"นิชานท์ สิงหพุทธางกูร" และ "ธนันท์ ชาลดารีพันธ์" สองนักวิชาการ ได้ร่วมนำเสนองานวิจัย "นายกฯ 8 ปี " ตามแนวการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนชั่นทีวีออนไลน์ เห็นว่ามีเนื้อหาที่ชวนให้พิจารณาอย่างยิ่ง จึงขอนำเสนอเป็นตอนที่สอง
คำวินิจฉัยที่ ๑๐/๒๕๔๓ เรื่อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ กรณี นายอนันต์ ศวัสตนานนท์ จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ
คดีนี้เกิดจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีความเห็นว่า นายอนันต์ ศวัสตนานนท์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๐ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ "เมื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีผู้สั่งแต่งตั้งได้ออกไปตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน และถือเป็นการดำรงตำแหน่งใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ย่อมถือว่าข้าราชการการเมืองดังกล่าวเข้ารับตำแหน่งใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นกัน" และเมื่อพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ก็จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ตามมาตรา ๒๙๑ (๕) ซึ่งกรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ จะต้องยื่นบัญชีดังกล่าวภายในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ และกรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ จะต้องยื่นบัญชีดังกล่าวภายในวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๐ แต่ปรากฏว่า นายอนันต์ ศวัสตนานนท์ มิได้ยื่นบัญชีดังกล่าว จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕
ในคำวินิจฉัยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่า วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญถือเป็นวันให้ที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่บริหารราชการอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ได้ออกไปตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน แล้วดำรงตำแหน่งใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากพิจารณาไว้เพียงว่า "การประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ โดยบัญญัติให้ข้าราชการการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ..."
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยประเด็น "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" ใน คำวินิจฉัยที่ ๒๗/๒๕๔๓ เรื่อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ กรณีนายโกศล ศรีสังข์ จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ
ศาลมีคำวินิจฉัยไว้ดังนี้
...รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๑๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้คงเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” หมายความว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญเดิม ยังคงความเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญนี้ จึงต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ คือ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ เป็นวันเริ่มต้นการเข้ารับตำแหน่ง..."
เมื่อตรวจดูคำวินิจฉัยส่วนตน แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นต่อประเด็นนี้ต่างกัน แต่ก็จะเข้าใจความหมายของคำวินิจฉัยกลางได้เพิ่มขึ้น กล่าวคือ การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๑๗ บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คงเป็นรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หมายความว่า คณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าวไม่ได้พ้นจากตำแหน่งไปตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ยังคงเป็นคณะรัฐมนตรีต่อไป
แต่เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมไปถึงข้าราชการการเมืองอื่น ๆ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตาม เว้นแต่ที่บทเฉพาะกาลยกเว้นไว้ กรณีการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ตามมาตรา ๒๙๑ และมาตรา ๒๙๒ ได้บัญญัติกำหนดเวลายื่นบัญชีดังกล่าว โดยกรณีเข้ารับตำแหน่ง ให้ยื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง ส่วนกรณีพ้นจากตำแหน่ง ให้ยื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง ปัญหากรณีเข้ารับตำแหน่ง จะให้ใช้วันใดเป็นวันเข้ารับตำแหน่ง ศาลได้วินิจฉัยให้ถือเอาวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นวันเข้ารับตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญนี้
การวินิจฉัยนี้ได้เป็นแนวคำวินิจฉัยต่อ ๆ มา ในคำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๑ กรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัยที่ได้กล่าวถึงในตอนที่แล้ว ก็ได้อ้างถึงแนวคำวินิจฉัยนี้ว่า
...วันที่ได้รับแต่งตั้งตามบทบัญญัติดังกล่าวคือวันใด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีแนวคำวินิจฉัยวางหลักการไว้ว่า การให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ยังคงเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่ง ทั้งนี้ เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๐/๒๕๔๔ เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ วันที่ถือว่าผู้ถูกร้องได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ ประกอบมาตรา ๑๘๗ จึงเป็นวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐...
สำหรับกรณีการใช้บังคับมาตรา ๒๖๔ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๖๔ สิ้นสุดลงเมื่อดำรงตำแหน่งครบ ๘ ปี จะใช้แนวคำวินิจฉัยดังกล่าวมาได้หรือไม่ อาจจะใช้แนวคำวินิจฉัยไม่ได้ เพราะเป็นคนละกรณี แต่ใช้แนวการพิจารณาวินิจฉัยได้ กล่าวคือ การวินิจฉัยดังกล่าว เริ่มต้นจากพิจารณาบทบัญญัติ ซึ่งมีหลักบางประการประกอบ ในที่นี้คือบทบัญญัติที่ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คงเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจากนั้นถึงนำไปใช้ประกอบบทบัญญัติที่เป็นประเด็นปัญหา
เมื่อเรานำแนวการพิจารณานั้นมาใช้กับกรณีประเด็นปัญหาของเราก็จะได้ว่า บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หมายความว่า คณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าว ไม่ได้พ้นจากตำแหน่งไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ ยังคงเป็นคณะรัฐมนตรีอยู่ต่อไป และ "เป็น...ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" หมายความว่า มีที่มาตามที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัติหลัก ซึ่งคือมาตรา ๑๕๘ (กับมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐)
มาตรา ๑๕๘ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง
จะเห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรานี้ มีองค์ประกอบ ๔ ประการ ประการแรก ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ประการที่สอง ได้รับมติเห็นชอบให้เป็นผู้ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากสภาผู้แทนราษฎร (ตามมาตรา ๑๕๙) ยกเว้นในระหว่าง ๕ ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับมติเห็นชอบจะมาจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (ตามมาตรา ๒๗๒) โดยพรรคการเมืองเสนอรายชื่อไว้ล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้ง (ตามมาตรา ๘๘) ประการที่สาม ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และประการที่สี่ ไม่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วแต่ไม่เกิน ๘ ปี
สำหรับนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๖๔ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ก็โดยอนุโลม หมายความว่า ไม่ได้มีองค์ประกอบ ๔ ประการนี้ตามตัวอักษร แต่โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกัน หรือเทียบเคียงกัน
นายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๖๔ เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ มาตรา ๑๙ ซึ่งมีองค์ประกอบคล้ายคลึงกัน ๓ ประการ คือ ประการแรก พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเหมือนกัน ประการที่สอง ทรงแต่งตั้ง ตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภานิติบัญญัติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร (ตามมาตรา ๖ วรรคสอง) จึงเทียบได้กับการที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้เป็นผู้ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ไม่มีการยื่นบัญชีรายชื่อผู้ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ล่วงหน้า ประการที่สาม ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อรัฐธรรมนูญมิได้ยกเว้นมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบเวลาตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ก็หมายความว่า องค์ประกอบของนายกรัฐมนตรีประการที่ ๔ จะดำรงตำแหน่งรวมกันเกินแปดปีมิได้ ก็เป็นส่วนใช้บังคับเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๖๔ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ นั่นเอง และสำหรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ นับจากวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๐ เป็นเวลาเพียง ๒ ปี ๗ เดือน ๑๓ วัน เท่านั้น
ดังนั้น บทบัญญัติที่ว่า "นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้..." คำว่า "ดำรงตำแหน่ง" นี้ เป็นการดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๑๕๘ โดยมีองค์ประกอบ ๔ ประการ และเมื่อนำมาใช้กับมาตรา ๒๖๔ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ นายกรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ย่อมดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ตามมาตรา ๑๕๘ วรรคหนึ่ง
แนวการพิจารณานี้ ยังเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ได้อีกด้วย บทบัญญัติว่าด้วยที่มาของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ คือมาตรา ๑๗๑
มาตรา ๑๗๑ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๑๗๒
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้
ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๒๙๘ ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คงเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ... และมิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๗๑ วรรคสอง มาตรา ๑๗๒ ... มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
นายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๙๘ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ นี้ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๔๙ มาตรา ๑๔ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง... ตรงกับวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๗๑ แต่ในการแต่งตั้งนั้น การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แล้วมิได้ยกเว้นใช้บังคับวรรคสาม แสดงว่า รัฐธรรมนูญถือเอาว่า การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้น ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ได้
ส่วนมาตรา ๑๗๑ วรรคสอง กับมาตรา ๑๗๒ ที่ยกเว้นนั้น คือนายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๔๙ จะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะเดียวกันมิได้ (ตามมาตรา ๑๔ วรรคสี่) และนายกรัฐมนตรีต้องได้รับมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นผู้ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๔๙ ก็มิได้ผ่านการลงมติเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
จะเห็นว่า นายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๙๘ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ก็ "คงเป็น...ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" โดยยกเว้นมาตรา ๑๗๑ วรรคสอง กับมาตรา ๑๗๒ เพื่อมิให้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ส่วนมาตรา ๑๗๑ วรรคสี่ จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้ นั้น เป็นส่วนใช้บังคับเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๔๙
เมื่อคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มาเป็นคณะรัฐมนตรีตามบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ทันทีที่ประกาศใช้ กรณีการใช้บังคับมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ กับการใช้บังคับมาตรา ๑๘๗ มีลักษณะเหมือนกันตรงที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ยกเว้นการใช้บังคับ ซึ่งแสดงว่ารัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นบทบัญญัติที่สำคัญ แต่เมื่อใช้บังคับแล้ว นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียังมาดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรกได้ แต่ต่างกันที่มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ นายกรัฐมนตรีปฏิบัติได้ตามถ้อยคำตามบทบัญญัติ ส่วนมาตรา ๑๘๗ นั้นไม่สามารถเริ่มนับวันเข้ารับตำแหน่งหรือวันได้รับแต่งตั้งซึ่งเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนได้ จึงต้อง “ถือเอาวันที่เข้ารับตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญนี้” หรือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทน
ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ และฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป มีอยู่หลายตำแหน่ง คำวินิจฉัยที่ ๓๖/๒๕๔๒ ได้มีการนำบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการ “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” มาประมวลกัน เพื่อทำความเข้าใจบทบัญญัติที่เป็นปัญหา ซึ่งก็น่าจะนำมาเป็นแนวการพิจารณากรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ โดยเฉพาะการบังคับใช้มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ กล่าวคือรัฐธรรมนูญบัญญัติให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นไว้อย่างไร เราจะไปพิจารณาคำวินิจฉัยนั้นดูในตอนที่ ๓