ดีพซีค (DeepSeek) สตาร์ทอัพของจีน ที่ก่อตั้งได้เพียง 1 ปี เปิดให้บริการผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ "ดีพซีค อาร์วัน" (DeepSeek R1) ที่เป็นโอเพนซอร์ส เมื่อวันที่ 20 มกราคม และภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว กลายเป็นแอปพลิเคชันฟรีที่มียอดดาวน์โหลดขึ้นสู่อันดับ 1 ในแอปสโตร์ในสหรัฐฯ แซงหน้าแชตจีพีที ChatGPT) ของบริษัท โอเพนเอไอ (OpenAI) ของสหรัฐฯ แล้วเมื่อวันจันทร์ (27 มกราคม) และยังมียอดดาวน์โหลดมากที่สุดในอีก 51 ประเทศทั่วโลกด้วย
ข่าวนี้ทำให้นักลงทุนแห่เทขายหุ้นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายรายที่อาจทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทเหล่านี้สูญหายไปรวมเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะอินวิเดีย ผู้ผลิตชิปเอไอ รายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลกในปีที่แล้ว ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยราคาหุ้นร่วงไปเกือบ 17% ทำให้มูลค่าตลาดลดลงเกือบ 600,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในวันเดียวเท่าที่เคยเกิดขึ้นในตลาดสหรัฐฯ
ความผันผวนในตลาดเป็นเพราะความวิตกของนักลงทุนว่า สมาร์ทอัพ ดีพซีค ของจีน จะสั่นคลอนความเป็นผู้นำตลาดของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ หลังจากสามารถผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว ด้วยการพัฒนาโมเดลเอไอ “ดีพซีค อาร์วัน” ที่ใช้ต้นทุนต่ำเพียง 5.6 ล้านดอลลาร์ แต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าแชตบอตยอดนิยมอย่าง แชตจีพีที ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ใช้เงินมากถึงหลายพันล้านดอลลาร์พัฒนาเทคโนโลยีเอไอของตัวเอง
ยิ่งกว่านั้นความสำเร็จของสตาร์ทอัพเล็ก ๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จัก สร้างความประหลาดใจอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่สหรัฐฯ พยายามจำกัดไม่ให้บริษัทจีนเข้าถึงชิปเอไอคุณภาพสูงด้วยความกังวลเรื่องความมั่นคงของชาติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม กล่าวด้วยว่า การเปิดตัวเอไอ ดีพซีค ของบริษัทจีนควรเป็นเสียงปลุกให้อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ตื่นตัวและมุ่งพัฒนาศักยภาพการแข่งขันเพื่อให้ประสบชัยชนะ และหากบริษัทจีนพัฒนาเทคโนโลยีเอไอด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า บริษัทสหรัฐฯ ก็ต้องทำได้ และใช้ต้นทุนให้น้อยลงเช่นกัน
ขณะที่มาร์ค แอนเดรสเซน นักลงทุนที่ให้คำแนะนำทรัมป์เรื่องนโยบายเทคโนโลยี เปรียบเทียบว่า ดีพซีค อาร์วัน เป็นสปุตนิก โมเมนต์ (Sputnik Moment) ของวงการปัญญาประดิษฐ์ โดยหมายถึงความสำเร็จของการปล่อยดาวเทียมสปุตนิก ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ การเเข่งขันกันทางอวกาศระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ