มาตรการภาษีตอบโต้ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศใช้กับคู่ค้าราว 60 ประเทศและดินแดน เริ่มมีผลบังคับใช้ในเวลา 00.01 น.ของวันพุธ (9 เมษายน) ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากทรัมป์ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน โดยแต่ละประเทศมีอัตราต่างกัน และจีนได้รับผลกระทบหนักที่สุด
จีนเผชิญอัตราภาษีตอบโต้ครั้งนี้ 34% แต่เนื่องจากจีนไม่ยอมยกเลิกมาตรการภาษีตอบโต้กับสหรัฐฯ ในอัตรา 34% ภายในกำหนดเส้นตายเมื่อวาน แม้ทรัมป์ขู่ขึ้นภาษีเพิ่มอีก 50% ทำให้เมื่อบวกกับภาษีอีก 50% และอัตราภาษีศุลกากร 10% ที่ทรัมป์ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และอีก 10% เมื่อเดือนมีนาคม ทำให้สินค้าจากจีนจะเสียภาษีรวม 104%
นอกจากนี้ทำเนียบขาว ยืนยืนด้วยว่า สินค้าราคาถูกที่ไม่ถึง 800 ดอลลาร์จากจีนและฮ่องกงจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีศุลกากรอีกต่อไปนับจากวันที่ 2 พฤษภาคม ทำให้สินค้าเหล่านี้จะต้องเสียภาษีในอัตรา 30% ของราคาสินค้า หรือ 25 ดอลลาร์ต่อชิ้น และจะเพิ่มเป็น 50 ดอลลาร์ หลังวันที่ 1 มิถุนายน และการเปลี่ยนแปลงนี้จะกระทบต่อแบรนด์สินค้าฟาสต์แฟชั่น เช่น ชีอิน และเทมู
ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วเอเชียพากันปรับตัวลดลงทันทีที่เปิดตลาดตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ และดัชนี TAIEX ของไต้หวันร่วงเกือบ 6% เพียงหนึ่งชั่วโมงหลังภาษีทรัมป์เริ่มบังคับใช้ ส่วนดัชนี 3 ตัวหลักของสหรัฐฯ ปิดตลาดเมื่อวานโดยปรับตัวลดลงเล็กน้อย ท่ามกลางความกังวลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ดุเดือดยิ่งขึ้น หลังจากจีนยืนยันเมื่อวานว่า จะต่อสู้จนถึงที่สุด
นักวิเคราะห์ มองว่า ในขณะที่ยังไม่มีฝ่ายใดยอมลงให้กันก่อนในเวลานี้ ก็เป็นเกมวัดใจว่าใครจะทนรับความเจ็บปวดได้มากกว่ากัน และเป็นความผิดพลาดที่คิดว่า จีนจะยอมอ่อนข้อแล้วยกเลิกการขึ้นภาษีตอบโต้กับสหรัฐฯ เพียงฝ่ายเดียว เพราะจีนก็มีอำนาจต่อรอง
สินค้ามากมายหลายชนิดที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ ล้วนผลิตในจีน และชาวอเมริกันจะต้องแบกรับราคาสินค้าที่แพงขึ้น และยังไมแน่ว่าสหรัฐฯ จะหาแหล่งผลิตอื่นเพื่อทดแทนสินค้าจากจีนได้ในเวลาอันสั้นได้อย่างไร
ในขณะที่จีนเลือกต่อสู้กับสหรัฐฯ แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน หลายประเทศเลือกยื่นข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อเจรจาให้ทรัมป์ลดหรือยกเว้นภาษีอัตราใหม่ และทยอยประกาศมาตรการเพื่อเตรียมรับมือผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และความผันผวนของตลาดโลก
ธนาคารกลางอินเดียปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยลดอีก 0.25% เป็น 6% และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ลดดอกเบี้ย 0.25 % เป็น 3.5% ส่วนธนาคารกลางญี่ปุนกำลังวิเคราะห์ผลกระทบจากการขึ้นภาษีของทรัมป์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์เป็น 25% ที่เริ่มมีผลวันที่ 3 เมษายน และภาษีตอบโต้ล่าสุด เพื่อประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย
ขณะที่นิสสัน ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น เผยกำลังพิจารณาย้ายโรงงานผลิตแห่งหนึ่งจากญี่ปุ่นไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจากเอเชียรายล่าสุดที่เสนอเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ เพื่อหวังบรรเทาผลกระทบจากภาษีอัตราใหม่ของทรัมป์
ส่วนรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศมาตรการฉุกเฉินเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ โดยจะเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินเป็น 15 ล้านล้านวอนในปีนี้ จากเดิมวางแผนไว้ที่ 13 ล้านล้านวอน และจะลดภาษีซื้อรถยนต์เป็น 3.5% จากเดิม 5% จนถึงกลางเดือนมิถุนายน รวมถึงเพิ่มเงินอุดหนุนรถยนต์ฟ้าเป็น 30%-80% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20%-40% และขยายเวลาอีก 6 เดือนจนถึงสิ้นปีนี้