6 กรกฎาคม 2566 ที่ จ.อ่างทอง ความคืบหน้า กรณีที่พบ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก มีนักเรียนชนเผ่า เพิ่มขึ้นมากผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่ทั้งโรงเรียน มีแค่ ผอ. 1 คน ครูประจำการ 1 คน ครูอัตราจ้าง 1 คน และเจ้าหน้าที่ธุรการ 1 คน แต่กลับมีนักเรียนถึง 137 คน มิหนำซ้ำยังเป็นเด็กต่างด้าวถึง 130 คน ซึ่งไม่สามารถพูด หรือสื่อสารภาษาไทยได้ จึงหวั่นว่าจะมีการล่อลวงมาหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ซึ่งต่อมา หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบพบว่า เด็กเกือบทั้งหมด มีทางผู้บริหารโรงเรียน ได้ร่วมกับผู้ใหญ่บ้านรายหนึ่ง และกรรมการสถานศึกษา นำรถไปรับ มาจากจังหวัดทางภาคเหนือ จนมีการตรวจสอบ และส่งตัวเด็กนักเรียนต่างชาติ 126 ราย กลับสู่ภูมิลำเนาเมื่อวาน (5 ก.ค.) ที่ผ่านมานั้น ขณะเดียวได้มีการเตรียมเอาผิด ผอ.โรงเรียน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุด นางกัลยา ทาสม อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ปฏิบัติงานที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอ่างทอง ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ตนรับตำแหน่งผู้อำนวยการ โรงเรียนแห่งนี้ เมื่อเดือน ก.พ. 65 ซึ่งขณะนั้นมีนักเรียนอยู่ 12 คน เมื่อหารือกับผู้เที่ยวเกี่ยวข้อง มีทางออกคือการไปรับเด็กจากที่อื่น ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำมานานแล้ว 20 - 30 ปี
จึงได้ติดต่อศิษย์เก่า บนดอยแม่สลอง โดยชุดแรก 35 คน ซึ่งได้ทำเรื่องตามระบบ โดยบันทึกข้อมูลเด็ก ไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎร์โดยไม่มีปัญหาใด ๆ จนได้เอกสารตัว G
อดีตผู้อำนวยการ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 กล่าวว่า ในปีนี้ได้มีการประสานงาน เพื่อรับเด็กมาเรียนอีกครั้ง ซึ่งก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง มูลนิธิวัดสระแก้ว เช่นเดิม เพื่อให้ดูแล จนรับเด็กมาได้ 72 คน ซึ่งเดิมที่ต้องการเด็กเพียง 40 คน แต่มีผู้ปกครองที่ทราบข่าว ต้องการให้เด็ก ๆ ได้มาเรียนที่นี่จำนวนมาก เพราะมีการบอกต่อ ๆ กัน รวมทั้งเด็ก ๆ ก็ต้องการมาเรียน เมื่อเด็ก ๆ มาถึง ก็ทำกระบวนการเช่นเดิม
แต่ครั้งนี้มีการตั้งคำถามจากสำนักงานเขตพื้นที่ฯ เพราะเห็นว่า มีเด็กจำนวนมากขึ้นเยอะ และมีการลงมาตรวจสอบ เพราะมีการร้องเรียนจากบุคคลากรบางคนในโรงเรียน ในที่สุดทางเขตการศึกษาบอกว่า ถ้าไม่มีเอกสารก็ขอให้ส่งเด็กกลับ ซึ่งตนก็เตรียมที่จะส่งกลับแล้ว แต่ไม่ทราบว่า เพราะเหตุใดจึงมีการไปแจ้งความ และกลายเป็นเรื่องที่บานปลายไปเรื่อย ๆ
“เด็ก ๆ ส่วนใหญ่มีทั้งที่อยู่ฝั่งไทย และเดินทางข้ามมาจากฝั่งเมียนมา บางคนก็มีพ่อแม่เป็นคนไทย ที่น่าเสียใจคือ พอเกิดเรื่องทำให้เด็ก ๆ ทั้งหมดต้องออกจากเรียนกลางคัน ทั้งเด็กเก่า เด็กใหม่ มันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง พวกเขาควรได้เรียน เราเองก็ตอบคำถามผู้ปกครองไม่ได้ ดิฉันรู้สึกผิดมากที่เห็นเด็ก ๆ ไม่ได้เรียนต่อ ตอนนี้โรงเรียนก็ต้องปิด ทั้ง ๆ ที่กระบวนการทุกอย่างเป็นไปโดยถูกต้อง ผู้ปกครองของเด็ก ๆ ต่างก็ได้ทำหนังสือรับรองอนุญาตให้มาเรียน”
ในวันเดียวกันที่ โรงแรม The Heritage อ.เมือง จ.เชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้จัดเสวนา “ร่วมมือแสวงหาแนวทาง การรับมือการจัดการสถานะบุคคล ต่อสถานการณ์ผู้ลี้ภัย การอพยพ ของประชาชนจากเมียนมา” โดยผู้เข้าร่วม เป็นผู้รู้เรื่องงานสถานะบุคคล มีทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ผู้แทนยูนิเซฟ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ส.ส. และตัวแทนฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กรมการปกครอง
นอกจากการหารือ เรื่องงานสถานการณ์ การอพยพของประชาชนจากฝั่งเมียนมา และพูดถึงทางออกของปัญหาแล้ว หลายคนในที่ประชุม ยังได้วิพากษ์วิจารณ์ กรณีที่หลายหน่วยงานของไทย ขนย้ายเด็ก ๆ 126 คน จากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทอง มาอยู่ในสถานสงเคราะห์ จนทำให้เด็ก ๆไม่ได้เรียนหนังสือต่อ ซึ่งถือว่า เป็นการทำผิดกฏหมายคุ้มครองเด็ก
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ควรมีการเตือนสติกระทรวงศึกษาธิการว่า กำลังสับสนเรื่องภารกิจของตัวเอง และกำลังกังวลว่า มีอีกหลายกรณี ที่รับเด็กนักเรียนลักษณะเดียวกัน ไปเรียนและจะเกิดปัญหาตามมาเช่นกัน เพราะเดิมทีผู้อำนวยการหลายโรงเรียน ก็ไม่กล้ารับเด็กอยู่แล้ว เพราะกลัวว่า เป็นการให้ที่พักพิงและผิดกฎหมาย
ดังนั้นควรมีการสำรวจว่า มีโรงเรียนแบบนี้มีอีกกี่แห่ง และขณะนี้มีเด็กอีกนับพันคน ที่หนีภัยการสู้รบ เราควรปฏิบัติกับเด็กเหล่านี้อย่างไร
นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.พรรคเป็นธรรม กล่าวว่า จริง ๆ แล้วเรื่องนี้มีกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง แต่หน่วยงานราชการ เลือกใช้แต่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีศักดิ์ศรีเท่ากัน ดังนั้นควรเอาเรื่องคุ้มครองเด็ก ไปไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือหากปล่อยไปเช่นนี้ ก็ต้องยกระดับขึ้น ขณะเดียวกันหลักการไม่ส่งเด็กกลับ เป็นเรื่องจารีตระหว่างประเทศ ที่ไม่มีใครทำกัน ดังนั้นการส่งเด็ก ๆ กลับไปในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
นายวีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เด็ก ๆ ไม่ควรถูกออกจากระบบการศึกษา แม้จะไม่มีหลักฐานใด ๆ ก็ตาม ซึ่งเป็นหน้าที่ที่กระทรวงศึกษา ต้องออก เลขรหัส G-code ให้ ซึ่งกรณีนี้เด็กทั้ง 126 คน ทางโรงเรียนก็ได้ขอรหัสนี้ให้ แต่ไม่ได้รับ ที่ตนไม่เข้าใจคือ ทำไมถึงต้องส่งเด็กกลับ เพราะเด็กควรมีสิทธิเรียนในโรงเรียนใดก็ได้
“การจะเอาผิดกับผู้อำนวยการ โดยตั้งข้อหานำพา และการให้เด็กได้เรียน เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเอามารวมกันก็วุ่นวาย กรณีนี้ผู้อำนวยการ ก็มีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง ให้เด็ก ๆ มาเรียนถูกต้องตามขั้นตอน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากเสร็จสิ้นการเสวนา ผู้ร่วมเสวนา เช่น นางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิ พชภ. นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกัณวีร์ ได้เดินทางมายังบ้านพักฉุกเฉิน ของมูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ ซึ่ง พม. ได้นำเด็กนักเรียน 35 คน ที่เดินทางมาจาก จ.อ่างทอง มาฝากไว้เพื่อรอติดต่อผู้ปกครองและส่งกลับ
ทั้งนี้เด็ก ๆ หลายคนเป็นเด็กอยู่บนดอยแม่สลอง บางส่วนเป็นเด็กจากฝั่งเมียนมา ส่วนใหญ่บอกว่า ยังต้องการเรียนหนังสือต่อ แต่คงหมดโอกาส โดยเฉพาะเด็กที่ข้ามมาจากฝั่งเมียนมา ส่วนเด็กในฝั่งไทย ก็อาจจะเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน สาเหตุที่เดินทางไปเรียนถึง จ.อ่างทอง เพราะเคยมีรุ่นพี่ ๆ ไปเรียนแล้ว จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี