svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าวทั่วไทย

"บิ๊กโจ๊ก" จ่อลงพื้นที่เชียงราย ร่วมหารือกรณีส่งเด็กต่างด้าว 126 คน กลับเมียนมา

"บิ๊กโจ๊ก" ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย 10 ก.ค.นี้ ดึง กสม.-สพฐ. ร่วมหารือกรณีส่งเด็กต่างด้าว 126 คน กลับเมียนมา หลังไม่ได้เรียนในไทย ด้าน อดีตนักเรียนไร้สัญชาติวอนให้โอกาสกลุ่มเด็กเปราะบาง

9 กรกฎาคม 2566 ความคืบหน้ากรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันเด็กนักเรียน 126 คนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ จากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง กลับประเทศเมียนมา เนื่องจากเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยได้มีการผลักดันผ่านช่องทางด่านอำเภอแม่สายไปแล้วกว่าครึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนที่ไม่มีพ่อแม่มารับเนื่องจากพ่อแม่เป็นผู้หลบหนีการสู้รบในฝั่งพม่าและเด็กมีป้าเป็นผู้ปกครอง จึงถูกปฎิเสธไม่คืนตัวเด็กให้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

\"บิ๊กโจ๊ก\" จ่อลงพื้นที่เชียงราย ร่วมหารือกรณีส่งเด็กต่างด้าว 126 คน กลับเมียนมา
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากคณะทำงานด้านการศึกษาเด็กซึ่งระบุว่า ภายหลังจากมีข่าวการส่งตัวเด็ก 126 คนกลับเมียนมา และมีการดำเนินคดีกับผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ที่นำพาเด็กมาเรียน ปรากฏว่าได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้บริหารองค์กรที่ทำงานด้านการศึกษาเด็กตามแนวชายแดนเป็นอย่างยิ่ง โดยปัจจุบันมีเด็กราว 2 หมื่นคนที่หนีภัยการสู้รบเข้าเรียนหนังสืออยู่ตามศูนย์การเรียนบริเวณชายแดนไทยด้านอำเภอติดชายแดน ของ จ.ตาก เช่น อ.แม่สอด ซึ่งศูนย์การเรียนเหล่านี้ไม่ได้จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ทำให้ไม่สามารถออกรหัสตัว G ได้

“พวกเราพยายามให้การศึกษากับเด็กๆ เหล่านี้ให้ได้มากที่สุด แต่พวกเขามีข้อจำกัดมากมาย เพราะพ่อแม่หนีภัยการสู้รบ ดังนั้นจึงต้องการความคล่องตัวสูง ถ้ารัฐบาลไทยมุ่งแต่จะให้กฏหมายคนเข้าเมืองเป็นหลัก คงส่งผลสะเทือนกับเด็กๆ มากมาย” คนทำงานด้านเด็กรายหนึ่ง กล่าว ทั้งนี้งบประมาณในการจัดการศึกษาดังกล่าวได้มากจากการบริจาคขององค์กรต่างๆ

\"บิ๊กโจ๊ก\" จ่อลงพื้นที่เชียงราย ร่วมหารือกรณีส่งเด็กต่างด้าว 126 คน กลับเมียนมา
ด้าน นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล กล่าวว่า พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ใช้มานาน ซึ่งสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว และขัดแย้งกับกฎหมายอื่นๆ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองเด็กในบริบทการโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่ง 10 ประเทศอาเซียนได้ลงนามแล้ว โดยภายใต้ปฏิญญานี้กรณีของเด็กจะได้รับความคุ้มครอง จะเอาความผิดกับเด็กไม่ได้ จะต้องใช้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดของเด็ก นอกจากนี้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติระบุให้เด็กมีสิทธิในการศึกษาทุกคน รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี 5 กรกฎาคม 2548 ว่าด้วยการรับเด็กเข้าเรียนกรณีที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร์ 

นายสันติพงษ์ กล่าวอีกว่า กรณีของพื้นที่ชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน ที่สาละวิน พบว่าเด็กข้ามแดนมาเรียนในสถานศึกษาตามแนวชายแดนเพิ่มขึ้นทุกแห่ง ตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีนักเรียน 114 คน แต่เป็นเด็กข้ามแดน 93 คน จึงเห็นได้ว่าสัดส่วนของเด็กข้ามแดนค่อนข้างมากเกิน 80% และแนวโน้มจะเป็นแบบนี้ สาเหตุหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์การเมืองและความไม่สงบในพม่าทำให้เด็กจำเป็นต้องออกมา ซึ่งเด็กเหล่านี้จะไปอยู่ที่โรงเรียน วัด โบสถ์หรือหอพัก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก 

“สำหรับพ่อแม่ จะถูกจะผิดกฎหมายก็ไม่รู้ แต่ขอให้ลูกปลอดภัย ส่งลูกมาให้ปลอดภัยก่อน แนวโน้มนี้จะเพิ่มขึ้น” นายสันติพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้แล้ว นายสันติพงษ์ ยังระบุว่า สำหรับการจัดการเรื่องนี้ต้องสร้างความเข้าใจกับครู ผู้อำนวยการสถานศึกษา เรื่องพรบ.การศึกษาแห่งชาติ ว่าการรับเด็กเข้าเรียนต้องทำอย่างไร ที่สำคัญโรงเรียนไม่ควรจัดหานำพาเด็กมา ยกเว้นว่าเด็กเข้ามาขอเรียนหนังสือที่โรงเรียนและโรงเรียนก็ต้องรับ อีกส่วนคือชุมชน ซึ่งเป็นกรรมการสถานศึกษาร่วมกับโรงเรียน หากกรรมการสถานศึกษาเข้าใจก็ไม่มีปัญหา 
\"บิ๊กโจ๊ก\" จ่อลงพื้นที่เชียงราย ร่วมหารือกรณีส่งเด็กต่างด้าว 126 คน กลับเมียนมา
ขณะที่ น.ส.ดวงตา นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ สาขาชาติพันธุ์สัมพันธ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอดีตเด็กไร้สัญชาติ เปิดเผยว่า ตนเองได้โอกาสในการเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในเครือวัดสระแก้ว ต.บางเสด็จ จ.อ่างทอง ซึ่งถือว่าเป็นสถานสงเคราะห์ และมีโอกาสได้เข้าไปดูแลรุ่นน้องในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับเด็กผู้ด้อยโอกาส เนื่องจากเด็กนักเรียนหลายคนที่เข้ามาเรียนต้องการโอกาสทางการศึกษา มีทั้งเด็กกำพร้า ยากจน ไร้สถานะทางทะเบียน แต่พื้นที่แห่งนี้ไม่ได้เลือกปฏิบัติกับเด็กกลุ่มเปราะบาง หลายคนที่จบจากที่นี่ได้มีโอกาสในการศึกษาต่อในสถาบันอื่นๆ 

“ที่นี่เห็นความสำคัญของการศึกษา ไม่ได้มีอคติต่อเด็กๆ และจริง ๆ แล้ว ผู้บริหารโรงเรียนไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพราะเขาทำตามนโยบายของไทย คือ Education for All และหลักการไม่เลือกปฏิบัติ เพียงแต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าเรียนได้ในทุกที่ และยังมีหลายโรงเรียนที่เลือกปฏิบัติกับกลุ่มคนเหล่านี้ เห็นได้ชัดในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก บางโรงเรียนไม่รับเด็กไร้สัญชาติเข้าเรียน บางโรงเรียนอนุญาตให้เข้าเรียนตามหลักการ แต่เด็กๆ ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆเลย จากรัฐ และผู้บริหารโรงเรียนไม่ได้มีพื้นฐานความเข้าใจว่าเด็กๆ มีสิทธิที่จะเรียน” น.ส.ดวงตากล่าว

\"บิ๊กโจ๊ก\" จ่อลงพื้นที่เชียงราย ร่วมหารือกรณีส่งเด็กต่างด้าว 126 คน กลับเมียนมา
นักศึกษาปริญญาโท กล่าวอีกว่า หลายคนคิดว่าโรงเรียนแห่งนี้ไปเอาเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเรียนอย่างผิดกฎหมาย แต่จริงๆแล้วเด็กส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน รวมไปถึงผู้อพยพหนีจากสงครามมาจากพื้นที่ห่างไกล  รวมถึงลูกหลานกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในไทย เช่น ดอยแม่สลอง เพียงแต่พวกเขาไม่มีสัญชาติ และพื้นที่ต้นทางถูกปิดตัวลง และไม่มีพื้นที่สำหรับเด็กกลุ่มนี้ จึงเลือกเข้ามาเรียนเพราะต้องการโอกาส

“การที่รัฐไทยสร้างวาทกรรมการนำเด็กไร้สถานะทางทะเบียนเข้ามาเรียนเป็นขบวนการค้ามนุษย์ถือเป็นการโจมตี ซึ่งจริงๆ แล้วพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้การศึกษาและสร้างคนโดยที่ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนก็ตาม เพราะตามความเป็นจริงแล้ว สังคมไทยไม่ได้มีพื้นที่ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ พื้นที่แห่งนี้เป็นทางเลือกสุดท้ายที่เด็กจะได้รับโอกาส และเป็นจุดเริ่มต้นของเด็กกลุ่มเปราะบางที่จะมีชีวิตรอด พยายามเรียนหนังสือ ฉะนั้นสถานสงเคราะห์ในหลายๆ ที่ก็คงจะโดนในลักษณะเดียวกันตามการโจมตีในลักษณะดังกล่าว” นักศึกษาปริญญาโท กล่าว

\"บิ๊กโจ๊ก\" จ่อลงพื้นที่เชียงราย ร่วมหารือกรณีส่งเด็กต่างด้าว 126 คน กลับเมียนมา
น.ส.ดวงตา กล่าวด้วยว่า การผลักดันเด็กเหล่านี้กลับไปไม่ต่างจากการกีดกันพวกเขาออกจากระบบการศึกษา และปัญหาเหล่านี้ก็จะคงอยู่ ประเทศไทยควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจนทั้งในทางทฤษฎีหรือทางปฏิบัติ เพื่อเปิดโอกาสให้กับเด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาโดยที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์  หักพาล รอง ผบ.ตร./ผอ.ศพดส.ตร.

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์  หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.) จะเดินทางมายังจังหวัดเชียงราย เพื่อร่วมประชุมหารือเรื่องแนวทางในการส่งกลับเด็กและเยาวชนต่างด้าวกลับออกไป นอกราชอาณาจักร ซึ่งนอกจากกรรมการ ศพดส.ตร.แล้ว ยังมีผู้แทน สพฐ. สำนักงานอัยการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วย