svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

นายกฯ ญี่ปุ่น ยันอยู่ในตำแหน่งต่อ แม้ผลเลือกตั้งแย่สุดใน 15 ปี

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น ยอมรับการลงโทษจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ยืนยันดำรงตำแหน่งต่อไป หลังพรรครัฐบาลสูญเสียเสียงข้างมากในสภา

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ แถลงในวันจันทร์ (28 ตุลาคม) ว่า ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอาทิตย์ พรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ แอลดีพี ได้รับคำตัดสินขั้นรุนแรงอย่างสูงสุดจากประชาชน และยอมรับว่า ปัจจัยใหญ่ที่สุดสำหรับผลเลือกตั้งที่ออกมา คือ ความสงสัย ความไม่ไว้ใจ และความโกรธแค้นของประชาชนต่อปัญหาอื้อฉาวเกี่ยวกับเงินสนับสนุนพรรค และให้คำมั่นว่าจะดำเนินการปฏิรูปเรื่องเงินและการเมือง และปฏิรูปพรรคแอลดีพี

ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคแอลดีพีได้รับเลือกตั้งเพียง 191 ที่นั่ง จากทั้งหมด 465 ที่นั่งในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ โดยลดลงจากจำนวน สส. ที่มีอยู่ 247 ที่นั่ง และพรรคโคเมโตะ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้ที่นั่งลดลงเหลือ 24 ที่นั่ง และสองพรรคมี สส. รวมกัน 215 เสียง ซึ่งไม่ถึง 233 เสียง ทำให้สูญเสียเสียงข้างมากในสภา ขณะที่พรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย หรือ ซีดีพี ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดได้ 148 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 98 ที่นั่ง

ผลเลือกตั้งที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 15 ปี ทำให้แอลดีพีจำเป็นต้องหาพรรคที่ 3 เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อให้มีเสถียรภาพ

นายกฯ ญี่ปุ่น ยันอยู่ในตำแหน่งต่อ แม้ผลเลือกตั้งแย่สุดใน 15 ปี

นายกรัฐมนตรีอิชิบะ ยืนยันจะไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และไม่ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง แต่ยังไม่แสวงหาพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่ม โดยจะพยายามตกลงผสมผสานนโยบายกับพรรคฝ่ายค้าน ขณะที่พรรคซีดีพี เตรียมหาทางจับมือกับพรรคอื่น ๆ ในซีกฝ่ายค้าน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลแข่งกัน

สภาผู้แทนราษฎรจะต้องเรียกประชุมวาระพิเศษภายใน 30 วัน หลังการเลือกตั้งเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดิมอิชิบะ คาดว่า จะเรียกประชุมสภาในวันที่ 7 พฤศจิกายน  แต่คาดว่าจะเลื่อนออกไปจนกว่าจะสามารถแสวงหาเสียงสนับสนุนรับรองนายกรัฐมนตรีได้มากพอ

แต่ยังไม่แน่ชัดว่า นายกรัฐมนตรีอิชิบะ วัย 67 ปี ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม และเสี่ยงเดิมพันจัดการเลือกตั้งทั่วไปเร็วขึ้น 1 ปี เพื่อขอฉันทามติจากประชาชน จะยังสามารถรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ได้หรือไม่

ผลเอ็กซิตโพลของเกียวโด นิวส์ ระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากถึง 74% บอกว่า พิจารณาเรื่องเงินอื้อฉาวในพรรคแอลดีพีในการตัดสินใจลงคะแนน และแม้แต่ผู้สนับสนุนแอลดีพีมากถึง 68% ก็บอกว่า เรื่องเงินอื้อฉาวมีผลต่อการตัดสินใจในการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้