องค์การบริหารการบินและอวกาศของสหรัฐฯ หรือ นาซา แถลงว่า ได้รับสัญญาณจากยานสำรวจ ปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ เมื่อก่อนเที่ยงคืนวันพฤหัสบดี (26 พฤษภาคม) หลังจากยานขาดการติดต่อหลายวันช่วงการโคจรเข้าไปในชั้นบรรยากาศภายนอกของดวงอาทิตย์ท่ามกลางความร้อนสูงแผดเผา
นาซา ยืนยันว่า ยานสำรวจยังปลอดภัย และทำงานได้ตามปกติ หลังจากโคจรเข้าใกล้พื้นผิวดวงอาทิตย์ในระยะ 3.8 ล้านไมล์ หรือ 6.1 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด
ยานสำรวจเคลื่อนที่ฝ่าบรรยากาศชั้นนอกสุด หรือ โคโรนา ของดวงอาทิตย์ ด้วยความเร็วสูงถึง 430,000 ไมล์/ชั่วโมง หรือ 692,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง สร้างประวัติศาสตร์เป็นวัตถุที่เคลื่อนที่ได้เร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา และด้วยความเร็วดังกล่าว ทำให้ยานฝ่าความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,800 องศาฟาเรนไฮด์ หรือ 980 องศาเซลเซียส
ยานปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี 2561 มุ่งหน้าสู่ใจกลางของระบบสุริยะ โดยโคจรผ่านดวงอาทิตย์ถึง 21 ครั้ง และแต่ละครั้งเข้าใกล้พื้นผิวดวงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น
ยานถูกสร้างให้ทนอุณหภูมิได้ถึง 1,400 องศาเซลเซียส และได้รับการปกป้องผิวภายนอกด้วยสารประกอบคาร์บอนหนา 11.5 ซม. แต่ยานเลือกใช้วิธีเข้าออกชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ด้วยความรวดเร็วอย่างที่สุด
ยานมีภารกิจรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์และลมสุริยะ ซึ่งจะทำให้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับกิจกรรมของดวงอาทิตย์และผลกระทบต่อระบบสุริยะ
แฟ้มภาพ ภาพวาดในปี 2561 จำลองยานปาร์คเกอร์ โซลาร์ โพรบ ขณะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์