svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าวทั่วไทย

ชาวแม่สะเรียงลั่น "ไม่เอาเหมือง" จี้ ก.อุตฯ ถอนพื้นที่ป่า ออกจากแหล่งหินแร่

คิดได้ไง? ชาวแม่สะเรียงรวมพลัง ต้านเปิดเหมืองในพื้นที่ จี้ รมว.อุตสาหกรรม เพิกถอนพื้นที่ป่า ออกจากแหล่งหินแร่ ขณะที่ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ประสานเสียงค้าน ให้คำมั่นร่วมเคียงข้างชาวบ้าน

20 สิงหาคม 2566 ที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และอำเภอใกล้เคียง ได้ร่วมกันคัดค้าน การสร้างเหมืองแร่หินปูนอุตสาหกรรม และโรงโม่หิน ในพื้นที่อย่างหนัก โดยช่วงบ่ายวานนี้ (19 ส.ค.) ชาวบ้านกว่า 600 - 700 คน ได้เข้าร่วมกิจกรรม “รวมพลคนแม่สะเรียงคัดค้านเหมืองแร่และโรงโม่หินแม่สะเรียง” ที่โรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ 

บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการแจกเอกสารข้อมูลผลกระทบ จากการสร้างเหมือง นอกจากนี้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อย ได้สวมเสื้อมีข้อความ คัดค้านการทำเหมือง ขณะที่ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้ง สส. , นายกองค์การบริหารส่วนตำบล , นายกเทศมนตรี , ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) แม่ฮ่องสอน ผู้ใหญ่บ้าน , ผู้อำนวยการโรงเรียนต่าง ๆ , นักเรียน กลุ่มเยาวชน ต่างเดินทางมาร่วมเวทีกันพร้อมหน้า ยกเว้นผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ระบุว่า ติดภารกิจจึงได้มอบหมายให้ นายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอแม่สะเรียง มาเป็นตัวแทน
ชาวแม่สะเรียงลั่น \"ไม่เอาเหมือง\" จี้ ก.อุตฯ  ถอนพื้นที่ป่า ออกจากแหล่งหินแร่
 

ดร.ทองทิพย์ แก้วใส แกนนำชุมชนคัดค้านโครงการเหมืองแร่แม่สะเรียง กล่าวว่า หลังจากที่ทางบริษัทขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนอุตสาหกรรมใน อ.แม่สะเรียง พื้นที่ 132 ไร่ 91 ตารางวา และทางกลุ่มได้ทำการคัดค้านมาตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 66 จนกระทั่งปัจจุบัน ทางบริษัทได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานอุตสาหกรรม จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อขอระงับการทำเวทีประชาคม 

“คนแม่สะเรียงไม่ต้องการเหมืองแร่ เพราะพื้นที่ติดชุมชนเมือง ถ้าบริษัทถอนเรื่องการขอประทานบัตร เราก็จะถอน แต่ถ้าบริษัทไม่ถอน เราก็ไม่ถอย ตอนนี้บริษัทไม่รับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน อ้างว่า ประชาชนคัดค้าน ไม่พร้อมด้านเอกสาร ซึ่งทางทีมงานได้ลงไปทำประชาคม กับประชาชนใน ต.แม่สะเรียง และ ต.บ้านกาศ จำนวน 16 หมู่บ้าน ประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ คัดค้านไม่เห็นด้วย ที่จะมีเหมืองในแม่สะเรียง มติชุมชนที่ทำไว้คือ จะไม่รับฟังความคิดเห็นอีกต่อไป" 
ชาวแม่สะเรียงลั่น \"ไม่เอาเหมือง\" จี้ ก.อุตฯ  ถอนพื้นที่ป่า ออกจากแหล่งหินแร่

แกนนำชุมชนคัดค้านการสร้างเหมืองแม่สะเรียง กล่าวอีกว่า การทำเหมืองมีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ป่าไม้มีความสมบูรณ์ต้องถูกทำลาย ป่าที่จะทำเหมืองแร่ ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม มีต้นไม้ใหญ่ เป็นที่อยู่สัตว์ป่า ต้นน้ำ ถ้าป่าไม่สมบูรณ์ ทางหมู่บ้านคงไม่ทำฝายชะลอน้ำ 

นอกจากนี้ การทำเหมืองแร่ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านมลพิษทางเสียง เนื่องจากมีโรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ ที่ติดกับป่า เสียงจะรบกวนการเรียนของเด็กและครู อาคาร รวมถึงกระทบกับคนแม่สะเรียงทั้งหมด  ถนนหมายเลข 108 ซึ่งประชาชนใช้เป็นเส้นทางหลัก จะเสียหายจากรถบรรทุกขนหิน เกิดปัญหาสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก การทำเหมืองใช้เวลา 30 ปี คนแม่สะเรียงต้องตายผ่อนส่ง นี่คือสาเหตุที่เราลุกขึ้นมาคัดค้าน
ชาวแม่สะเรียงลั่น \"ไม่เอาเหมือง\" จี้ ก.อุตฯ  ถอนพื้นที่ป่า ออกจากแหล่งหินแร่

ด้าน นายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอแม่สะเรียง กล่าวว่า ในส่วนของอำเภอ ได้ดำเนินการยื่นหนังสือคัดค้านของประชาชน แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแล้วว่า โครงการนี้ประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย 

 

“มีหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวข้องมากมาย ทางอำเภอไม่มีส่วนอนุญาตใด ๆ ถือว่าการคัดค้านของประชาชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โครงการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน ถ้ากระทบต่อประชาชน ประชาชนสามารถคัดค้านได้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ ตอนนี้บริษัทยังไม่ได้ฟังความคิดเห็นของประชาชน ถ้ายังไม่ผ่านก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ โดยศูนย์ดำรงธรรมแม่สะเรียง ยินดีรับความเดือดร้อนของประชาชน 


จากนั้น แกนนำชุมชน คัดค้านการสร้างเหมืองแม่สะเรียง และภาคประชาชน ได้ยื่นหนังสือต่อนายอำเภอแม่สะเรียง เพื่อเรียกร้องให้กันพื้นที่ทำเหมืองออกจากป่า ส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจะหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวง ที่ระบุให้พื้นที่ป่าชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งแร่หิน

ต่อด้วยเวทีเสวนา โดยวิทยากรประกอบด้วย นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีราชื่อพรรคก้าวไกล, นายสมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ , นายจีรพงษ์ พวงทอง สจ.เขตอำเภอแม่สะเรียง , นายวิชัย กองแก้ว นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลยวมใต้ , นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน , นายสุมิตชัย หัตถสาจ นักกฏหมายศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น , นายอยากร บุษยาวรรณ ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ 

โดยผู้ร่วมเสวนา ต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่เห็นด้วย และร่วมคัดค้านในการขอประทานบัตรในครั้งนี้ เป็นที่ถูกอกถูกใจของพี่น้องประชาชนคนแม่สะเรียง ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ 
ชาวแม่สะเรียงลั่น \"ไม่เอาเหมือง\" จี้ ก.อุตฯ  ถอนพื้นที่ป่า ออกจากแหล่งหินแร่  

สำหรับ พื้นที่การขอประทานบัตรตามคำขอที่ 1/2565 มี เนื้อที่ 132-0-97 ไร่ ในพื้นที่ป่ารอยต่อหมู่บ้านโป่งดอยช้าง หมู่ 13 ตำบลบ้านกาศ และ บ้านแพะหมู่ 3 ตำบลแม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ชนิดแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง)

ขณะที่ผู้แทนอุตสาหกรรม จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวชี้แจงบนเวทีว่า ขณะนี้ทางหน่วยงาน ยังไม่ได้รับคำร้องขอประทานบัตร จาก บริษัท เชียงใหม่โรงโม่หิน จำกัด แต่อย่างใด เพราะเอกสารที่ขอมานั้นไม่ครบถ้วน  ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำเหมือง อ้างอิงจากล่าสุด ที่กรมป่าไม้ได้มีหนังสือกรมป่าไม้ที่ ทส.1602.51/11901 ลงวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เกี่ยวกับระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2565 

โดยกรมป่าไม้ ระบุในการยื่นคำขอประทานบัตร ที่เกี่ยวข้องกับการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนนั้น ต้องมีเอกสารส่วนประกอบมากมาย โดยเฉพาะรายงานการสำรวจนับแยกประเภท-ขนาดไม้ทั่วพื้นที่ ตลอดจนสภาพการประเมินความอุดมสมบูรณ์พื้นที่ที่ยื่นขอ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แผนผังการทำเหมืองแร่ ฯลฯ

ที่สำคัญที่สุดคือการขออนุญาตทำเหมือง มีปัญหาการร้องเรียนจากราษฎรในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงหรือไม่ สุดท้าย คือการทำประชาคมผู้เกี่ยวข้อง หากตรงนี้ไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถอนุมัติประทานบัตรได้ และขณะนี้บริษัท เชียงใหม่ฯ ก็ยังไม่มีเอกสารประกอบที่ครบถ้วน โดยเฉพาะ EIA และการทำประชาคม ทางหน่วยงานจึงยังไม่ได้รับคำขอแต่อย่างใด
ชาวแม่สะเรียงลั่น \"ไม่เอาเหมือง\" จี้ ก.อุตฯ  ถอนพื้นที่ป่า ออกจากแหล่งหินแร่