8 กันยายน 2566 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ okmd องค์กร ‘กระตุกต่อมคิด’ เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญาให้คนไทย ครบรอบการดำเนินงานปีที่ 19 เปิดความสำเร็จจากการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท พร้อมเดินหน้า
ต่อยอดการเรียนรู้ จับมือพันธมิตร 25 องค์กร เปิดตัว okmd Knowledge Portal แพลตฟอร์มสําหรับการเรียนรู้ออนไลน์ของประเทศที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 19 ปี ในการดำเนินงานของ okmd เต็มไปด้วยการพัฒนาการเรียนรู้ในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ ขับเคลื่อนนวัตกรรมทางความคิด เพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของคนทุกช่วงวัย ผ่านกระบวนการเรียนรู้สาธารณะที่เสริมศักยภาพคน ในรูปแบบการสร้างแหล่งบริการองค์ความรู้รูปแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ ทันสมัย มีชีวิตชีวา เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งนี้ จากการประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ในปี 2566 ของผู้เชี่ยวชาญภายนอก อย่างบริษัทนิคเคอิ รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า okmd สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสุทธิได้จำนวน 10,438.96 ล้านบาท และสร้างมูลค่าเพิ่มทางสังคมได้ถึง 6,615.19 ล้านบาท
แสดงให้เห็นว่า okmd สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมถึง 17,054.15 ล้านบาท
ในวันนี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่โลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว okmd เล็งเห็นถึงความจําเป็นในการพัฒนาต่อยอดแหล่งเรียนรู้ให้มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต จึงร่วมมือกับอีก 26 องค์กรพันธมิตรขับเคลื่อนความรู้สู่สังคมไทย อาทิ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมวิชาการเกษตร กรมศิลปากร กรมอนามัย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง บริษัท ฯลฯ ในการร่วมมือในการสนับสนุนและพัฒนาบริการองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งใน ศูนย์กลางการเรียนรู้ออนไลน์ของประเทศ ภายใต้ชื่อ okmd Knowledge Portal
okmd Knowledge Portal เป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ออนไลน์จากทั่วประเทศประกอบด้วยข้อมูลความรู้และหลักสูตรออนไลน์จำนวนมาก ที่ได้รับการบริหารจัดการความรู้อย่างเป็นมืออาชีพ โดยมีการจัดหมวดหมู่ความรู้ที่ชัดเจน มีการพัฒนาเนื้อหาให้ง่ายต่อความเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ได้ทันที มีรูปแบบการนำเสนอที่ทันสมัยและหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นการพัฒนาศักยภาพให้คนไทยสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ตลอดจนนำเอาความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและการประกอบอาชีพ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
ระบบการให้บริการของ Knowledge Portal มี 4 ระบบ ได้แก่ 1. Library for All (ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์) ประกอบด้วยสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ในรูปแบบ E-book, E-magazine, Audiobook และPodcast ที่เชื่อมโยงกับห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ กว่า 10 แห่ง มีฐานข้อมูลหนังสือหลายหมื่นเล่ม 2. Online Learning Center ประกอบด้วย หลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ คลิปความรู้ในด้านต่างๆทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว ที่ผู้เรียนสามารถนำไปเทียบกับรายวิชาเดียวกันที่สอนอยู่ในสถานศึกษาต่างๆ เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ในอนาคต
3. The Knowledge Sharing (พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ออนไลน์) เป็นพื้นที่ออนไลน์สาธารณะที่ประชาชนสามารถนำข้อมูลความรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นพื้นที่แสดงผลงานทางวิชาการเพื่อให้ความรู้แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น และเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ในประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนมีความสนใจร่วมกัน รวมถึงเป็นพื้นที่อิสระที่ประชาชนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดเกี่ยวกับสถานการณ์และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนและสังคม และ 4. AI Search Engine หรือะบบค้นหาและแนะนำเว็บไซด์อัจฉริยะ เป็นระบบสืบค้นอัตโนมัติ ทั้งในรูปแบบ Chatbot และ AI Search ที่มีระบบช่วยคัดกรองเนื้อหา ช่วยให้การสืบหาข้อมูลความรู้มีความสะดวกสบายและรวดเร็ว มีการคัดเลือกเว็บไซต์ที่มีข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ มีความถูกต้อง และเชื่อถือได้ รวมถึงมีการแนะนำเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงเพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลความรู้ที่มีความครบถ้วนหลากหลายแง่มุม
ดร.ทวารัฐ กล่าวต่อว่า OKMD Knowledge Portal มีจุดเด่นที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์อื่นๆ คือ นอกจากจะเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ทั่วประเทศแล้ว ยังเน้นเรื่อง กระบวนการจัดการความรู้ โดยจะมีทีมงานที่เป็น Curator ทำหน้าที่รวบรวม แบ่งหมวดหมู่ คัดสรร ประมวลความรู้องค์ความรู้ในด้านต่างๆ และสื่อการเรียนรู้ที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมของของโครงการเอง และองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงมาจากแหล่งเรียนรู้เครือข่าย เพื่อบริหารจัดการเนื้อหาหรือองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ และชุดความรู้ หลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย จุดเด่นประการที่สองคือ KP ยังมี กระบวนการสร้าง Knowledge demand เพื่อกระตุ้นความอยากเรียนรู้ สร้างความสนใจใฝ่รู้ให้เกิดกับประชาชน ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้การถ่ายทอดความรู้เป็นไปอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ
“ผลสำเร็จของการดำเนินงานตลอดระยะเวลากว่า 19 ปีที่ผ่านมา เป็นความภาคภูมิใจขององค์กรของเราที่มีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย วันนี้ โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ okmd มุ่งมั่นที่จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะเชื่อมโยงองค์ความรู้ในสังคมไทยเข้าด้วยกันสร้าง Thailand Knowledge Landscape ที่เติบโตขึ้น ให้สังคมไทยสามารถก้าวสู่การเป็น “สังคมอุดมปัญญา” หรือ “Knowledge Society” พร้อมแปลงเปลี่ยนความรู้ให้เป็นโอกาส หรือ “Knowledge is Opportunity” ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน” ดร.ทวารัฐกล่าวสรุป