งเมื่อหลังถูกจับตาหนัก "แก๊งมอดไม้" ที่ได้รับคำสั่งจาก นายทุนจีน ได้เบนหน้าไปตัดไม้มีค่าชนิดอื่น ๆ แทน ตามที่เสนอข่าวไปนั้น
ล่าสุด เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ชุดรวบรวม และตรวจสอบข่าว กอ.รมน.จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบ บริเวณภายในโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด หลังได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่ว่า เป็นโรงเรียนอีกแห่ง ที่มีการตัดไม้พะยูง ด้วยวิธีประมูลขายนำเงินเข้าแผ่นดิน จำนวน 4 ต้น โดยขายให้กับพ่อค้า ไปเมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
ซึ่งพฤติกรรมการตัดไม้พะยูง ประมูลขาย คล้ายกับปัญหาที่เกิดขึ้น ในโรงเรียนหลายแห่งที่ผ่านมา โดย น.ส.วรรณกานต์ สิมมา ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ได้พาชมโรงเรียนพบว่า มีต้นไม้พะยูงหลงเหลืออยู่กว่า 10 ต้น และมีการนำผ้าเหลืองมาโอบล้อม ลักษณะเป็นการบวชต้นไม้พะยูง โดยยอมรับว่า มีการประมูลไม้พะยูงจริง ตามคำแนะนำของผู้บริหาร และตัวแทนธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์
น.ส.วรรณกานต์ กล่าวว่า ตนเข้ามาเป็นผู้บริหารโรงเรียน เมื่อปี 63 ที่ผ่านมามีคนติดต่อ ขอซื้อไม้พะยูงหลายราย แต่ตนได้ปฏิเสธไป เพราะโรงเรียนเป็นโรงเรียนอนุรักษ์ต้นไม้ กระทั่งในปี 65 ไม้พะยูงยืนต้นตายจำนวน 4 ต้น ไม้ยางนาจำนวน 1 ต้น
จึงได้มีการประชุม ขอมติกรรมการสถานศึกษา และ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 กระทั่งทราบภายหลังว่า ทาง สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เข้ามาดำเนินการไป ส่วนที่จะมีการประมูลขายประการใด ตนไม่ทราบ แต่ก็ได้อธิบายให้กรรมการสถานศึกษา และชาวบ้านทราบว่า ทางเขตและธนารักษ์ ขายไม้เพื่อนำเงินเข้าหลวง
น.ส.วรรณกานต์ กล่าวอีกว่า ต่อมา วันที่ 2 พ.ค. 66 มีคนร้ายเข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูง 2 ต้น จึงได้เข้าแจ้งความที่ สภ.โนนสูง ต่อมาตำรวจ เจ้าหน้าที่ธนารักษ์ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้มาทำการตรวจยึด ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคากลาง 3 คนประกอบ ด้วยเจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส นายช่างสำรวจอาวุโส ส่วนจะเป็นใครนั้นปรากฏในหนังสือคำสั่งแต่งตั้ง ของผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 รวมทั้งตน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
ยืนยันว่าตนทราบเรื่องแค่นี้ ส่วนจะมีการประเมินราคาขายเท่าใด ใครเป็นคนรับซื้อ ตนไม่ทราบ เอกสารอยู่ที่ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 เท่านั้น อย่างอื่นไม่ทราบ ถึงแม้จะมีหลักฐานปรากฏในหนังสือแต่งตั้ง ตนไม่ขอพูด เพราะเป็นเรื่องของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร
ขณะที่ฝ่ายความมั่นคง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นอีกเคสที่ ชาวบ้านที่รักต้นไม้ หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเอกสารเป็นข้อมูลลับมาให้ พบเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่าง สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ในการขออนุญาต และให้อนุญาตตัดไม้ เหมือนในโรงเรียนหลายแห่ง ส่วนหนังสือขอจำหน่ายไม้พะยูง ในโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว มีจำนวน 3 ฉบับ
โดย "ฉบับที่ 1" เป็นหนังสือของทางราชการ ลงวันที่ 27 มิ.ย. 66 เป็นหนังสือจากธนารักษ์พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โต้ตอบกับ สปพ.กาฬสินธุ์ เขต 2 ลงนามโดย นายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เรื่อง อนุญาตให้จำหน่ายต้นไม้ ที่ได้จากที่ราชพัสดุ 17 ท่อน ของโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว โดยวิธีขายทอดตลาด เพื่อนำเงินเป็นรายได้แผ่นดิน ในนามธนารักษ์
"ฉบับที่ 2" ลงวันที่ 4 ก.ค. 66 เป็นหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการ ประเมินราคากลางจำนวน 3 คน จากการดูรายชื่อพบว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการฯ เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่โดนเด้ง กรณีไม้พะยูงเทศบาลตำบลอิตื้อหาย ส่วนอีกคนเป็นเจ้าหน้าที่ธนารักษ์กาฬสินธุ์ และอีกคนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนฯ
"ฉบับที่ 3" เป็นหนังสือรายงานรื้อถอนและขนย้าย โดยมีการแจ้งส่งสำเนา สัญญาซื้อขายไม้พะยูงจำนวน 4 ต้นด้วย
รายงานแจ้งคำให้การของแหล่งข่าวระบุว่า หลังจากไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ กระทั่งพนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง ได้รวบรวมพยานหลักฐาน และส่งสำนวนฟ้องต่อ ป.ป.ช.แล้ว
ชาวบ้านยังแจ้งอีกว่า ที่โรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว เยื้องสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ ยังเคยเกิดเหตุคนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูง แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ากี่ครั้ง หรือกี่ต้น เพราะถูกปกปิดเป็นความลับ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้ เห็นเป็นเรื่องของทางโรงเรียน กับ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์เท่านั้น
แม้แต่เห็นหนังสือฉบับนี้ว่า มีการขออนุญาต และให้อนุญาตขายทอดตลาด ไม้พะยูง จำนวน 17 ท่อน ตามที่ปรากฏในเอกสาร ชาวบ้านหลายคน ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนว่า ไม้มาจากไหน หรือขายไปในราคาเท่าใด จากกรณีพบหนังสือขอจำหน่ายต้นไม้ ที่ได้จากที่ราชพัสดุ จำนวน 17 ท่อน ลงวันที่ 27 มิ.ย. 66 และหนังสือเรื่อง รายงานรื้อถอนและขนย้าย
ซึ่งมีการแจ้งส่งสำเนา สัญญาซื้อขายไม้พะยูงจำนวน 4 ต้น ไม้ยางนา 1 ต้น ของโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ลงวันที่ 15 ส.ค. 65 ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ว่า ไม่ทราบว่าไม้พะยูงจำนวนดังกล่าว ขายให้ใคร จำนวนเงินเท่าใด ใครเป็นผู้รับเงินไป
ขณะที่มีชาวบ้านบางคนให้การว่า เคยได้ยินพ่อค้าที่มาซื้อไม้เล่าให้ฟังว่า เคยมาซื้อไม้พะยูงที่โรงเรียนแห่งนี้ไปแค่ 6 ท่อน ในราคา 2 หมื่นบาทเท่านั้นเอง ซึ่งหากซื้อไปจริง ไม้พะยูงอีก 11 ท่อน ยังเหลืออยู่หรือเปล่าหรือถูกจำหน่ายไปแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้ชุดเฉพาะกิจ ติดตามตรวจสอบปัญหาตัดไม้พะยูง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งนำโดย นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบในเชิงลึกโดยด่วนด้วย โดยเฉพาะประเด็นคนของธนารักษ์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งปรากฏชื่อเป็นกรรมการประเมินราคากลาง
ด้านฝ่ายความมั่นคง จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า สำหรับกรณีการตัดไม้พะยูง ไม้ประดู่และไม้หวงห้าม ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ รอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏไทม์ไลน์ ทั้งในส่วนของเอกสารการ ขออนุญาตตัดในพื้นที่ราชพัสดุ และถูกแก๊งมอดไม้ลักลอบตัด รวม 14 ครั้ง ประกอบด้วย
1.วันที่ 25 ก.ค. 66 คนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูง 1 ต้น ที่สถานีเพาะชำกล้าไม้กาฬสินธุ์ ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
2.ต้นเดือน ส.ค. 66 มีเหตุลอบตัดไม้พะยูงที่ ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย คนร้ายได้ไม้ของกลางไป 1 ท่อน,
3.วันที่ 14 ส.ค. 66 คนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณหนองทึง ต.หัวนาคำ อ.ยางตลาด 2 ต้น และ
4.รับแจ้งตัดไม้ประดู่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติดงมูล อ.ท่าคันโท จับผู้ต้องหา 3 คน พร้อมของกลาง
5.วันที่ 17 ส.ค. 66 ขออนุญาตตัดที่ รร.คำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จำนวน 22 ต้น กับอีก 2 ตอ
6.วันที่ 20 ส.ค. 66 มีเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนลักลอบเข้าไปตัดไม้ประดู่-ยูคา ในป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง
7.วันที่ 29 ส.ค. 66 รับแจ้งตัดไม้พะยูงที่ รร.หนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก จำนวน 9 ต้น โดยตัดไปตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 66
8.วันที่ 27 ส.ค. 66 คนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงใน รร.ห้วยเม็กวิทยา 1 ต้น
9.วันที่ 28 ส.ค. 66 นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัด ทส. ลงพื้นที่ติดตามปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงที่สถานีวนวัฒนวิจัยกาฬสินธุ์ ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด หลังเกิดเหตุคนร้ายลักลอบตัดในเดือน ก.ค. 66 นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านผู้รักษ์ทรัพยากรป่าไม้ แจ้งเบาะแสเข้ามาที่ฝ่ายความมั่นคงเพิ่มเติม
10.วันที่ 31 ส.ค. 66 ได้รับแจ้งขออนุญาตตัดไม้พะยูงขายจำนวน 3 ต้น ที่ รร.คุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ อ.ห้วยเม็ก โดยตัดไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 66
11.วันที่ 3 ก.ย. 66 รับแจ้งกลุ่มชายฉกรรจ์ 7 คน เข้าไปเจาะไม้พะยูงใน รร.โคกกลางเหนือ อ.ห้วยเม็ก
12.วันที่ 5 ก.ย. 66 เกิดเหตุลักลอบตัด ที่ รร.โนนศิลาสว่างวิทย์ 1 ต้น
13.วันที่ 10 ก.ย. 66 ลักลอบตัดไม้ประดู่พื้นที่ ส.ป.ก. ต.นาขาม อ.กุฉินารายณ์ 38 ต้น และ
14.พบหนังสือขออนุญาตตัด และขายไม้พะยูงทอดตลาด 17 ท่อน ที่ รร.หนองแวงบ่อแก้ว รวม 2 ครั้งจำนวน 6 ต้น
ทั้งนี้ ปรากฏเอกสารการขออนุญาต และให้อนุญาต ซึ่งเป็นหนังสือโต้ตอบระหว่าง ผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 กับธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ โดยระบุคำสั่ง ลายมือลงชื่อรับรองคำสั่ง รายชื่อคณะกรรมการประเมินราคาชัดเจนทั้ง 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนคำไฮวิทยา โรงเรียนหนองโนวิทยา โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ และโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว