24 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวจังหวัดปราจีนบุรี ได้รับการร้องทุกข์ชาวบ้านว่า มีโขลงช้างป่า ข้ามฝั่งมาจาก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา (ในพื้นที่ป่าราบต่ำผืนสุดท้ายรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา,จ.สระแก้ว,จ.ชลบุรี,จ.จันทบุรี และจ.ระยอง) แตกโขลงเข้ามาหากิน อยู่ที่เชิงเขามะกล่อง หมู่ที่ 14 ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี นานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ไม่ยอมกลับคืนถิ่นที่อยู่เดิม
ช้างโขลงดังกล่าว ได้แตกโขลง หนีจากการผลักดัน ของเจ้าหน้าที่ชุดผลักดันช้างป่าอ่างฤาไน และชุดเฝ้าจิตอาสาเฝ้าระวังช้างป่า ต.เขาไม้แก้ว ออกมาหากินบริเวณพื้นที่ไร่อ้อยของเกษตรกร ที่อยู่ติดกับเชิงเขานับ 1,000 ไร่ และสลับหากินในไร่มันสำปะหลัง , สวนมะม่วง , มะละกอ , ป่ากล้วย , นาข้าวที่กำลังให้ผลผลิต สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ต่างพากันหวาดกลัวโขลงช้างป่า เวลาออกมาไร่แต่ละครั้ง ต้องคอยระวังว่า โขลงช้างป่า อาจทำอันตรายบาดเจ็บ - เสียชีวิตได้
นายธนเกียรติ ไชยราษฎร์ อาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และ ส.อบต.วังท่าช้าง ผู้ที่บันทึกภาพโขลงช้างป่า กล่าวว่า ฝูงช้างป่าอ่างฤาไนแตก โขลงกันออกมาหากิน ข้ามฝั่งมาในพื้นที่ ต.วังท่าช้าง แทบจะทุกวัน โดยเฉพาะในหมู่บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ 14 โขลงช้างมักพากันข้ามฝั่งเข้ามาอยู่อาศัย ตรงเชิงเขามะกล่อง เข้ามาพักอยู่นาน 4 - 5 ปีแล้ว จนมาคลอดลูกที่แห่งนี้ เกือบกลายเป็นช้างประจำถิ่น
ในทุกกลางคืน แม้ยามช่วงกลางวัน ตนเองและจิตอาสาฯประจำหมู่บ้าน - ตำบล ต้องพากันร่วมแรงร่วมใจ ออกไปผลักดันช้างป่าให้โขลงช้างออกไป จากพื้นที่ทำกิน - บ้านเรือนของชาวบ้าน เมื่อได้รับแจ้งจากชาวบ้าน โดยโขลงช้างป่า จะอาศัย-หลบอยู่เชิงเขามะกล่องและจะยกโขลง -แยกตัว ออกมาหากินในไร่อ้อย , ไร่มันสำปะหลัง ,สวมะม่วง สวนมะละกอ , ป่ากล้วย หรือนาข้าว ของเกษตรกร สร้างความเสียหายให้กับเจ้าของไร่ นา สวน เป็นอย่างมาก
ตอนนี้ชุดผลักดันช้าง เอาไม่อยู่แล้ว เพราะลำพังกำลังเจ้าหน้าที่ - จิตอาสาฯ น้อยกว่าโขลงช้าง อาทิ โขลงช้าง120 - 150 ตัว แต่กำลังชุดผลักดันเพียง 50 คน และต้องออกช่วยกันผลักดันโขลงช้างป่าทุก ๆ วัน รวมถึงต้องทำงานอาชีพประจำของตนเอง จึงอยากจะให้ทางเจ้าหน้าที่ และผู้นำท้องถิ่นท้องที่ มาช่วยกันผลักดันช้างป่าโขลงดังกล่าวออกจากพื้นที่ เพื่อป้องกันความเสียหาย พืชผลการเกษตรของชาวบ้าน หรือสูญเสียชีวิตชาวบ้าน
นายธนเกียรติ กล่าวว่า "ช้างป่าโขลง" นี้ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ทางทีมผลักดันช้างป่า ได้ผลักดันช้างป่า มายังป่าสะเดา และร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ทำการผลักดันให้ไปประตูช้าง บ้านนายาว แต่โขลงช้างป่า 120 ตัวดังกล่าวไม่ยอมไป ได้แวะพักที่เขามะกล่อง บ้านโนนสมบูรณ์ ที่ช้างป่าคุ้นเคยจนถึงปัจจุบัน
โดยในวันที่ 2 ธ.ค. นี้ จะได้นำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน นำเสนอในที่ประชุม จังหวัดในภาคตะวันออกรวม 8 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี ชลบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก) ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าประชุมที่ จ.ระยอง ในการแก้ไขปัญหาต่อไป