ฮัน ดอง ฮุน หัวหน้าพรรคพลังประชาชน หรือ พีพีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล แถลงในวันศุกร์ (6 ธันวาคม) ว่า เขาเพิ่งรู้เมื่อคืนว่า ประธานาธิบดียุน ซอก ยอล สั่งการให้ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทหารจับกุมผู้นำพรรคการเมืองหลายคน ในช่วงหลังประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อคืนวันอังคาร โดยอ้างว่าเป็นพวกต่อต้านรัฐ และเดิมเขาเคยบอกว่า จะพยายามหยุดยั้งไม่ให้ญัตติถอดถอนประธานาธิบดีผ่านความเห็นชอบในรัฐสภา เพื่อหลีกเลี่ยงความโกลาหลในประเทศ แต่จากข้อมูลใหม่นี้ ทำให้เขาเห็นว่า เพื่อปกป้องเกาหลีใต้และประชาชน จึงจำเป็นต้องหยุดยั้งไม่ให้ประธานาธิบดีใช้อำนาจได้อีกโดยทันที
นายฮัน บอกด้วยว่า ประธานาธิบดียุนไม่ยอมรับว่าการประกาศฎอัยการศึกเป็นการกระทำที่ผิดและผิดกฎหมาย จึงมีความเสี่ยงอย่างมีนัยยะสำคัญที่เขาอาจดำเนินมาตรการสุดโต่งทำนองเดียวกันอีกครั้ง หากยังอยู่ในตำแหน่ง
สื่อรายงานว่า ฮอง จาง-วอน รองผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ รายงานต่อประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของรัฐสภาในวันศุกร์ว่า ประธานาธิบดียุนโทรศัพท์หาเขาในคืนวันอังคาร และสั่งให้จับกุมสมาชิกรัฐสภาคนสำคัญหลายคน รวมถึง นายฮัน หัวหน้าพรรครัฐบาล และนายอี แจ มยอง หัวหน้าพรรคประชาธิปไตย หรือ ดีพี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก แต่ทำเนียบประธานาธิบดีปฏิเสธว่า นายยุนไม่ได้มีคำสั่งดังกล่าว
เกาหลีใต้ตกอยู่ภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึกนานเกือบ 6 ชม. หลังประธานาธิบดียุนประกาศคำสั่งงทางโทรทัศน์ โดยอ้างว่า มีภัยคุกคามจากพวกต่อต้านรัฐและพวกฝักใฝ่เกาหลีเหนือ แต่สมาชิกสภาลงมติคว่ำคำสั่งดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ทำให้เขาต้องยอมยกเลิกคำสั่งในเช้ามืดวันพุธ
ปัจจุบันนายยุนกำลังถูกสอบสวนข้อหาทรยศชาติ จากการประกาศกฎอัยการศึกที่ถูกมองว่า ผิดกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ โดยคิม ยอง ฮยอน รัฐมนตรีกลาโหมที่ถูกระบุว่า เป็นคนเสนอให้ยุนประกาศกฎอัยการศึก, ปัก อัน-ซู ประธานเสนาธิการทหาร และอี ซาง มิน รัฐมนตรีมหาดไทย ถูกสอบสวนข้อหาเดียวกันด้วย
ขณะที่พรรคดีพีเรียกร้องให้รัฐสภาลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุนในค่ำวันเสาร์นี้ แต่ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากพรรครัฐบาลอย่างน้อย 8 เสียง จึงจะมีเสียงมากพอถึง 2 ใน 3 จากทั้งหมด 300 เสียง ที่จะผ่านความเห็นชอบได้ และนักวิเคราะห์มองว่า ถ้อยแถลงของหัวหน้าพรรครัฐบาลล่าสุดอาจส่งสัญญาณว่าเขาสนับสนุนญัตติถอดถอนนายยุน
และหากญัตติผ่านสภาได้สำเร็จ นายกรัฐมนตรีฮัน ดัก ซู จะปฏิบัติหน้าที่แทนประธานาธิบดีชั่วคราว ระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับรองการถอดถอนหรือไม่ ซึ่งหากผู้พิพากษา 6 คนจาก 9 คน รับรอง จะมีผลให้ประธานาธิบดีพ้นตำแหน่ง แต่ปัจจุบันตำแหน่งผู้พิพากษาว่างลง 3 ตำแหน่ง ทำให้ต้องได้รับเสียงเอกฉันท์ 6 เสียง จึงจะถอดถอนนายยุนได้
ขณะที่ชาวเกาหลีใต้หลายหมื่นคนเตรียมเดินขบวนในวันเสาร์เพื่อเรียกร้องให้นายยุนลาออก หรือถูกถอดถอนพ้นตำแหน่ง และแกลลัพโพลที่เผยแพร่ในวันศุกร์ พบว่า คะแนนนิยมของนายยุนดิ่งลงอีกเหลือเพียง 13% จากเดิม 19% ช่วงก่อนประกาศกฎอัยการศึก