ประธานาธิบดียุน ซอก ยอล ของเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนวันอังคาร โดยกล่าวหาว่า ฝ่ายค้านกระทำสิ่งที่เป็นการต่อต้านรัฐจากการวางแผนก่อกบฏ และการบังคับใช้กฎอัยการศึกมีจุดประสงค์เพื่อกำจัดกองกำลังที่ฝักใฝ่เกาหลีเหนือ และปกป้องเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ
แต่การตัดสินใจของเขาถูกประณามว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ว่า จะประกาศกฎอัยการศึกได้ เฉพาะในกรณีฉุกเฉินระดับชาติที่รุนแรง เช่น ในช่วงสงคราม, เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด หรือมีความจำเป็นทางทหาร ซึ่งเห็นได้ชัดว่า สถานการณ์ในเกาหลีใต้ไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์เหล่านั้น
กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ แสดงความกังวลอย่างมากต่อการประกาศกฎอัยการศึก แต่ไม่ได้วิจารณ์การตัดสินใจของนายยุน นอกจากแสดงความหวังว่าความขัดแย้งทางการเมืองใด ๆ จะคลี่คลายได้อย่างสันติและเป็นไปตามหลักนิติธรรม
และหลังจากประธานาธิบดียุนยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก เมื่อสมัชชาแห่งชาติ หรือรัฐสภาของเกาหลีใต้ลงมติให้ยกเลิกกฎอัยการศึก โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แสดงความโล่งอก และบอกด้วยว่า ประชาธิปไตยเป็นรากฐานของพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้
เกาหลีใต้เป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ และเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของเอเชีย และวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดความวิตกในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งมีเกาหลีใต้เป็นเหมือนกันชน ในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ จีน และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ ของเกาหลีเหนือกับรัสเซีย ถ้าเกาหลีใต้ไร้เสถียรภาพ ก็จะเป็นผลร้ายต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในการส่งเสริมหมุดหมาย "สถาปัตยกรรมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ"
ในขณะที่มีความไม่แน่นอนอยู่แล้วว่า การกลับคืนสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลอย่างไรต่อความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสองประเทศ เนื่องจากทรัมป์วิจารณ์มาตลอดเรื่องค่าใช้จ่ายของการประจำการทหารสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้
นักวิเคราะห์ มองว่า การกระทำของยุนทำให้เกิดคำถามเรื่องความเชื่อถือไว้ใจได้และการคาดเดาได้ของเกาหลีใต้ในฐานะชาติพันธมิตรและหุ้นส่วน ในสายตาของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น
และความยุ่งเหยิงทางการเมืองในเกาหลีใต้อาจเข้าทาง คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่มักถากถางเรื่องประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ทุกครั้งที่เกิดความวุ่นวาย และพยายามสร้างความได้เปรียบ
นอกจากนี้สถานการณ์ในเกาหลีใต้ที่มีแนวโน้มอาจนำไปสู่การเปลี่ยนตัวผู้นำท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้นายยุนลาออก และการเคลื่อนไหวถอดถอนเขาพ้นตำแหน่ง ก็ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากทั้งจีนและรัสเซีย ซึ่งไม่พอใจมานานแล้วกับการมีทหารสหรัฐฯ มากถึงเกือบ 30,000 นาย ประจำการในเกาหลีใต้
ประธานาธิบดียุนมีจุดยืนแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือมากกว่าผู้นำเกาหลีใต้คนอื่น ๆ ที่ผ่านมา และเขาเพิ่งประกาศว่า การที่เกาหลีเหนือส่งทหารไปช่วยรัสเซียในสงครามยูเครน อาจทำให้เกาหลีใต้ปรับเปลี่ยนระดับการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยจัดส่งอาวุธร้ายแรงให้ยูเครน
นักวิเคราะห์จึงมองว่า สถานการณ์ในเกาหลีใต้ส่งผลกระทบถึงเวทีระหว่างประเทศ และความร่วมมือระหว่างเกาหลีใต้และชาติพันธมิตร จึงไม่ควรถูกขัดขวางด้วยความแตกแยกภายในเกาหลีใต้