28 สิงหาคม 2566 ความคืบหน้ากรณี แก๊งมอดไม้ ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลักลอบตัด ไม้พะยูง ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่ยังคงปฏิบัติการท้าทายอำนาจรัฐอย่างต่อเนื่อง ด้วยการบุกตัด "ไม้พะยูง" โรงเรียนกาฬสินธุ์ เดือนเดียว 3 รอบ โดยชาวบ้านในพื้นที่เชื่อ มีนายทุนออร์เดอร์สั่งตัด แล้วปล่อยให้ถูกจับ เพื่อฟอกเป็นไม้ถูกกฎหมายส่งออก พร้อมเสนอ "กรมธนารักษ์" ตรวจสอบการขายไม้ย้อนหลังทั้งระบบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ล่าสุด ที่สถานีวนวัฒนวิจัยกาฬสินธุ์ ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามปัญหา การลักลอบตัดไม้พะยูง ในพื้นที่ของราชการ มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รายงานสถานการณ์ ปัญหาการลักลอบตัด ไม้พะยูง ในพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงความคืบหน้ากรณี ไม้พะยูง ของกลางหาย เหตุเกิดหน้าเสาธงเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด มีข้าราชการสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพัวพัน
โดยคณะสำรวจได้เดินเท้าตรวจสอบ ต้นพะยูง และร่องรอยที่ถูกคนร้ายตัด 2 ต้น พร้อมสอบถามอุปสรรค ปัญหา ข้อกังวล และวิธีการป้องกันไม้หวงห้ามทุกชนิดในระยะยาว ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเป็นแบบอย่าง ไม่ไปหลงยุ่งเกี่ยวกับเครือข่ายมอดไม้ ที่ทราบว่า ได้พยามเข้าหาโดยใช้เงินล่อใจ
นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงภายในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่อื่น ๆ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสนใจ และรู้สึกเสียใจ รับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมีข้อสั่งการให้ตน ลงพื้นที่ดูสภาพปัญหา เพื่อนำไปสู่การป้องกัน แก้ไข ในระยะยาว
ทั้งนี้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวทางตามนโยบายรัฐบาล ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ ตามแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อคงสภาพสิ่งแวดล้อม ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ ที่มีข้าราชการเข้าไปพัวพัน นับจากนี้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ในการลงโทษผู้กระทำผิดจะสนับสนุน และให้ทำตามกฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งทางวินัย อาญา และทางแพ่ง หากมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็จะพิจารณาลงโทษขั้นเด็ดขาดด้วยเช่นกัน
แก๊งมอดไม้ที่กำลังระบาดในพื้นที่ ทำเป็นขบวนการ
ด้าน นายอดิศร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาการลักลอบป่าไม้ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความต้องการไม้พะยูงมีสูง ในการตัดแต่ละครั้ง เหมือนมีการล็อกเป้าหมายเอาไว้ เพราะเท่าที่สอบถาม จะมีคนแปลกหน้าเข้ามาดูต้นไม้ จากนั้นก็จะทำการตัดไม้พะยูง ซึ่งคาดว่าต้นไม้พะยูง ที่ถูกตัดจะมีใบสั่งจากนายทุนข้ามชาติ จึงเกิดเหตุบ่อยครั้ง โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย
ส่วนความเคลื่อนไหว ที่ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 2 นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการกาฬสินธุ์ ได้เรียกประชุมนายอำเภอ 18 อำเภอ , ตำรวจ , กอ.รมน.จ.กาฬสินธุ์ โดยได้ย้ำในในที่ประชุม กรณีไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ถูกประเมินราคาขายราคาต่ำกว่าราคากลาง และถือเป็นการประมูลขาย ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของทางจังหวัด ที่ได้มีคำสั่งห้ามตัดไปแล้ว
ในความเคลื่อนไหวในการสอบ ได้ตั้งคณะกรรมการเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทาง ป.ป.ท.ขอนแก่น ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในเชิงลึก ที่คาดว่าจะรู้ผลในเร็ว ๆ นี้ ส่วนคดีไม้พะยูงของกลางหาย ที่หน้าเสาธงสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ สำนวนส่ง ป.ป.ช.จ.กาฬสินธุ์ อยู่ระว่างการตรวจสอบสำนวนของพนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง อ.ยางตลาด
ผวจ.กาฬสินธุ์ วาง 4 มาตรการเข้มป้องกันป่าไม้
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เรื่องการลักลอบตัดไม้พะยูง ที่โรงเรียนห้วยเม็ก อ.ห้วยเม็ก เหตุเกิดช่วงกลางดึกของวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นเหตุที่ท้าทาย เพราะเป็นการกระทำที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย จึงขอให้นายอำเภอ 18 แห่ง เพิ่มความเข้มข้น ในการเฝ้าระวัง ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันป้องกันด้วยการจัดเวรยามให้เข้มแข็งมากขึ้น ใน 4 มาตรการ คือ
1.สั่งการฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ป่าไม้ คุมเข้ม จัดเวรยาม ถี่ขึ้น
2.สำรวจ เพื่อลงทะเบียนไม้พะยูง และไม้มีค่าในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์
3.เร่งติดตามขบวนการมอดไม้อย่างกระชั้นชิด
4.มีแนวทางให้ฝ่ายตำรวจ เรียกบุคคลในวงการค้าไม้ ทั้งนายหน้า แหล่งรับซื้อ มารายงานตัว เพื่อแยกน้ำ แยกเนื้อ ในการสืบสวนหาข่าวต่อไป
นอกจากนี้จะได้ขอความร่วมมือไปยังธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ให้ทำบัญชีย้อนหลังการประมูลขายไม้โรงเรียน รวมไปถึงบัญชีการประมูลไม้พะยูงของกลางที่ผ่านมาเพื่อความโปร่งใสต่อไป