จากกรณีชายหัวเกรียนบุกยึดวัดหิรัญญาราม หรือ วัดหลวงพ่อเงินบางคลาน ต.บางคลาน อ.โพทะเล จ.พิจิตร และมีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ของวัดได้รับบาดเจ็บ จนเกิดเหตุชุลมุนขึ้น ต่อมานายพยนต์ อัศวพิชยนต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยกำลังตำรวจและฝ่ายปกครอง ได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์จนสงบลงแล้ว นั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
6 เมษายน 2566 เนชั่นออนไลน์ ได้เกาะติดประเด็นมหากาพย์ความขัดแย้งเกี่ยวกับเงินบริจาคและศาสนสมบัติของวัดหิรัญญาราม หรือวัดบางคลาน ที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม "วัดหลวงพ่อเงิน" วัดของเกจิอาจารย์ชื่อดัง "หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ" แห่งอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร
ซึ่งปมขัดแย้งนี้ ถ้านับย้อนกลับไป มีมานานร่วม ๆ สิบปีแล้ว จุดแตกหักที่สุดคือยุคของอดีตเจ้าอาวาสรูปก่อนซึ่งถูกปลด และมีคดีฟ้องร้องกันไปมาหลายสิบคดี ก่อนจะตั้งรักษาการเจ้าอาวาสจนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
วัดบางคลานเป็นวัดเก่าแก่ อายุเกือบ 200 ปี โด่งดังด้านวัตถุมงคลแบบสุดขีดในยุคที่มี พระครูพิบูลธรรมเวท หรือ "หลวงพ่อเปรื่อง" ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 8 ตั้งแต่ปี 2505 มีการจัดทำวัตถุมงคลและพระเครื่องหลายต่อหลายรุ่น ซึ่งทุกรุ่นล้วนแต่โด่งดังในแวดวงพระเครื่องและวัตถุมงคล โดยเฉพาะ "พระรูปหล่อ พลวงพ่อเงิน พิมพ์นิยม" ซึ่งราคาปัจจุบันสูงถึงหลักล้านบาท หรือหลายล้านบาท
ยุคหลวงพ่อเปรื่อง มีไวยาวัจกร และผู้ที่จัดการเรื่องบัญชีรายรับรายจ่ายของวัด 2 คน ซึ่งทำงานให้วัดมานานหลายสิบปี ก็คือ ลุงเชวง ชัยรัตน์ กับ อาจารย์พร ปั้นเพ็ง ช่วงนั้นสถานการณ์ในวัดไม่มีปัญหาขัดแย้ง โดยทางวัดมีรายได้จากการสร้างวัตถุมงคลรุ่นต่าง ๆ รวม ๆ แล้วหลักร้อยล้านบาท กระทั่งปี 2539 หลวงพ่อเปรื่อง ได้มรณภาพลง ทางวัดมีการแต่งตั้ง "พระครูวิสิฐสีลาภรณ์" ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส นับแต่นั้นเองความขัดแย้งก็เริ่มขึ้น
ลุงเชวง และอาจารย์พร ซึ่งดูแลจัดการเงินวัดมาตลอด ระบุชัดว่า ปัญหาภายในวัดมาจาก 2 เรื่องหลัก ๆ คือ ความประพฤติที่ไม่เหมาะสมกับสมณเพศของเจ้าอาวาส(ในขณะนั้น) ซึ่งก็คือ พระครูวิสิฐสีลาภรณ์ และปัญหาการบริหารจัดการเงินวัด มีการทำโครงการก่อสร้างหลายโครงการ และมีการจัดจ้างบริษัทรับเหมาซึ่งเกี่ยวข้องกับสีกาคนหนึ่ง ขณะเดียวกันการจัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นหลัง ๆ ในยุคนี้ ก็เริ่มมีผู้มีอิทธิพลระดับท้องถิ่นจากนอกวัดเข้ามามีบทบาท ทำให้ความขัดแย้งเริ่มปะทุ
กระทั่งถึงปี 2557 ลุงเชวง ทนไม่ไหว ได้ร่างจดหมายร้องเรียนถึงเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพระครูวิสิฐสีลาภรณ์ มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวน ตามกฎหมายปกครองคณะสงฆ์และกฎมหาเถรสมาคม และสุดท้ายมีคำสั่งให้พระครูวิสิฐสีลาภรณ์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาส พร้อมตั้งรักษาการเจ้าอาวาสรูปใหม่ คือ พระครูพิสุทธิวรากร ให้เข้าไปตรวจสอบเงินบริจาคและศาสนสมบัติของทางวัด
จุดนี้เองที่เป็นชนวนเหตุของความขัดแย้ง มีคดีฟ้องร้องกันมากมาย แม้คดีหลัก คือคดีที่มีการฟ้องร้องเรื่องการปลดเจ้าอาวาสรูปเดิม และตั้งรักษาการเจ้าอาวาสรูปใหม่ จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาแล้วว่าเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ปัญหาก็ยังไม่ยุติลง เพราะยังมีชาวบ้านและผู้กว้างขวางในพื้นที่ ขัดขวางการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของคณะรักษาการเจ้าอาวาสรูปใหม่ หลายครั้งความขัดแย้งบานปลายจนเกือบเผชิญหน้า
ต่อมาเมื่อปี 2565 มีการปิดล้อมยึดวัดหลวงพ่อเงินบางคลานยาวนาน 3-4 เดือน จนเมื่อ 24 มิถุนายน 2565 พระครูวิสิฐสีลาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสที่เป็นคู่กรณี ก็ได้มรณภาพลง
เรื่องดูเหมือนจะจบ แต่ก็ยังไม่จบ เมื่อเหล่าบรรดาลูกศิษย์และญาติพี่น้องต่างมาอ้างกรรมสิทธิ์และทรัพย์สินของอดีตเจ้าอาวาสในช่วงที่หาได้และมีในขณะที่บวชเป็นพระ ซึ่งยังเป็นคดีความค้างอยู่รอฟังคำพิพากษาและคำบังคับคดีซึ่งน่าจะรู้ภายในเดือนนี้
แต่ความเคลื่อนไหวที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (11 มกราคม 2566) เมื่อ นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ ผู้ว่าฯพิจิตร ได้ส่งหนังสือถึงเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร เรื่องการแก้ไขปัญหา วัดหลวงพ่อเงินบางคลาน มีเนื้อหาสำคัญตอนหนึ่งว่า
"สำหรับเรื่องการแต่งตั้งเจ้าอาวาส วัดหิรัญญาราม นั้น เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งมีความเบาบางและคลี่คลายไปในทางที่ดี ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยอมรับการบริหารงานและการทำงานของ พระครูพิสุทธิวรากร เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้มีหลักการในการทำงาน มีความรู้ความสามารถ ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงเรียบร้อยมีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม ต่อไป"
เนื่องจากเรื่องการแต่งตั้งเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ จังหวัดพิจิตร จึงขอถวายเรื่องความคืบหน้าของสถานการณ์ในเรื่องนี้ให้พระคุณท่านพื่อเป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม ต่อไป
จนกระทั่ง 14 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีพิธีแต่งตั้ง พระครูพิสุทธิวรากร เป็นเจ้าอาวาสวัดหิรัญญาราม อย่างเป็นทางการ มีพระราชสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร เป็นประธาน โดยพิธีในวันนั้น ไม่มีชาวบ้านออกมาประท้วงแต่อย่างใด
แต่ผ่านไปได้เพียงครึ่งเดือน กลุ่มชาวบ้านก็ออกมาประท้วงอีกครั้ง เพราะไม่ยอมรับในตัวเจ้าอาวาสรูปใหม่ เนื่องจากมีการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านเป็นร้อยคดี พยายามให้ชาวบ้านติดคุก และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร อ้างเหตุผลแจ้งเจ้าคณะอำเภอโพทะเลว่าเพื่อสนองนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร
นอกจากนี้ยังมีคลิปเสียงพระผู้ใหญ่ของจังหวัด โทรศัพท์ข่มขู่ให้พระครูวิรุฬธรรมาภิรัติ เจ้าคณะอำเภอโพทะเล ให้ดำเนินการแต่งตั้งพระครูพิสุทธิวรากร เป็นเจ้าอาวาส โดยปฏิบัติตามหนังสือจังหวัดพิจิตร มีเจ้าคณะตำบลท่านั่ง-บางคลาน มาคอยกำกับ กดดันเจ้าคณะอำเภอโพทะเล ลงนามในหนังสือรายงานการประชุม เสนอแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ประชุมจริง
โดยชาวบ้านในตำบลบางคลานไม่มีใครทราบเรื่องและชาวบ้านในตำบลบางคลานไม่ยอมรับการแต่งตั้งพระครูพิสุทธิวรากร เป็นเจ้าอาวาส ขอให้เปลี่ยนตัวเจ้าอาวาส จนกระทั่งมาเหตุเกิดในวันนี้ (6 เมษายน)