วันนี้ (3 ก.พ.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้อง นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ , นายภูมิศิษฏ์ คงมี , นางนาที รัชกิจประการ เป็นจำเลยที่ 1-3 เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.7/2565โดยกล่าวหาว่า นายฉลอง จำเลยที่ 1 เป็น ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ส่วนนายภูมิศิษฏ์ จำเลยที่ 2 เป็น ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 1 จ.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย และ นางนาทีจำเลยที่ 3 เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย
จากกรณีเสียบบัตรแทนกันในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 63 เป็นเหตุให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว วาระที่สองและที่สามตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ส.ส. เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการและประชาชน หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 4, 172
โดยวันนี้นายฉลอง นายภูมิศิษฏ์ และนางนาที จำเลยที่ 1-3 เดินทางมาศาล และได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ และนัดพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 19 พ.ค. 65 เวลา 09.30 น.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 64 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้ยื่นร้อง นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ และนายภูมิศิษฏ์ คงมี 2 ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย กระทำผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณีเสียบบัตรแทนกันมา โดยศาลฎีกามีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณาและนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 10 มี.ค. 65 เวลา 10.00 น. เเละสั่งให้นายฉลองและนายภูมิศิษฏ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าจะมีคำพิพากษา
ส่วนนางนาที เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 62 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา คดีที่ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องกล่าวหา นางนาที จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จึงพิพากษาลงโทษห้ามมิให้ นางนาที ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง และลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสองและมาตรา 119
ต่อมานางนาที ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์สินและหนี้สินที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่แสดงในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่ง ได้แก่ ที่ดิน 2 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 2 หลังมูลค่ารวม 2,000,000 บาท และหนี้สินของคู่สมรส 4 รายการรวม 93,039,949 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินจำนวนมากที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงต่อผู้ร้องว่า ไม่ทราบถึงการทำธุรกรรมของคู่สมรสและเป็นความผิดพลาดของเลขานุการนั้น
แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ตระหนักถึงหน้าที่ที่ตนซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้กลไกการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่เกิดประสิทธิผลต่อการตรวจสอบ ข้อแก้ตัวตามอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้อที่ง่ายต่อการกล่าวอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นผิดจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงโทษจำคุกและปรับผู้ถูกกล่าวหาโดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปีเหมาะสมแก่พฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแล้วองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น