"จิมมี่ คาร์เตอร์" ประธานาธิบดีคนที่ 39 ของสหรัฐฯ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันอาทิตย์ ในเวลาประมาณ 15.40 น. ตามเวลาฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ โดยชิป คาร์เตอร์ บุตรชายวัย 74 ปี ของเขา ระบุในแถลงการณ์ว่า..
"คุณพ่อของผมเป็นวีรบุรุษ ไม่เพียงสำหรับผม แต่สำหรับทุกคนที่เชื่อในสันติภาพ สิทธิมนุษยชนและความรักที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว
พี่น้องของผมและผมขอแบ่งปันท่านใหักับทุกคนบนโลกผ่านความเชื่อที่มีร่วมกันเหล่านี้ โลกคือครอบครัวของเรา เพราะหนทางที่ท่านนำทุกคนมาอยู่ร่วมกัน และเราขอขอบคุณทุกคนที่ให้เกียรติแก่ความทรงจำของท่าน ด้วยการเดินหน้าทำให้ความเชื่อที่เรามีร่วมกันเหล่านี้คงอยู่ต่อไป"
จิมมี่ คาร์เตอร์ ได้รับการจดจำในฐานะ "อดีตเกษตรกรปลูกถั่งลิงสง" จากพรรคโมแครต ที่เคยเป็นผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย ก่อนก้าวเข้าสู่ทำเนียบขาว หลังชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2519 โดยชนะคู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน คือ อดีตประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด มาได้อย่างเฉียดฉิว และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 1 สมัย ระหว่างปี 2520 ถึงปี 2524 และอุทิศชีวิตที่เหลือให้กับการกุศล
ผลงานเด่นของอดีตคาร์เตอร์ ที่หลายคนจำได้คือ การเป็นตัวกลางเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพแคมป์เดวิดระหว่างอียิปต์และอิสราเอลในปี 2522 แต่ก่อนจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2523 ผลงานของเขาเริ่มไม่ค่อยถูกใจชาวอเมริกันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อและอัตราว่างงานพุ่งสูงที่ล้วนมีผลให้เขาต้องพ่ายแพ้ให้กับอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน นักแสดงชื่อดังจากพรรครีพับลีกันในที่สุด
แต่หลังอำลาตำแหน่ง บทบาทของคาร์เตอร์ ยังคงปรากฏในสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของศูนย์คาร์เตอร์ (Carter Center) ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรที่ทำงานในระดับโลก และมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ การเลือกตั้งกว่า 100 ครั้ง และช่วยเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่กรณีปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือในปี 2537 ไปจนถึงการทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างอูกันดากับซูดานในปี 2542 รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนโครงการพัฒนาบริการสาธารณสุขและกำจัดโรคต่างๆ ในพื้นที่ยากจนที่สุดในโลกหลายแห่ง
ในปี 2552 คาร์เตอร์ในวัย 85 ปี ได้เปิดตัวแคมเปญสร้างหรือซ่อมแซมบ้าน (Habitat for Humanity) จำนวน 166 หลัง ให้แก่ 5 ประเทศ แถบลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา จีน ลาว ไทย และเวียดนาม ระหว่างวันที่ 15-20 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน และเขาได้เดินทางไปยัง 5 ประเทศ และลงมือทำงานด้วยตัวเอง โดยมีอาสาสมัครหลายพันคน และโปรเจ็คในประเทศไทย คือ จังหวัดเชียงใหม่
ในปี 2545 คาร์เตอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากการทำงานช่วยเหลือมนุษยชาติมาตลอด เขายังรอดชีวิตจากการป่วยเป็นโรคมะเร็งในสมองในปี 2558 ก่อนที่สุขภาพจะเริ่มย่ำแย่ลงในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในช่วงเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ในเมืองเพลนส์ รัฐจอร์เจีย ก่อนถูกย้ายไปรับการดูแลที่สถานบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้าย (hospice) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 จนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต
ในฐานะอดีตผู้ครองทำเนียบขาว คาร์เตอร์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีอายุยืนยาวที่สุด และมีชีวิตสมรสนานที่สุดถึง 76 ปี กับอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 "โรซาลินน์ สมิธ" ซึ่งโรซาลีน ได้จากไปก่อนเมื่อวันทื่ 19 พฤศจิกายน ปี 2566 ขณะมีวัย 96 ปี